เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
คงตื่นเต้นไม่ใช่น้อยนะคะ หากเรารู้ว่าจะได้เห็นอีกหนึ่งชีวิตเกิดมา คุณแม่บางคนก็คงกังวลเกี่ยวกับกับเรื่องการตั้งครรภ์ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรดี เพื่อดูแลลูกของเราให้ดีที่สุด ก่อนอื่นเลย แนะนำว่าให้ใจเย็น ๆ นะคะ เรามีวิธีเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์มาฝากกันค่ะ
1.ดูแลเรื่องน้ำหนัก
สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำ ก็คือการชั่งน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ และช่วงตั้งครรภ์ เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ซึ่งในช่วงก่อนตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลร่างกายให้พร้อม และกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ และที่สำคัญเป็นช่วงที่ไม่ควรลดความอ้วน เพราะเด็กต้องการสารอาหารต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้สมบูรณ์และแข็งแรง
2. งดการสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
เพราะสารพิษจากนิโคติน แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เป็นอันตรายต่อทารกอย่างมาก สารเหล่านี้จะถูกส่งผ่านทางสายรก ทำให้เด็กได้รับสารพิษโดยตรง หากทารกได้รับสารเหล่านี้เข้าไปแล้ว ต้องใช้เวลานานกว่าจะขับสารเหล่านี้ออกมาได้ แต่สำหรับเวิร์กกิ้งวูแมนที่ไม่สามารถงดกาแฟได้ ให้ดื่มกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน
3.การพักผ่อน ทำงานศิลปะ
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อารมณ์ของคุณแม่นั้นมีผลกระทบต่อเด็กในท้องโดยตรง ฉะนั้นคุณแม่ควรหาเวลาพักผ่อน หรือทำกิจกรรมสนุก ๆ ในเวลาว่าง เพื่อทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส เช่น ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือทำงานอดิเรก ที่ใช้สมาธิและการสร้างสรรค์ เช่น การวาดรูป ถักไหมพรม หรือการฟังเพลง การอ่านหนังสือ ก็ช่วยให้อารมณ์ดีได้
4.ควบคุมการกินยา
หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยา ก็ควรแจ้งคุณหมอหรือเภสัชก่อนการรักษา ว่ากำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอและเภสัชกร จัดยาที่เหมาะสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์มาให้ เพราะสารเคมีในยาบางตัวมีอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ซึ่งอาจจะทำให้เด็กพิการและเสียชีวิตได้
5.การฉีดวัคซีน
ก่อนการตั้งครรภ์คุณแม่ก็ควรศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย ว่าวัคซีนแต่ละชนิดควรจะฉีดในช่วงใดของการตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก หรือไปปรึกษาคุณหมอเพื่อให้แน่ใจว่าเราต้องรับวัคซีนชนิดใดบ้าง และทำตารางนัดกับคุณหมอให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาก็ไปให้ตรงกับวันและเวลาที่คุณหมอกำหนดไว้
6.การฝากครรภ์
ควรเลือกคุณหมอที่เราไว้วางใจ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับคุณแม่ และโรงพยาบาล หรือคลินิกฝากครรภ์ที่เราเลือกนั้น ควรมีหมอเป็นผู้ดูแล และสามารถให้คำแนะนำที่ชัดเจน เข้าใจง่าย หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ หรือกังวลใจเกี่ยวกับหมอที่ไปฝากครรภ์ คุณแม่ก็สามารถหาสถานที่ในการฝากครรภ์ใหม่ได้ค่ะ
7.วางแผนเรื่องรายรับรายจ่าย
เพราะคุณแม่ทั้งหลายกำลังจะมีอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องดูแล ฉะนั้นการวางแผนทางการเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับช่วงตั้งท้อง และหลังคลอด รวมทั้งวางแผนในการเลี้ยงดูระยะยาว ทั้งเรื่องการศึกษา และความเป็นอยู่
8.การใช้สารเคมี
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย อย่างเช่น น้ำยาเปลี่ยนสีผม เพราะสารเคมีที่ซึมซับเข้าสู่ร่างกาย จะทำอันตรายกับเด็กในท้องได้ และนอกจากนี้ยังรวมถึงการสูดดมสารต่าง ๆ เช่น สารตะกั่ว สารปรอท ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะสารเหล่านี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เด็กพิการได้
9.โรคที่เกิดจากแมว
สำหรับบ้านที่เลี้ยงแมว ควรระมัดระวัง ปรสิตที่อยู่ในอุจจาระของแมว ซึ่งมีอันตรายอย่างมากกับเด็กในท้อง เพราะเป็นสาเหตุของโรคที่เรียกว่า ทอกโซพลาสโมซิส ซึ่งหากปรสิตตัวนี้เข้าสู่ร่างการเด็ก ก็จะทำให้เด็กมีอาการสมองบวม ประสาทตาอักเสบ หรือจอตาอักเสบ หรือมีอารมณ์ผิดปกติ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรกนั้น ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ฉะนั้นบ้านไหนที่มีแมวก็ควรทำความสะอาดกระบะแมว และบ้านให้สะอาด
10.ละ ลด เลิก กิจกรรมผาดโผน
คุณแม่ที่รักกิจกรรมและกีฬาผาดโผน อย่างเช่น กระโดดร่ม ขี่ม้า ขี่จักรยาน ควรงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อเด็กในครรภ์ เพราะการเคลื่อนไหวตัวมาก ๆ นั้น เสี่ยงต่อการแท้งเป็นอย่างมาก
วิธีที่นำมาฝากกัน ไม่ยากใช่ไหมคะ สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ฉะนั้นในช่วง 9 เดือนนี้ เรามาดูแลลูกน้อยของเราให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ก่อนลืมตาดูโลกกันดีกว่าค่ะ