อากาศเย็นๆ ระวังปอดบวม ! (รักลูก)
โดย: พญ.เกศนี เดชาราชกุล
อากาศเย็นและแห้งในหน้าหนาวทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งโรคระบบทางเดินหายใจมักระบาดในช่วงหน้าหนาวนี้ โดยเฉพาะ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบค่ะ
ปอดบวมเกิดจาก...
อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด หรือติดเชื้อโดยตรงจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา พยาธิ หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน และยังเกิดจากปอดได้รับสารเคมี เช่น สารตะกั่วที่อาจปะปนอยู่ในอากาศ เมื่อเด็กหายใจหรือสูดดมเข้าไปก็จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย จนก่อให้เกิดความระคายเคืองกับปอด เป็นต้น
สำหรับในเด็กพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ แต่ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันคือเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนเชื้อแบคทีเรียนั้นพบว่า โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสพบมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเชื้อนิวโมคอคคัสอาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูกและลำคอของคนเรา ติดต่อได้ทางการหายใจ สัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ และจากการใช้สิ่งของร่วมกันค่ะ
ลูกปอดบวมหรือเปล่า?
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติเบื้องต้นของโรคปอดบวมได้จากอัตราการหายใจ คือ
มากกว่า 60 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน
มากกว่า 50 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุ 2 เดือน - 1 ปี
มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุ 1 - 5 ปี
หากอัตราการหายใจของลูกเป็นเช่นนี้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคปอดบวมสูง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังต้องสังเกตร่วมกับลักษณะการหายใจ คือลูกต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ในการช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง ทำให้เวลาหายใจจะมีอาการคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยก จมูกบาน เป็นต้น
ในเด็กเล็กหากหายใจแล้วมีเสียงดัง หรือเสียงวี๊ด ๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีรอให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอทันทีค่ะ
ถ้าลูกปอดบวม
ในกรณีที่ไม่รุนแรงไม่ต้องนอนโรงพยาบาลค่ะ คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียไปกินที่บ้าน ซึ่งจะต้องกินอย่างสม่ำเสมอ จนครบชุดตามที่คุณหมอสั่งค่ะ
ส่วนในเด็กที่ปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัส ยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับทำลายหรือยับยั้ง แต่โรคจะหายได้จากการที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานมากำจัดเชื้อได้เองค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกด้วยการ...
ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ
วัดไข้วันละ 2-3 ครั้ง บางครั้งคุณหมออาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมด้วย
ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ กินยาตามที่คุณหมอสั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด
ถ้าอาการมากขึ้นต้องพาลูกไปหาคุณหมออีกครั้ง หรือหาก 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น หอบมากขึ้น หายใจต้องออกแรงมากขึ้น หรือมีอาการของภาวะป่วยหนักอื่น ๆ เช่น ซึม ไม่กินนม หรือน้ำ ก็ต้องพาไปตรวจอีกครั้งและจะต้องรักษาในโรงพยาบาล แต่ส่วนมากอาการจะดีขึ้น และค่อย ๆ หายในหนึ่งสัปดาห์ค่ะ
ช่วยลูก...ห่างปอดบวม
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกรักจากโรคปอดบวมได้ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ
ดูแลสุขภาพ ทั้งของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ หากมีอาการหวัดก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่าละเลยอาการต่าง ๆ
พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำให้มาก ๆ
หมั่นล้างมือให้สะอาด ฝึกให้ลูกน้อยล้างมือเป็นกิจวัตรเพราะเชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัส หากเราล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ โดยเฉพาะหลังออกจากสวนสนุกหรือบ้านบอลตามห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไปนะคะ เพราะเราสามารถลดการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาดของโรคปอดบวมได้ โดยการสร้างสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด จะช่วยลดการติดเชื้อที่ทำให้เกิดปวดบวมและโรคอื่น ๆ ที่สัมผัสติดมากับมือได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก