ประสาทสัมผัสฝึกได้ในทุก ๆ วันของชีวิต



ประสาทสัมผัสฝึกได้ในทุก ๆ วันของชีวิต
(modernmom)
เรื่อง : แม่โอ๋

          การฝึกประสาทสัมผัสให้ลูกน้อย นอกจากจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยเปิดสวิตซ์ให้สมองของลูกได้ทำงานและเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายภายในสมองมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของลูกน้อยในทุก ๆ ด้านอีกด้วย

 ประสาทสัมผัสกับการเรียนรู้

          ความจริงแล้ว ระบบประสาทสัมผัสเริ่มทำงานตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่แล้วค่ะ เพียงแต่ยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก และต้องการการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้วงจรประสาทที่มีอยู่แตกแขนงเชื่อมโยง และแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวัย 0-3 ปี หรือที่เรียกว่า Sensory Motor Stage ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านอวัยวะรับสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนตัวกระตุ้นชนิดต่าง ๆ เช่น แสง สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ฯลฯ ให้กลายเป็นสัญญาณประสาทเพื่อส่งเข้าไปในสมองบริเวณต่าง ๆ จนไปถึงเปลือกสมอง (Cerebral Cortex) และบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ในสมองอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งข้อมูลที่บรรจุอยู่ในสมองของลูกจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนใช้ประสาทสัมผัสให้แก่ลูกน้อยตั้งแต่วัยเด็ก

ฝึกประสาทสัมผัสเจ้าตัวน้อย

          การจะฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้แก่ลูกน้อยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจในพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกด้วยค่ะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นการไปเร่งเร้าหรือกระตุ้นลูกมากจนเกินไป ไปดูกันค่ะ ว่าจะช่วยฝึกประสาทสัมผัสให้ลูกน้อยได้อย่างไรกันบ้าง

แรกเกิด-3 เดือน ให้นมลูก

          ลูกน้อยสามารถรับสัมผัสได้ตั้งแต่แรกเกิด และการกระตุ้นประสาทสัมผัสให้ลูกวัยนี้ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ แม้ว่าลูกจะยังเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้มากนัก การให้นมลูก นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสให้ลูกได้อย่างครบถ้วน เพราะนอกจากลูกจะได้รับไออุ่นจากการโอบอุ้ม กอดสัมผัสของแม่ ได้กลิ่นกายและได้ยินเสียงหัวใจของแม่ที่คุ้นชินได้ลิ้มชิมรสชาติน้ำนมแสนอร่อย ไปพร้อม ๆ กับการมองเห็นใบหน้าแม่ที่ยิ้มละไมอยู่ตรงหน้า

3-6 เดือน คว้า จับ กับของเล่น 

          วัยที่ลูกเริ่มจับคว้า และอยากเปล่งเสียงสนทนา การสบตา เล่น และพูดคุยกับลูกทุก ๆ วัน รวมไปถึงการนวดเนื้อนวดตัวให้ลูกอย่างแผ่วเบาหลังอาบน้ำ จะช่วยกระตุ้นประสาทให้ลูกได้ และอาจเพิ่มตัวช่วยด้วยของเล่นต่าง ๆ เช่น โมบายสีสันสดใส กล่องดนตรี ของเล่นที่ใช้เขย่าให้เกิดเสียง หรือของเล่นที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างก็ได้ค่ะ

6 เดือน-1 ปี ลิ้มรสกระตุ้นสัมผัส

          ช่วงวัยนี้ลูกเริ่มเปลี่ยนจากการนอนกลิ้งไปมา ไปสู่การเรียนรู้ที่จะนั่ง คืบคลาน และเกาะยืน เริ่มเรียนรู้ที่จะจับจ้องมอง ริมฝีปากของผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย และเริ่มเชื่อมโยงระดับเสียงสูงต่ำ ระหว่างแม่กับพ่อได้บ้างแล้ว รวมทั้งสามารถลิ้มรสชาติของอาหารอ่อน ๆ เสริมจากนมแม่ได้แล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่คุณแม่จะได้พัฒนาระบบประสาทสัมผัสให้ลูกน้อย ไม่ว่าจะด้วยรสชาติ กลิ่น หรือแม้แต่ผิวสัมผัสที่แตกต่างกันไปของอาหารในแต่ละมื้อ (ช่วงที่ลูกฟันขึ้นแล้ว) รวมถึงการเปลี่ยนสลับปรับทิศทางการนอนให้ลูกได้มีมุมในการมองที่แตกต่างไป หรือพาลูกนั่งรถเข็นเดินเที่ยวชมต้นไม้ฟังเสียงนกร้องรอบ ๆ บ้าน หรืออาจจะหาตัวช่วยอย่างหนังสือนิทานนุ่มนิ่มให้ลูกได้จับสัมผัส ดูภาพ และฟังเสียงของคุณแม่ไปพร้อม ๆ กัน

1-2 ปี กระตุ้นผ่านชีวิตประจำวัน

          ในวัยที่เริ่มเตาะแตะหัดเดินและเรียนรู้ภาษาได้มากขึ้น การกระตุ้นประสาทสัมผัสในชีวิตประจำวันยังจำเป็นและเป็นฐานที่สำคัญในการต่อยอดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสให้ลูกน้อย เช่น กระตุ้นการฟัง ด้วยเสียงเพลง หรือนิทาน กระตุ้นการได้กลิ่น ด้วยการสอนให้ลูกแยกแยะ กลิ่นหอม-เหม็น เช่น ให้ลูกลองดมกลิ่นเสื้อที่หอมสะอาด กลิ่นดอกไม้ (ถ้าลูกไม่แพ้) หรือเวลาที่ลูกนั่งกระโถนแล้วได้กลิ่นเหม็น เป็นต้น ลูกวัยนี้สามารถเรียนรู้เรื่องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้จากการสัมผัสได้แล้ว การหาของเล่นที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน หรือแม้แต่สิ่งของรอบ ๆ ตัวก็สามารถกระตุ้นการรับรู้นี้ได้ เช่นเดียวกับความสามารถในการแยกแยะรสชาติต่าง ๆ เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ซึ่งคุณแม่อาจหาผลไม้ที่มีรสชาติต่างกันไปให้ลูกลองชิม รวมไปถึงการเปิดโลกกว้างให้ลูกวัยนี้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้นกว่าการจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน

2-3 ปี หลากของเล่นพัฒนาประสาทสัมผัส

          ลูกวัยนี้สามารถแยกแยะของชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้แล้ว ว่าสิ่งไหนเหมือนหรือต่างกัน สิ่งไหนเรียกว่าอย่างไร มีวิธีการเล่น การหยิบจับอย่างไร รวมทั้งเรื่องของขนาด สี และรูปทรง กิจกรรมง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถช่วยฝึกประสาทสัมผัสการมองเห็นให้ลูกได้ เช่น ฝึกแยกแยะขนาดรูปทรง และสี ของสิ่งของต่าง ๆ โดยอาจลองนำของที่เป็นทรงกลม และทรงสี่เหลี่ยม สีสันต่าง ๆ มาใส่รวมกันในกล่องแล้วให้เขาแยกแยะว่าของชิ้นใดเป็นทรงกลม ทรงเหลี่ยม สีอะไร เล็กหรือใหญ่ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองลิ้มรสอาหารที่หลากหลายขึ้น ทั้งกลิ่น รสชาติ และผิวสัมผัส อาจเล่นเป็นเกมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เช่น เล่นเกมดมกลิ่นผลไม้ หรือเกมคลำดูซินี่อะไร โดยใส่สิ่งของลงไปในถุงโดยที่ลูกไม่เห็น แล้วให้คลำดูว่าของชิ้นนั้นคืออะไร เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ขอเพียงคุณแม่เข้าใจในหลักการฝึกประสาทสัมผัสและสอดประสานกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปในวิถีชีวิตอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการในแต่ละช่วงของลูก นอกจากจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีแล้ว การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ยังจะช่วยหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพ ความคิด และตัวตนของลูกเมื่อเขาเติบโตขึ้นอีกด้วยค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.17 No.199 พฤษภาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประสาทสัมผัสฝึกได้ในทุก ๆ วันของชีวิต อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2555 เวลา 15:26:34 1,286 อ่าน
TOP
x close