ปวดหลังเรื้อรังหลังคลอดเสี่ยงอัมพาต (รักลูก)
หลังคลอดคุณแม่ที่ยังมีปัญหาปวดหลังหรือปวดกล้ามเนื้อร้าวไปถึงสะโพกสันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยนะคะว่า อาจเป็นอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และหากปล่อยไว้นานเกิน 3 เดือนโดยไม่ได้รับการรักษา เสี่ยงเป็นอัมพาตได้!
ปวดหลัง...หลังคลอด
อาการปวดหลังเรื้อรัง หรืออาการปวดหลังหลังคลอด (Postpartum Pain) นั้น เป็นภาวะต่อเนื่องมาจากช่วงตั้งครรภ์ เพราะด้วยสรีระที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงฮอร์โมนต่าง ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ที่มีผลทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อมีความผิดปกติ เวลาเดินจะรู้สึกเหมือนมีเสียงดังที่เข่า และมักมีอาการปวด ช่วงข้อต่อที่หลัง และร้าวลงไปสะโพกหรือหัวหน่าว ซึ่งสาเหตุที่เรื้อรังมาถึงช่วงหลังคลอด เกิดจาก...
1.ปวดหลังตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีอาการปวดหลังอยู่ก่อนแล้ว มักจะมีอาการเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งในน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ต้องเดินแอ่นตัวไปข้างหลังมากขึ้นกล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อหลัง รวมถึงขาจึงต้องช่วยพยุงร่างกาย เพราะช่วงสะโพกอ่อนแรงลงจากการรับน้ำหนักที่มากเกินไป ทำให้เกิดการไม่สมดุลของโครงสร้างกล้ามเนื้อกระดูก และเรื้อรังจนถึงหลังคลอดได้
2.ใช้ชีวิตประจำวันแบบผิดท่า หลังคลอดคุณแม่มักกังวลอยู่กับการเลี้ยงลูก หรือใช้ชีวิตประจำวันในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ท่านั่ง ท่านอน การเดิน การยืน รวมถึงท่าในการให้นมที่ไม่ถูกต้อง คุณแม่ส่วนมากมีความตั้งใจในการให้นมลูกมากจนอาจเกร็ง เมื่อเกร็งมากๆ เข้า ก็ทำให้เกิดการดึงรั้งของกล้ามเนื้อจนมีอาการเจ็บปวดได้
3.ไม่ได้กายบริหารตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณแม่ส่วนมากมักกังวลกับการเลี้ยงลูกมากเกินไป จนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย หรือกายบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องให้กลับมาแข็งแรง จนทำให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลังเรื้องรัง จนมีอาการปวดตามมา
ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการโดยไม่ได้รับการฟื้นฟูโครงสร้างกล้ามเนื้อนานเกิน 3 เดือน อาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และนำไปสู่โรครุนแรงต่างๆ ได้ เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อกระดูกเสื่อมกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ในที่สุดค่ะ
รักษาอาการปวดเรื้อรัง
ทานยาแก้ปวด โดยทั่วไปยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลสามารถทานได้ค่ะ แต่หากคุณแม่ที่มีอาการปวดหลังมากตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ คุณหมอจะไม่แนะนำให้ทานยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะอาจมีผลต่อระบบหัวใจของลูกในท้องได้ค่ะ
1.นวดบำบัด นอกจากการทานยาแก้ปวดแล้ว การรักษาด้วย วิธีนวดประคบก็ถือว่าได้ผลดีสำหรับคุณแม่ ที่มีอาการปวดหลังในช่วงหลังคลอดค่ะ ซึ่งสามารถใช้การประคบร้อน โดยร่วมกับการนวดด้วยน้ำมันสมุนไพร หรือน้ำมันที่มีกลิ่นหอมช่วยผ่อนคลาย
2.ให้นมอย่างผ่อนคลาย คุณแม่มือใหม่ที่ยังให้นมในท่าเกร็ง ๆ หรืออยู่ในท่าที่ผิด กังวลว่าจะให้นมไม่ถูก หรืออุ้มลูกไม่ได้ทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัว จนมีอาการเจ็บปวดได้ที่สำคัญยังส่งผลให้มีน้ำนมน้อยได้ ฉะนั้นเวลาให้นมขอให้เป็นไปอย่างธรรมชิต และให้นมในท่าที่ลูกดูดนมได้สะดวกนะคะ
3.ทำกายบริหารง่าย ๆ เช่น นั่งเหยียดแตะปลายเท้า หรือนอนงอเข่าชิดอก ซึ่ง 2 ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังที่หดเกร็งให้คลายตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนการบริหารกล้ามเนื้อท้องให้แข็งแรง ทำให้ด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นประจำทั้งขณะยืน นั่ง หรือนอนค่ะ
ดูแลได้...ตั้งแต่ตั้งครรภ์
1.ปรับท่าให้เหมาะสม เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่ก็ควรปรับตัวเองให้เหมาะสมค่ะ เช่น ใส่กางเกงยางยืดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก ต้องไม่ตึงหรือรัดแน่นจนเกินไปนัก สำหรับคุณแม่สาวออฟฟิศ เวลานั่งทำงานอาจจะต้องมีเก้าอี้รองเท้า มีหมอนหนุนหลัง เพื่อที่จะได้นั่งทำงานสบายขึ้น ส่วนท่านอนควรจะนอนในท่าตะแคงแทนการนอนหงายค่ะ
2.ทานแคลเซียมเสริม ช่วงตั้งครรภ์คุณหมออาจให้ทานแคลเซียมเสริม แต่คุณแม่ควรดื่มนมเป็นประจำ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรง
3.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีหนึ่งค่ะที่สามารถช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้ดี จะช่วยให้ปอดและหัวใจแข็งแรง ซึ่งสร้างความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อ และเส้นเอ็น แต่คุณแม่จะต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามอายุครรภ์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
คุณพ่อ...ผู้ช่วยคลายปวด
เพราะคุณพ่อเป็นคนที่ใกล้ชิดคุณแม่ที่สุด จึงเป็นผู้ช่วยในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ที่คุณแม่จะต้องทำหลังคลอดได้ค่ะ ซึ่งกิจกรรมบางอย่างบางทีคุณพ่อก็สามารถช่วยทำแทนได้เพื่อช่วยให้คุณแม่ได้มีเวลาส่วนตัวหรือทำอะไรที่ไม่ได้อยู่กับลูกทั้งวันบ้าง เช่น ช่วยงานบ้าน เลี้ยงลูก อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือช่วงที่คุณแม่มีอาการปวดหลัง คุณพ่อก็สามารถช่วยยกของ และนวดประคบคลายปวดให้คุณแม่ได้
คุณแม่หลังคลอด ส่วนมากจะกังวลว่าตัวเองจะดูแลคุณสามีไม่ได้ เพราะต้องดูแลลูกด้วย คุณพ่อจึงต้องหมั่นถามไถ่ด้วยว่าตัวคุณแม่เป็นอะไร คุณพ่อสามารถเข้าไปช่วยได้ไหม บางครั้งขณะที่คุณแม่ให้นมหรืออุ้มน้องอยู่ คุณพ่อก็ช่วยจับประคอง หรือยืนให้กำลังใจกันอยู่ข้าง ๆ
ช่วงตั้งครรภ์หากมีอาการปวดหลังร้าวไปที่ขา ให้รีบไปปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์อยู่ทันที เพื่อการดูแลที่ต่อเนื่องหรือมีการดูแลโดยคุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก หลังคลอดคุณแม่จะได้สบายหายปวดนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 347 ธันวาคม 2554