อารมณ์แม่สัมพันธ์กับลูกในท้อง (Mother & Care)
ในระหว่างที่คุณแม่ตั้งท้องเป็นช่วงที่สภาพร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่เฉพาะรูปร่างเท่านั้น แต่เซลล์ในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป และด้วยสภาพแวดล้อม ฮอร์โมน รวมถึงสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทําให้คุณแม่หลายท่านอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หรือมีความเครียดเกิดขึ้น
อารมณ์แม่มีผลต่อลูกในท้องอย่างไร?
ในปัจจุบันแม้ว่าความเข้าใจและข้อพิสูจน์เกี่ยวกับภาวะความเครียดและอารมณ์ของแม่ท้องที่ส่งผลต่อทารกในท้องจะเริ่มมีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอารมณ์ของแม่ในระหว่างตั้งท้องนั้น มีผลต่อพฤติกรรมของลูกเมื่อคลอดออกมาแล้วโดยตรงจริงหรือไม่ แต่เมื่อคุณแม่อารมณ์แปรปรวน มีความเครียด หงุดหงิด หรือโมโห ย่อมทําให้ร่างกายของคุณแม่อยู่ในภาวะไม่สบายตัวและไม่สบายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนไปและทารกในท้องก็ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้เช่นกันค่ะ
ความสัมพันธ์ทางอารมณ์ของแม่ท้องต่อทารกในท้องนั้น ในระหว่างที่ตั้งท้องถ้าคุณแม่ที่มีความสุขก็มักจะได้ทารกที่อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย ร่าเริง แจ่มใส ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (endorphine) จะหลั่งออกมา ทําให้คุณแม่มีหน้าตาที่สดใส อวัยวะต่าง ๆ ทํางานได้ดี สารอาหารและฮอร์โมนถูกลําเลียงผ่านรกถ่ายทอดไปสู่ทารกได้อย่างสม่ำเสมอและราบรื่น
ถ้าในภาวะที่ร่างกายของแม่ท้องมีความเครียด ความกดดันทั้งทางกายและจิตใจ เช่น มีบาดแผล ได้รับการผ่าตัด ออกกําลังกาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นไข้ วิตกกังวล หรือซึมเศร้านั้น ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลินออกมาเพิ่มขึ้น ส่งผลทําให้หัวใจสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อเกร็ง เกิดการเกร็งตัวของมดลูกถี่กว่าปกติ เครียด รูม่านตาขยาย สารเคมีและฮอร์โมนถูกหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ ซึ่งจะทําให้ตัวคุณแม่เองก็จะเปลี่ยนแปลงไป มีอาการนอนหลับยาก ตื่นบ่อย กินไม่ลง ไม่สบายกายและใจ เป็นผลให้สารอาหารต่าง ๆ ลําเลียงผ่านรกไปยังทารกได้ไม่ราบรื่น และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้นาน ๆ แล้ว อาจส่งผลให้ต้องคลอดก่อนกําหนด ทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อย ไม่แข็งแรง และเด็กบางคนโตขึ้นมาแล้วอาจมีอาการของโรคไฮเปอร์แอคทีฟ (Hyperactive) อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา สมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวน และมีความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ และเด็กจํานวนไม่น้อยที่ต้องรับการรักษาด้วยยาแก้โรคซึมเศร้า หรือยาระงับประสาทเพื่อเด็กโรคสมาธิสั้น
นอกจากนี้ ภาวะความเครียดในระหว่างตั้งท้องยังเป็นสาเหตุให้พัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในท้องด้อยลงไป ทั้งยังเกี่ยวเนื่องถึงการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ของระบบประสาทที่จะทําให้เกิดปัญหาต่อการรับรู้ ความคิด ความจํา รวมถึงไอคิวของเด็กบางคนยังต่ำด้วย
ดูแลสุขภาพใจและกายตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง
ถึงแม้อารมณ์ของแม่ท้องมีความสําคัญและมีอิทธิพลต่อการสร้างพื้นฐานทางอารมณ์ของทารก แต่นอกจากอารมณ์และสุขภาพที่แข็งแรงของแม่ท้องจะมีผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกเมื่อออกมาแล้ว การอบรมเลี้ยงดู การให้ความรัก ความอบอุ่น และสภาพแวดล้อมหลังจากที่คลอดแล้วก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสําคัญที่จะทําให้ทารกมีร่างกายที่แข็งแรง อารมณ์ดี และเลี้ยงง่ายค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก