อย่ามองข้าม..การฝึกสายตาลูก (modernmom)
โดย : วาศิล
ลูกจะเริ่มใช้สายตาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เกิดมา การช่วยฝึกสายตาและการมองให้ลูกจะช่วยพัฒนาลูกได้มากทีเดียว การมองไม่เหมือนกับการได้ยิน ซึ่งทารกเริ่มใช้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง หากประสาทสัมผัสส่วนนี้จะมีการพัฒนาเมื่อลูกน้อยออกมาดูโลกแล้วเท่านั้น
ในช่วงแรก การมองของลูกอาจพร่ามัวแม้จะมองวัตถุใกล้แค่ไหนก็ตาม เพราะระบบประสาทตายังพัฒนาไม่เต็มที่ และลูกตายังเคลื่อนไหวไม่สมบูรณ์ แต่ภายใน 6 เดือนการมองของลูกจะชัดขึ้น และจะนำมาซึ่งการเรียนรู้โลกและพัฒนาการด้านสติปัญญาต่อไป
การมองเห็นของเจ้าตัวเล็ก
สัปดาห์แรก : มองเห็นลวดลายต่าง ๆ แยกความสว่างกับความมืด เพ่งมองสิ่งที่อยู่ห่างออกไปได้ประมาณ 10 นิ้ว ถ้าไกลกว่านี้จะพร่ามัว ลูกยังไม่สามารกลอกตาได้ และสนใจมองหน้าคนเป็นพิเศษ
1 เดือน : สามารถมองได้ไกลขึ้นคือประมาณ 15 นิ้ว มือลูกสามารถเอื้อมไปแตะสิ่งที่มองเห็นได้
2 เดือน : แยกความแตกต่างของวัตถุได้ เริ่มมองวัตถุที่จุดกึ่งกลาง
3 เดือน : ปรับระยะมองภาพใกล้ไกลได้ ตาทั้งสองข้างเคลื่อนไหวประสานกันได้ดี
4 เดือน : การมองเห็นสมบูรณ์ขึ้น คือปรับภาพให้ชัดเจนได้
5 เดือน : ลูกจดจำวัตถุได้
6 เดือน : ลูกเริ่มมองเห็นวัตถุที่มีสีสันได้ จำหน้าคนได้ มองสิ่งของได้ไกล 6 เมตร และการเคลื่อนไหวของตาทั้งสองข้าง สามารถควบคุมและประสานงานได้ดี
หลังจากนี้ไปความสามารถในการมองเห็นของลูกจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น และในช่วงขวบปีแรกของชีวิตนี่แหละค่ะ ที่นักวิจัยค้นพบว่า การกระตุ้นทางสายตาจะเอื้อต่อการพัฒนาสายตาของลูกเมื่อเติบโตขึ้นมา ว่ากันว่า ทารกที่ไม่ได้รับการส่งเสริมโดยการจัดให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น นอนอยู่ที่เดียวตลอด , นอนอยู่ในห้องที่เห็นแค่กำแพงห้องทุกวัน หรือนอนในเปลที่มีผ้าปิดตลอด หรือนอนโดยไม่มีใครสนใจ จะทำให้ระบบการมองเห็นและการรับรู้อื่น ๆ พัฒนาลดน้อยถอยลง รู้อย่างนี้ยอมไม่ได้เลยใช่ไหมคะ แต่ก่อนจะพัฒนาการมองลูก มาดูกันก่อนค่ะว่าลูกน้อยชอบมองอะไรบ้าง
หนูชอบมองหน้าแม่ที่ซู้ด..
โดยธรรมชาติของเด็กแล้ว ใบหน้าของแม่คือสิ่งที่เด็กทุกคนชอบมองมากที่สุด เพราะเคลื่อนไหวไปมาได้ เป็นของเล่นของลูกได้ทุกเมื่อ แต่คุณแม่คงจะเหนื่อยถ้าจะต้องเล่นกับลูกตลอดเวลา มาหาผู้ช่วยกันดีกว่าค่ะ
นอกจากหน้า (พ่อ) แม่แล้ว ลูกจะชอบมองสิ่งของที่มีรูปทรงซับซ้อนและมีสีสันสะดุดตา คุณพ่อคุณแม่อาจทดสอบสิ่งนี้ได้ด้วยการนำเอาสิ่งของที่แตกต่างกัน 2 แบบ อย่างแรกเป็นสิ่งของที่มีสีสันธรรมดา อีกแบบเป็นลวดลาย สีสดใส คุณจะเห็นว่าลูกจะมองสิ่งหลังมากกว่าค่ะ เพราะสะดุดตากว่านั่นเอง
พูดโดยรวมแล้วสิ่งที่ลูกสนใจมองจะอยู่ในข่ายเหล่านี้ค่ะ
วัตถุที่มีรูปร่างกลม เช่น ใบหน้า ลูกตา
วัตถุที่เคลื่อนไหวมากกว่าหยุดนิ่ง
วัตถุที่มีสีต่างกันชัดเจน
วัตถุที่มีรูปร่างปกติมากกว่าวัตถุบิดเบี้ยว
วัตถุสามมิติ
มาฝึกสายตาเจ้าตัวเล็กกันเถอะนะ
1 เดือนแรก : อุ้มลูกหันหน้าเข้าหากันยิ้มและพูดคุยกับลูก อาจโยกศีรษะของแม่ไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง เพื่อฝึกการมองตามของลูก
2 เดือน :
ขยับวัตถุขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา ให้ห่างจากหน้าลูก 26 เซนติเมตร ลูกจะมองตามวัตถุเหล่านี้ค่ะ
แขวนรูปขนาดใหญ่ของคุณและครอบครัวให้ลูกได้เห็น ก็จะช่วยพัฒนาการมองของลูกได้
2 เดือนครึ่ง-3 เดือน : ลูกสนุกสนานและมองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรแขวนของเล่น โมบายล์สีสันสดใสไว้ที่เปลนอน สิ่งเหล่านี้จะเกิดเสียงเมื่อแกว่งไกว ลูกก็จะมองตามพร้อมกับเพลินเพลิดกับเสียงกรุ๋งกริ๋งค่ะ
3 เดือน :
ให้ลูกจับต้องสิ่งของ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับระยะห่างของมือกับสิ่งของ ตลอดจนเรียนรู้รูปร่างของวัตถุจากการมอง
เคลื่อนกระจกเข้า-ออกจากใบหน้าลูกช้า ๆ โดยให้กระจกห่างจากหน้าลูกประมาณ 1 ฟุต
4 เดือน : สร้างความอยากรู้อยากเห็นในการมองตามวัตถุ โดยคุณพ่อคุณแม่เป่าฟองสบู่ให้ลูกมองตาม
5 เดือน :
หาสิ่งของที่มีสีสันสดใส เช่น ฟ้า เหลือง แดง ฯลฯ ให้ลูกได้เล่น
ฝึกการมองวัตถุขณะหล่นตกพื้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้นหาและมองตาม
6 เดือน : ใช้ถ้วยพลาสติกเรียงจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่ เพื่อให้ลูกได้เห็นความแตกต่าง และจับต้องได้ค่ะ
หลังจากเดือนที่ 6 ไป การมองของลูกเริ่มคล้ายผู้ใหญ่ การช่วยฝึกการมองของลูกโดยการชี้ชวนชมสิ่งต่าง ๆ รอบตัว นอกจากจะช่วยพัฒนาการมองแล้วยังช่วยพัฒนาสติปัญญาด้วยค่ะ
ฝึกสายตาดีกับลูกยังไง
นอกจากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกแล้ว การมีกิจกรรมฝึกสายตาลูก ยังมีประโยชน์ต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเขาด้วยค่ะ
กระตุ้นเซลล์สมองส่วนรับการมองเห็นให้แผ่ขยาย และมีการเชื่อมโยงของเซลล์สมองเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่
การมองเห็นที่ดีจะทำให้การประสานงานของมือและตาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อลูกเห็นสิ่งของ ก็จะเริ่มหัดเคลื่อนมือไปยังส่วนนั้น
ลูกสามารถแยกแยะรูปร่าง มองตามการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ และจดจำภาพที่แตกต่างกันได้ ในวัยแรกเริ่มของชีวิตนี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้ใส่ใจดูแลลูกในเรื่องพัฒนาการให้ดีก็จะส่งผลต่อชีวิตเมื่อเติบโตขึ้นมาได้ค่ะ
สิ่งที่ต้องใส่ใจ!
ค่อย ๆ ฝึกไปตามขีดความสามารถของสายตาลูกในแต่ละเดือน
เริ่มจากวัตถุที่เรียบง่ายไปสู่วัตถุที่ซับซ้อน
หากให้ลูกมองวัตถุที่มีเสียงด้วย ก็จะเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นได้ยิ่งขึ้น
วัตถุที่กระตุ้นการมองควรจับต้องและเคลื่อนไหวได้ เพื่อช่วยการเรียนรู้ของลูกให้มากขึ้น
เช็คสายตาลูกกันหน่อย
อายุ 6-8 อาทิตย์ : ...ลูกมองหน้าคุณแล้วมองตามหรือไม่
...ลูกยิ้มให้คุณหรือยัง
...ลูกหันหน้าเข้าหาแสงหรือไม่
อายุ 3 เดือน : ...ลูกสังเกตผู้คนหรือของเล่นบ้างไหม
...ลูกมองตามเขาหรือไม่
อายุ 7-9 เดือน ...สังเกตว่าตาเหล่ตาเขหรือไม่ (ได้แล้วในวัยนี้)
พ่อแม่ควรรู้
การตรวจสายตาทารกจะต้องอาศัยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าการตรวจวัดการมองเห็น การเคลื่อนไหวของตา และการรับรู้มิติความลึกของภาพ
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก