เมื่อลูกเกลียดเพื่อน ควรทำอย่างไร?

แม่และเด็ก

หนูเกลียดเพื่อน (รักลูก)
เรื่อง : สิริพร

        หากจู่ ๆ เจ้าหนูของเรามาบอกว่า "หนูเกลียดเพื่อน" คุณแม่จะทำอย่างไรดีคะ...

        ปัญหานี้มักพบได้บ่อยในลูกวัยอนุบาลเลยล่ะ ซึ่งก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจความเกลียดของลูกให้ดีเสียก่อน อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ใส่ใจ หรือเห็นว่าเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยนะคะ

เกลียดของหนู?

        คำว่า "เกลียด" ของลูก จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้มีความหมายตามนั้นก็ได้นะคะ เพราะในวัยนี้ยังไม่เข้าใจถึงความหมายของคำศัพท์ที่ได้ยินในชีวิตประจำวันมากนัก แต่จะเรียนรู้จากการเลียนแบบสิ่งที่เห็น หรือจากคนใกล้ตัว จนอาจติดคำนี้มาใช้แบบเข้าใจผิดได้

        ซึ่งอาจมีที่มาจากพัฒนาการตามวัยของลูก 3 ข้อนี้ด้วยค่ะ

        1.เป็นเพราะอารมณ์ของหนู บางครั้งก็อาจไม่ได้เป็นเพราะเพื่อนของลูกอย่างเดียวที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเกลียด แต่ด้วยอารมณ์ที่อ่อนไหวง่ายกับคนรอบข้าง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่พอใจคนอื่นได้ง่ายเช่นกันค่ะ ซึ่งบางคนจะมีอาการแค้นฝังใจ ไม่หายง่าย ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสังเกตว่าลูกบอกความรู้สึกตรงกับสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ลูกเจาะจงกับเพื่อนคนไหนเป็นพิเศษไหม เพื่อจะได้มาสะท้อนอารมณ์ของลูกอีกทีค่ะ

        2.ไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่น บางทีลูกอาจเป็นเด็กที่มองไม่ออก หรือแยกแยะไม่ออกว่าเพื่อนแค่อยากมาเล่นด้วย หรือเพื่อนตั้งใจมาแกล้ง คุณแม่อาจต้องฝึกลูกให้รู้จักการจัดการ เมื่อเจอสถานการณ์ที่มีเพื่อนเข้ามาเล่นด้วย เช่น ลองถามเพื่อนก่อนดีไหมคะลูก ว่าเพื่อนอยากเล่นกับเราไหม ถ้าอยากเล่นด้วยกันก็ต้องไม่แกล้งกัน หากเขายังรู้สึกว่าเพื่อนแกล้งอยู่ คุณแม่ก็ต้องทบทวนกับลูกก่อนว่าลูกอาจเข้าใจผิดนะ สิ่งนี้ถือเป็นทักษะทางสังคมที่ลูกต้องฝึกฝนค่ะ เพราะหากต้องอยู่ในสังคม ได้เจอคนหลากหลาย การแสดงออกของแต่ละคนก็แตกต่างกัน หากจะลดปัญหาความขัดข้องหมองใจ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่เห็นภายนอกเป็นอันดับแรก ก่อนตัดสินการกระทำของใครว่าดี หรือไม่ดี

        3.พัฒนาการภาษาล่าช้า ถ้าลูกมีปัญหาการพูด หรือการสื่อสาร เช่น ต่อรองกับเพื่อนไม่ค่อยเก่ง ก็อาจจะรู้สึกคับข้องใจได้ หากมีความเห็นไม่ตรงกับเพื่อน ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนลูกได้ เช่น เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ให้ได้พูดคุยกับคนในบ้านมากที่สุด นอกจากจะช่วยให้พัฒนาการทางภาษาของลูกดีขึ้น ยังทำให้เขากล้าจะต่อรองกับเพื่อน ด้วยการคุยกัน แทนการระบายออกด้วยการทำร้ายร่างกายกันค่ะ

        4.กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง บางคนเกลียดเพื่อน เพราะเพื่อนไม่เล่นด้วย หากเป็นกรณีนี้อาจเป็นเพราะปัญหาทางกายภาพ หรือกล้ามเนื้อของลูกไม่แข็งแรงก็ได้ เช่น กิจกรรมที่เล่นเป็นกลุ่มที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ ลูกก็อาจเล่นไม่ทันเพื่อน เพื่อนก็ไม่อยากให้เข้ากลุ่ม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเพื่อนไม่ชอบ เขาก็เลยไม่ชอบเพื่อนกลับบ้าง

รับมือ...ลูกเกลียดเพื่อน

        1.รับฟังลูกก่อนเสมอ หากเขามีปัญหาแล้วมาเล่าให้ฟัง คุณพ่อคุณแม่จะต้องรับฟังลูกก่อน เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกวางใจ หากเขาเล่าให้เราฟังโดยเจาะจงถึงเพื่อนคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า หากลูกบอกก็ค่อยถามลงในรายละเอียด แล้วอธิบายให้เขาเข้าใจแบบกลาง ๆ โดยไม่โทษใครว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อให้เขาได้ลองคิดตาม และมีโอกาสเสนอแนวทางแก้ไขในแบบของเขาเองด้วยค่ะ

        2.รับมือร่วมกับคุณครู ระหว่างวันที่อยู่ที่โรงเรียน คุณครูมีบทบาทมากค่ะ ที่จะช่วยดูแล และหากเกิดปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ทันที ณ ตอนนั้น ซึ่งบางโรงเรียนจะมีกล้องวงจรปิด คุณแม่สามารถขอดูกล้องวงจรปิดนี้ได้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างตอนอยู่ที่โรงเรียน การร่วมมือกับคุณครูจึงเป็นวิธีที่สามารถแชร์ความคิดเห็น และเข้าถึงปัญหาของลูกได้ง่ายขึ้น

        3.ใช้ตุ๊กตาเล่าเรื่องแทน การใช้สื่อกลาง มาเล่าเรื่องแทน เพื่อสะท้อนเรื่องราว และทำให้ลูกได้เข้าใจความรู้สึกที่ตัวเองบอกว่าเกลียดเพื่อนได้ง่ายขึ้นค่ะ คุณแม่ลองใช้วิธีเอาตุ๊กตามาแทนตัวละครแล้วเล่นบทบาทสมมติกับลูก จะช่วยให้ชัดเจนกว่า ซึ่งทางที่ดีคุณแม่อาจไปคุยกับคุณครูเพื่อให้เห็นภาพรวม และมาประกอบกับเรื่องที่ลูกเล่า ก็ทำให้ลูกเห็นในแง่มุมที่มีมิติมากขึ้น

        4.อย่าแสดงอาการต่อต้านลูก คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมแสดงความใส่ใจลูกทุกครั้งนะคะ เพราะหากเรามีท่าทีเพิกเฉย ในกรณีที่ลูกแค้นฝังใจฝังหุ่นมาก จนไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่อยากเจอใคร ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กค่ะ

        5.ฝึกลูกมองความเกลียดให้เป็น สำหรับเด็กในวัยนี้แล้ว เวลาเกิดอะไรขึ้นจะรู้สึกว่าทุกอย่างแย่ไปหมด ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องถามให้ลูกเข้าใจให้ได้ว่าไม่พอใจแค่ไหน อาจจะให้เขาลองทำมือประกอบว่าไม่พอใจขนาดไหน ลูกก็จะเริ่มชั่งใจตัวเองได้ว่าไม่พอใจขนาดไหน และแยกออกว่าอันไหนเกลียด อันไหนไม่เกลียด เพราะทุกอย่างของเด็ก ๆ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาเสมอ เราควรพยายามให้ลูกรู้ว่าความรู้สึกของเขามีความหมาย ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ แล้วเขาก็จะมีท่าทีกับเพื่อน และสามารถเข้าใจความเกลียด ความไม่พอใจได้มากขึ้น ตามมาค่ะ

        เพียงคุณพ่อคุณแม่รับฟัง อธิบายที่มาที่ไปอย่างเป็นกลาง และค่อย  ๆ หาสาเหตุ ค่อย ๆ แก้และเปิดโอกาสให้ลูกได้เสนอแนวทางแก้ไข เขาก็จะเรียนรู้ได้ว่าเพื่อนแต่ละคนไม่เหมือนกัน และต่อยอดความเข้าใจคนอื่น ๆ ในสังคมได้ดีเมื่อโตขึ้นค่ะ


            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 355 สิงหาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกเกลียดเพื่อน ควรทำอย่างไร? อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2555 เวลา 15:08:04 2,934 อ่าน
TOP
x close