เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมื่อคุณและคนรักต่างตกลงใจกันว่า "เอาล่ะ ถึงเวลาสักทีที่จะต้องสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ครบทั้งพ่อแม่ลูก" นี่เป็นเรื่องที่วิเศษที่สุดเลยค่ะ ที่คนรักคู่หนึ่งพร้อมแล้วสำหรับการเป็นพ่อแม่ดูแลใครสักคน หากตกลงใจว่าจะรับเทวดานางฟ้าน้อย ๆ มาอยู่ด้วยกัน ก็ต้องเริ่มเตรียมตัวกันให้ดีล่ะ ใคร ๆ ก็อยากให้การถือกำเนิดของเจ้าตัวน้อยนั้นราบรื่นไร้ปัญหาใช่ไหมล่ะคะ โดยเฉพาะคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ยิ่งต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษเลยล่ะค่ะ ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรที่ว่าที่คุณแม่ควรจะได้ทำ เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อยบ้าง
1.ชั่งน้ำหนัก
ก้าวขึ้นตาชั่งเพื่อเช็คดูน้ำหนักของคุณเสียหน่อย ว่าอยู่ในระดับปกติที่น่าพึงพอใจหรือไม่ เพราะน้ำหนักที่น้อยเกินไปก็ส่งผลถึงภาวะการทำงานของมดลูก ส่วนน้ำหนักที่มากเกินไปก็ทำให้คุณอ้วนอุ้ยอ้าย รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวในช่วงที่ตั้งครรภ์ ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะความดันสูงและโรคเบาหวานอีกต่างหาก แต่อย่างไรก็ดีคุณแม่ไม่ควรลดน้ำหนักระหว่างการตั้งครรภ์เด็ดขาดนะคะ ด้วยเหตุผลนี้หากคุณวางแผนว่ากำลังจะตั้งครรภ์ล่ะก็ ควรจะเพิ่มหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับเกณฑ์ปกติเสียก่อน ทั้งเพื่อประโยชน์ของตัวคุณแม่และลูกน้อยของคุณด้วย
2.เว้นบุหรี่และแอลกอฮอล์
เรื่องแบบนี้ต่อให้คนที่ไม่ได้คิดจะตั้งครรภ์ก็ยังรู้ดีว่า การสูบบุหรี่และดื่มเหล้า-เบียร์ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ส่งผลเสียต่อเด็กในท้อง ทำให้เจ้าหนูมีความเสี่ยงในปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจมากขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องงดเหล้าหย่าบุหรี่แบบหักดิบในช่วงตั้งครรภ์ ก็มาเริ่มลดและงดเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยค่ะ (ยิ่งถ้ามีเรื่องลูกเป็นแรงขับดันด้วยแล้ว เชื่อว่าคุณสามารถทำได้แน่นอน) นอกจากนี้ก็อย่าลืมชวนคุณพ่อให้ลดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนะคะ เพราะว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลให้ปริมาณอสุจิลดลงด้วยนะ
3.งดคาเฟอีน
การงดคาเฟอีนนั้นไม่ใช่เฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง ชา และน้ำอัดลมด้วย แม้ยังไม่มีผลการยืนยันแน่ชัดว่าคาเฟอีนปริมาณมากเท่าไหร่จึงจะส่งผลต่อการมีครรภ์ แต่การบริโภคให้น้อยเข้าไว้ ไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม ก็จะปลอดภัยที่สุด
4.สำรวจการกินยาของตัวเอง
ยาบางชนิดสามารถรับประทานได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่บางชนิดก็ห้ามเด็ดขาด เพราะฉะนั้นคุณจึงจำเป็นต้องสำรวจการทานยารวมทั้งอาหารเสริมของคุณให้ดี และปรึกษาแพทย์ว่ายาชนิดใดที่รับประทานต่อได้ และยาชนิดใดที่ควรงด
5.เพิ่มระดับกรดโฟลิกให้ตัวเอง
กรดโฟลิก ช่วยในการก่อตัวและพัฒนากระดูกสันหลังของทารกเป็นอันมาก ในระยะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องการกรดโฟลิกถึงวันละ 600 ไมโครกรัม ส่วนในระยะเตรียมตัวตั้งครรภ์ก็ยังควรได้รับวันละ 400 ไมโครกรัมเลยทีเดียว ซึ่งกรดโฟลิกนี้พบได้มากในผักใบเขียว ผักขม ซีเรียลต่าง ๆ แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงสามารพึ่งอาหารเสริมได้เช่นกันค่ะ
6.พบทันตแพทย์
นอกจากจะพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือนแล้ว หากวางแผนคิดจะมีน้อง คุณจำเป็นต้องไปพบเพื่อตรวจเช็คสภาพและทำฟันอย่างละเอียด เนื่องจากสภาพฟันที่ไม่ดีอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย กลายเป็นเรื่องความสะอาดภายในช่องปากที่ส่งผลถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อตอนนี้ยังมีเวลา นัดทันตแพทย์ของคุณแล้วทำฟันรอไว้ได้เลยค่ะ
7.ตระเวนสำรวจสถานที่สำหรับฝากครรภ์
ในยามที่วางแผนจะมีน้อง คุณและสามีควรตระเวนดูโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์ไว้หลาย ๆ แห่ง เน้นที่เดินทางสะดวกก็จะดีมาก ทั้งนี้ก็เพื่อเลือกสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับคุณและลูก หรือจะเลือกจากกุมารแพทย์ที่คุณไว้วางใจ แล้วไปฝากครรภ์กับคุณหมอท่านนั้นก็ได้ค่ะ
8.คำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
เมื่อจะมีเจ้าตัวน้อยเพิ่มมาสักคน ค่าใช้ก็พอกพูนมาไม่ใช่น้อย ๆ เลย ไหนจะค่าตรวจสุขภาพ ค่าฝากครรภ์ ค่าอาหารเสริม ยาบำรุง ชุดสำหรับคนท้อง หรือคิดเผื่อไว้ยาว ๆ เช่น ค่าเตียง ค่าห้อง ค่าหมอทำคลอด ค่าเสื้อผ้า นมของลูก ฯลฯ แล้วลองคำนวณดูว่าคุณต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้มากเท่าไหร่ เพื่อที่จะเตรียมต้อนรับเขามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวได้
9.ศึกษาเรื่องวัคซีน
เช็คดูว่ามีวัคซีนตัวใดที่คุณควรได้รับก่อนการตั้งครรภ์ และตัวใดที่ต้องหลีกเลี่ยงหากอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ โดยวัคซีนที่ได้มาจากเชื้อซึ่งตายแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันโรคหวัด สามารถรับได้แม้ในขณะตั้งครรภ์ แต่วัคซีนที่ได้จากเชื้อซึ่งยังมีชีวิต เช่น วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ไม่ควรรับขณะตั้งครรภ์ อย่าลืมศึกษาข้อมูลกันไว้ให้ดีนะคะ
10.พิจารณาการเข้ารับการตรวจยีน
หากในตระกูลของคุณสืบพบการเป็นโรคซึ่งติดต่อทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน คุณก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทางพันธุกรรมโดยเฉพาะ เพื่อดูว่าตัวเองเป็นโรคติดต่อพันธุกรรมใด ๆ หรือเป็นพาหะของโรคหรือไม่ รวมทั้งจูงมือคุณพ่อไปตรวจพร้อม ๆ กันด้วยนะคะ จะได้สำรวจความเสี่ยงในการเป็นโรคของลูกน้อย หากไม่เป็นอะไร ก็เบาใจลงหลายเท่าเลยล่ะค่ะ
11.แพ็คกระเป๋าไปเที่ยว
เคยวางแผนว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน แต่ยังไม่ได้ไปสักที โดยเฉพาะทริปโรแมนติกสำหรับคู่รัก ตอนนี้แหละเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมเลย เพราะหลังจากนี้หากท้องโตแล้ว อย่าว่าแต่เที่ยวเลยค่ะ แค่เดินเหินไปมาเฉย ๆ ยังลำบาก และถ้ารอหลังคลอด คุณก็คงไม่สะดวกที่จะเดินทางพร้อมลูกอ่อน ลูกโตอีกนิดก็ต้องนึกถึงที่นั่งเสริมสำหรับเด็กในรถยนต์ รถเข็นเด็ก นมและอาหารของลูก ส่วนจะรอลูกโตเป็นวัยรุ่น ถึงตอนนั้นคุณก็อาจจะแก่เกินไป หรือไม่ก็หาเวลาส่วนตัวแบบสองต่อสองได้ยากแล้วล่ะค่ะ
12.อยากทำอะไรให้เอ็กซ์ตรีมสุด ๆ ก็ลงมือเลย
หากใฝ่ฝันจะเล่นกีฬาที่หวาดเสียวตื่นเต้น อย่างกระโดดบันจี้จัมพ์ สกีน้ำ กระโดดร่ม หรืออาจจะเป็นกีฬาไม่หนักแต่มีกระทบกระแทกแรง อย่างขี่ม้า ก็ให้ลงมือเล่นซะตอนนี้เลยค่ะ ด้วยเหตุผลเดียวกับการออกทริปเที่ยวนั่นเอง อย่าหวังว่าจะได้ทำตอนท้อง และถ้ารอลูกโตคุณอาจจะแก่เกินไปแล้วก็ได้
13.ทำผมซะให้พอใจ
ก่อนจะมีเจ้าตัวน้อย ว่าที่คุณแม่ควรไปทำผมเสียให้พอใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำสีหรือว่าทำไฮไลท์ เพราะหากคุณตั้งครรภ์แล้ว เรื่องการทำสีผมเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากสารเคมีในน้ำยาทำสีผม สามารถเป็นอันตรายกับลูกน้อยได้ค่ะ
14.ทาสีห้องใหม่
หากมีแผนจะทาสีห้องใหม่ หรือแม้แต่การทาสีเฟอร์นิเจอร์ ก็สมควรทำเสียตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะสารเคมีบางอย่างในสีมีผลถึงการตั้งครรภ์ของคุณได้ ส่วนในระหว่างการตั้งครรภ์ หากภายในบ้านของคุณมีการทำสีอะไรใหม่ ก็ต้องใช้สีที่ปราศจากสารเคมีเป็นพิษ (non toxic) ด้วย (แต่หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะมีการทาสี หรือใช้น้ำยาเคมีใด ๆ เด็ดขาดเลยค่ะ)
15.เก็บกระบะถ่ายของเจ้าเหมียวเป็นครั้งสุดท้าย
เก็บกวาดกระบะสำหรับขับถ่ายของเจ้าเหมียวเป็นครั้งสุดท้าย ถือว่าเป็นการอำลาก่อนที่จะมอบหน้าที่ให้คุณสามี หรือว่าคนอื่น ๆ ในบ้านทำต่อไป เพราะในอุจจาระของเจ้าเหมียวนั้นมีปรสิตซึ่งอาจนำโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) มาสู่คุณได้ และติดไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ
ลองทำรายการมานั่งเช็คคร่าว ๆ ดูตามนี้ได้เลยนะคะ แล้วก็ขอให้ว่าที่คุณแม่คนสวยอย่างคุณ และคุณพ่อคนเก่ง ได้สมาชิกตัวน้อยที่สมบูรณ์แข็งแรงมาเติมเต็มครอบครัวกันให้สมหวังดังใจกันเลยนะจ๊ะ