แคลเซียม เพื่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ (modernmom)
เรื่อง : ศิริพร
แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทำให้หน้าเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่พบในกระดูกและฟัน ปกติแล้วร่างกายของเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง ต้องได้รับจากอาหารที่กินเท่านั้นค่ะ
แคลเซียมสำคัญอย่างไร
ร่างกายจะมีความต้องการแคลเซียมทุกช่วงวัย แต่สำหรับแม่ท้องแล้ว นับได้ว่านี่เป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอ ทั้งในขณะท้อง หลังคลอดและให้นมลูก เพราะแคลเซียมจะช่วยส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ รักษาความหนาแน่นของกระดูก โดยการสร้างและป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกของแม่เอง ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ถ้าแม่ท้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ จะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ลดการเกิดตะคริว โดยแม่ท้องควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
อาหารอุดมแคลเซียม
แหล่งของแคลเซียมในอาหารที่พบมากมีอยู่ใน นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็ก กุ้งฝอย ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง เต้าหู้ ผักใบเขียว ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากพืชผักได้น้อยกว่านมและก้างปลา การเพิ่มปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม จากอาหารในแต่ละวันเพื่อให้แม่ท้องได้รับปริมาณแคลเซียมครบถ้วน ทำได้โดยดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว แบ่งเป็นนมวัว 1 แก้ว และนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมอีก 1 แก้ว และนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมอีก 1 แก้ว ปลาที่กินทั้งกระดูก เช่น ปลาข้าวสาร ปลาตัวเล็ก 2 ช้อน กินร่วมกับข้าว ไข่ 1 ฟอง ธัญพืช ต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง วันละ 3-4 ช้อนโต๊ะ ผักใบเขียว 2-3 ทัพพี ผลไม้ 2-3 ชนิด และเลือกอาหารไทย ๆ ที่มีกะปิเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงเลียง ต้มส้มแกงเผ็ดต่าง ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างปริมาณแคลเซียมในอาหาร
อาหาร | ปริมาณ | แคลเซียม (มิลลิกรัม) |
นมจืด | 200 มิลลิลิตร | 226 |
นมพร่องมันเนย | 200 มิลลิลิตร | 246 |
โยเกิร์ต | 150 กรัม | 160 |
นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม | 180 มิลลิกรัม | 106 |
เชดดาร์ชีส | 25 กรัม | 204 |
ปลาเล็กปลาน้อย | 2 ช้อนโต๊ะ | 226 |
กุ้งฝอย | 1 ช้อนโต๊ะ | 134 |
กุ้งแห้ง | 1 ช้อนโต๊ะ | 138 |
กะปิ | 1 ช้อนชา | 94 |
เต้าหู้อ่อน | 1 ช้อนชา | 150 |
เต้าหู้แข็ง | 5 ช้อนโต๊ะ | 130 |
ผักคะน้าผัด | 1 ทัพพี | 71 |
ผักกาดเขียวผัด | 1 ทัพพี | 96 |
ผักกวางตุ้งต้ม | 1 ทัพพี | 60 |
ใบยอนึ่ง | ½ ทัพพี | 87 |
ใบกะเพราผัด | 3 ช้อนโต๊ะ | 61 |
ขนมปัง | 1 แผ่น | 32 |
กล้วยหอม | 1 ผล | 10 |
ส้มเขียวหวาน | 1 ผล (100 กรัม) | 30 |
แอปเปิ้ล | 1 ผล | 10 |
มะขามหวาน | 5 ฝัก | 56 |
ถั่วแดงหลวงดิบ | 1 ช้อนโต๊ะ | 96 |
งาดำ | 1 ช้อนโต๊ะ | 73 |
การปรุงอาหารเพื่อรักษาคุณค่าของแคลเซียมให้อยู่ครบถ้วน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงที่มีส่วนผสมของอาหารบางชนิดที่จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม เช่น
เลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหรที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
งดการปรุงรสอาหารเค็มจัดหรืออาหารตากแห้ง เช่น หมูแดดเดียว ปลาเค็ม เพราะมีโซเดียมสูงทำให้ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก
ลดอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก จะทำให้เกิดการสลายแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น ควรบริโภคเนื้อสัตว์ปานกลาง
ห้ามแอลกอฮอล์ ไม่ควรผสมแอลกอฮอล์ในอาหาร เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย
ลดน้ำมัน การปรุงอาหารที่มีน้ำมันมากเกินไปจะทำให้ไขมันไปรวมกับแคลเซียม ทำให้ประสิทธิภาพของการดูดซึมลดน้อยลง
เลี่ยงกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ในผักบางชนิดที่มีปริมาณมาก เช่น ผักโขม ใบชะพลู ผักปลัง หน่อไม้ฝรั่ง เพราะกรดออกซาลิกจะไปจับแคลเซียมที่มีใบอาหาร ทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้น้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.17 No.200 มิถุนายน 2555