5 ปัญหายอดฮิต เรื่องพูดของลูก



5 ปัญหายอดฮิตเรื่อง “พูด” ของลูก
(Mother & Care)

          ฝึกทักษะในการสื่อสารให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะเด็ก ๆ ที่มีปัญหาในการใช้ภาษาบางคนพบว่าอาจมีปัญหาเรื่องความบกพร่องของสมอง หรืออวัยวะในการฟังและการพูด ต้องเข้ารับการรักษา ปัจจุบันพบว่ามีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนาการด้านอื่นปกติดี แต่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางภาษา เพราะได้รับการเลี้ยงดูและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

1. ลูกไม่ยอมพูด / พูดช้า

          โดยทั่วไปแล้วเด็กจะเริ่มพูดคำที่มีความหมายเป็นคำ ๆ ได้เมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ แต่พบเด็กหลายคนที่มีปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แต่สามารถทำตามคำสั่งได้ เข้าใจภาษาที่แม่สื่อสาร และมีทักษะการแก้ไขปัญหาตามวัยได้ดี ในเด็กกลุ่มนี้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะเป็นกลุ่มที่สามารถพูดได้ทันเด็กวัยเดียวกันได้

คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

          เปิดโอกาสให้เขาได้สื่อสาร บอกความต้องการของตนเองบ้าง

          เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษา เพราะลูกจะซึมซับจากคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับลูก หรือพูดกันเองให้ลูกได้ยิน ลูกก็จะจดจำไว้

          เลือกว่าจะใช้ภาษาใดเป็นภาษาหลักในการพูด ก็ให้สื่อกับลูกด้วยภาษานั้น เพื่อให้ลูกสามารถพูดภาษานั้นได้ ส่วนภาษารอง ในขั้นต้นพ่อแม่อาจใช้สื่อสารกันเองก่อน ลูกจะได้ฟังและซึมซับภาษาที่พ่อแม่พูดไปในตัว

2. ตะ ตะ ติด อ่าง....

          พบได้บ่อยในเด็กวัยเตาะแตะ ที่กำลังเริ่มหัดพูด คำมากกว่า 2 คำขึ้นไป คือ ความคิดเริ่มแล่น อยากสื่อสาร แต่คิดคำพูดไม่ทันใจ คลังในสมองยังน้อย เลยทำให้พูดซ้ำคำเดิม เช่น หนู หนู หนู...กินนมแล้ว มีทั้งติดอ่างเล็กน้อย ซึ่งจะหายเป็นปกติได้เองในเวลาไม่นานนัก และติดอ่างมาก จนมีปัญหาในการสื่อสาร คือเริ่มจากติดอ่างน้อย จนเมื่อลูกรู้ตัวว่าตัวเองมีความผิดปกติก็ยิ่งเกิดความกังวล ระมัดระวังตัวเองในการพูดมากขึ้น เกิดความเกร็ง ทำให้ไม่มั่นใจในการพูด กลายเป็นติดอ่างมากขึ้นจนมีปัญหาในการสื่อสาร

คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

          อย่าใช้คำถามกับลูกมากเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดที่เหมือนคำถาม เพราะลูกต้องคิดหาคำตอบ ทำให้ลูกติดอ่างมากขึ้น

          ทำบรรยากาศในบ้านให้สบาย ให้ลูกรู้สึกไม่กังวลกับการพูด ให้กำลังใจลูกว่าอย่ากลัวถ้าจะต้องพูดผิด

          ให้ความสนใจรับฟังว่าลูกพูดอะไร หมายความว่าอย่างไร ไม่ตื่นเต้นหรือกังวลกับการพูดติดอ่างของลูกมากจนเกินไป

          เมื่อเด็กรู้สึกผ่อนคลาย ได้รับความรักความเข้าใจจากทุกคนในครอบครัว อาการติดอ่างจะค่อย ๆ หายไปได้เอง โดยใช้เวลาช้าเร็วต่างกันไปในเด็กแต่ละคน

3. ช่างจ้อ แต่...เป็นภาษาต่างดาว

          พัฒนาการลูกสมกับวัยช่างจ้อ พูดเป็นเรื่องเป็นราว แต่พูดรู้เรื่องเป็นบางคำ ที่เหลือภาษาต่างดาวที่ใคร ๆ ก็เดาไม่ออกว่าเขาพูดถึงอะไร ถามคำถามที่แม่ตอบไม่ได้ เพราะฟังไม่รู้เรื่อง

คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

          ฝึกการฟัง ฝึกสื่อสารให้ตรงกันก่อน โดยเริ่มจากของใกล้ตัว นก ประตู หนังสือ จาน แก้ว อาจใช้สิ่งของหรือรูปภาพมาเป็นอุปกรณ์ประกอบการพูด

          คุณพ่อคุณแม่อาจพูดให้ช้าลง และออกเสียงให้ชัดขึ้น ขยับปากให้ลูกเห็นชัดๆ เพื่อลูกจะได้จดจำการใช้ภาษาของคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างง่ายมากขึ้น

          พยายามสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วยการเรียกชื่อเฉพาะของสิ่งนั้นไปเลย เช่น สมุด หนังสือ ตุ๊กตา จานข้าว ไม่เรียก อันโน้น อันนั้น ลูกจะได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ มากขึ้น

          ช่วงที่ลูกหัดพูด มีภาษาต่างดาว หรือภาษาของเขาเอง ก็พยายามคาดคะเนดูว่าลูกหมายความว่าอย่างไร แล้วพูดให้ลูกพูดคำที่ถูกต้องตาม แต่เป็นไปอย่างสบายๆ ไม่เครียด ลูกจะได้เรียนรู้ภาษาที่ใช้ในการสื่อความที่ถูกต้องได้

4. พูดได้...แต่ไม่ชัด

          มีทั้งแบบพูดไม่ชัดเป็นคำๆ พูดไม่ชัดเป็นตัวอักษร และพูดไม่ชัดทุกคำ ซึ่งไม่ได้มีความผิดปกติทางร่างกาย การได้ยินปกติดี และไม่มีปัญหาเรื่องสมอง แต่พูดไม่ชัด เช่น สะกดหรือออกเสียงบางคำไม่ได้

คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

          เลิกขวดนมตามวัย

          พ่อแม่และบุคคลรอบตัวพยายามเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้ภาษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ชัดเพราะคนใกล้ตัวพูดไม่ชัด ก็พยายามแก้ไขให้คนแวดล้อมพูดกับเด็กอย่างชัดถ้อยชัดคำ ฝึกไปพร้อม ๆ กันด้วยก็ได้ ลูกจะได้มีเพื่อน รู้สึกสนุกกับการฝึกมากขึ้น

          หาเกมส์เล่น ฝึกการเคลื่อนไหวของปากและลิ้น เช่น เป่าลูกโป่ง เป่าเทียน เป่านกหวีด เป่าฟองสบู่แสนสนุก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูด

          อย่าเข้มงวดปรับพฤติกรรมตรงนี้มากนัก จะทำให้ลูกเกิดความเครียด จากที่พูดไม่ชัด จะกลายเป็นไม่อยากพูดไปเลย ควรสร้างบรรยากาศสบาย ๆ

5. พูดม๊าก...มาก เกินไปแล้วนะลูก

          อาการช่างจ้อของลูกคงไม่เป็นปัญหาที่คุณแม่จะต้องกลุ้มใจ ถือเป็นข้อดีที่ลูกอยากพูดคุย อยากรู้อยากเห็น ซึ่งหากพ่อแม่ให้ความสนใจ ตอบสิ่งที่เขาอยากรู้ และสร้างแรงจูงใจให้เขาอยากรู้มากขึ้นได้ สมองลูกก็จะมีการพัฒนาอย่างสมวัยเต็มที่

คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้

          พยายามตอบคำถาม หรือตั้งคำถามกลับ ชวนลูกคิดต่อยอด

          สอนมารยาท บอกลูกว่าเราจะไม่พูดแทรกในขณะที่คนอื่นกำลังพูดคุยกันอยู่ ยกเว้นเรื่องสำคัญที่ต้องบอกเดี๋ยวนั้น เช่น ปวดฉี่ ปวดอึ

          ให้ความสนใจเวลาลูกอยากเล่าเรื่องหรือพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ แต่ถ้าไม่สะดวกจริง ๆ ก็อาจให้เขารอสักครู่ สัญญาว่าจะกลับมาฟังลูกเล่า เวลาในการรอก็ตามความสามารถในความอดทนของแต่ละวัย เริ่มต้นอาจให้รอสัก 2 นาที แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น 3 – 5 นาที และต้องทำตามสัญญาทุกครั้ง

อาการแบบนี้ควรระวัง

          อายุ 1 ขวบ ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้ สื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ ไม่สามารถเข้าใจหรือทำตามคำสั่งได้ ไม่เข้าใจว่าพ่อแม่พูดว่าอะไร ไม่มีความสนใจในการสื่อสาร เรียกชื่อไม่หัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาความผิดปกติว่ามีการบกพร่องในการได้ยิน อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก สติปัญญาช้า หรือมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป


            



ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ปัญหายอดฮิต เรื่องพูดของลูก อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2555 เวลา 16:24:02 4,880 อ่าน
TOP
x close