เป็นโรคนี้...คิดให้ดีก่อนท้อง



เป็นโรคนี้...คิดให้ดีก่อนท้อง
(modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

         การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตครับ ไม่ว่าคุณแม่จะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ทั้งนั้น อันตรายบางอย่างมีผลแค่ที่ตัวคุณแม่ บางอย่างก็เป็นอันตรายเฉพาะลูก ในขณะที่อันตรายบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกพร้อม ๆ กัน

         ขนาดคุณแม่ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดียังมีอันตรายจากการตั้งครรภ์และการคลอดได้แล้ว ถ้าหากยิ่งคุณแม่มีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวด้วยแล้วจะเป็นอย่างไร คำตอบเหรอครับ บอกได้เลยว่าส่วนมากมีปัญหาและอันตรายมากขึ้นเกือบทั้งนั้น

         ดังนั้นถ้าคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวหรือไม่แน่ใจว่าตัวเองมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรอยู่หรือไม่ ถ้าคิดจะตั้งครรภ์ ผมว่าลองตรวจเช็กสุขภาพและปรึกษาคุณหมอที่ดูแลก่อนดีไหมครับ ว่าสมควรจะตั้งครรภ์ได้หรือยัง และถ้าตั้งครรภ์ได้ต้องเตรียมตัวหรือระมัดระวังอะไรบ้าง

         ผมจะกล่าวถึงโรคที่สำคัญและพบได้บ่อย ๆ ที่ก่อปัญหาได้ในขณะตั้งครรภ์ เพื่อเป็นแนวคิดกว้าง ๆ สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเหล่านี้แล้ว คิดจะตั้งครรภ์ ส่วนรายละเอียดกรุณาสอบถามคุณหมอที่ดูแลคุณแม่ เพราะปัญหาของคุณแม่แต่ละคน ถึงจะเป็นโรคเดียวกันก็มีมากน้อยไม่เท่ากัน

โรคหัวใจ

         คุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดหรือเป็นโรคหัวใจที่มาเกิดขึ้นภายหลังล้วนแล้วแต่เสี่ยงอันตรายทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความเสี่ยงอาจจะไม่เท่ากัน คุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจที่มีลิ้นหัวใจรั่ว ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจที่มีความดันโลหิตในหลอดเลือดของปอดสูงด้วย กรณีเหล่านี้ถ้าปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป คุณแม่อาจจะเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวได้ เมื่อมีการตั้งครรภ์ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น หัวใจต้องทำงานบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น แต่สภาพของหัวใจที่ไม่ดีพอจะทำงานไม่ได้ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้

         คุณแม่ที่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น คุณแม่ที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ปัญหาที่ต้องระวังเพิ่มเติมก็คือยาที่รับประทาน อาจผ่านรกไปทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

         ถ้าคุณหมอตรวจพบคุณแม่ที่มีโรคหัวใจที่รุนแรงตั้งแต่ตั้งครรภ์ใหม่ๆ จะแนะนำให้คุณแม่ทำแท้ง เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์ไปเรื่อยๆ หัวใจของคุณแม่จะทำงานไม่ไหวจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

         สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจที่ไม่ค่อยรุนแรง เช่น มีผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจรั่วถึงกัน ถ้ารูรั่วไม่กว้างมาก คุณแม่ไม่มีอาการเหนื่อยมาก คุณหมอก็อาจจะยอมให้ตั้งครรภ์ต่อไป แต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดครับ

         อ่านมาแค่นี้คุณแม่บางคนก็อยากจะหัวใจวายแล้วใช่ไหมครับ เพราะดูมันน่ากลัวจังเลย แต่อย่างไรก็ตามผมอยากจะเรียนคุณแม่ว่ามันน่ากลัวจริงอย่างที่รู้สึกนั่นแหละครับ

โรคเบาหวาน

         คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ควรจะได้รับการตรวจระดับน้ำตาลและให้การควบคุมระดับน้ำตาลโดยคุณหมอจนดีเสียก่อนจึงตั้งครรภ์ มิฉะนั้นเมื่อมีการตั้งครรภ์ทั้งๆ ที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ดี ลูกในท้องของคุณแม่ก็อาจจะมีปัญหาได้มากมาย ตั้งแต่มีความพิการของอวัยวะต่างๆ คลอดก่อนกำหนดทารกมีขนาดใหญ่กว่าปกติในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคเบาหวานในระดับที่ไม่รุนแรงมาก หรือทารกมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคเบาหวานที่รุนแรงหรือเป็นมานาน ทารกบางคนคลอดออกมาแล้วเสียชีวิตภายหลังคลอดไม่นานเพราะปอดไม่ยอมทำงาน

         ส่วนตัวคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานเองก็อาจจะมีปัญหาจากโรคเบาหวานได้หลายประการ เช่น มีการแท้งบุตร มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดการช็อกจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เมื่อถึงเวลาคลอดก็เสี่ยงที่จะคลอดยากเพราะลูกตัวใหญ่ ตกเลือดหลังหลอด เป็นต้น

โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

         คุณแม่ที่มีโรคความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ ควรที่จะได้รับการประเมินความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดจากความดันโลหิตที่สูงและให้การดูแลรักษาโดยแพทย์ให้ดีเสียก่อนที่จะตั้งครรภ์ คุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้องรังมาก่อนที่จะตั้งครรภ์อาจมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ไตวาย หัวใจล้มเหลว ถ้าคุณหมอตรวจ พบว่าปัญหาที่มีความรุนแรงมากอาจจะแนะนำไม่ให้ตั้งครรภ์เลยก็ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์มีโอกาสเสียชีวิตได้ บางรายคุมกำเนิดไม่ดีมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ถ้าคุณหมอตรวจพบตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็มักจะแนะนำให้ทำแท้ง

         ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง แต่คุณหมอสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี ก็อาจจะยอมให้คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ได้

         อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ของคุณแม่กลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการดูแลโดยคุณหมออย่างใกล้ชิดเพราะอาจมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป เช่น คุณแม่อาจเกิดการแท้ง เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษซ้ำเติมทำให้ความดันโลหิตมากยิ่งขึ้นและอาจจะรุนแรงจนเกิดการชักเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนตัวลูกในครรภ์ก็มีปัญหาได้ไม่น้อย เช่น มีการเจริญเติบโตช้าหรือตายในครรภ์ เป็นต้น

โรคไทรอยด์เป็นพิษ

         คุณแม่ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมาตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ เมื่อคิดจะตั้งครรภ์ต้องให้คุณหมอรักษาโรคให้อยู่ในระยะสงบเสียก่อน ซึ่งการรักษามีให้หลายวิธี เช่น การรักษาโดยการใช้ยาควบคุมการผ่าตัด หรือการกลืนแร่รังสี การจะรักษาด้วยวิธีใดคุณหมอจะพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียและเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่

         ถ้าคุณปล่อยให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในขณะที่การควบคุมโรคก็ยังทำไม่ได้ดี อาจก่อปัญหาต่อการตั้งครรภ์ของคุณแม่หลายประการ เช่น กระแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ และทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ เป็นต้น

โรคเลือกจางธาลัสซีเมีย

         โรคเลือดจางธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดมาทางกรรมพันธุ์คนที่เป็นโรคนี้จะมีเม็ดเลือดแดงที่มีคุณภาพไม่ดี กล่าวคือมีขนาดเล็ก แตกง่าย และอายุการทำงานสั้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีแบ่งย่อยออกได้เป็นอีกนับร้อยชนิด แต่ละชนิดมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน บางคนเป็นโรคแต่แทบไม่มีอาการของโรคให้เห็นเลย ในขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงมากจนตายตั้งแต่แรกเกิดหรือตั้งแต่เป็นเด็กเลย คุณแม่จำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่มีอาการแสดงอะไร แต่เมื่อเจาะเลือดแล้วพบว่า เป็นโรคนี้ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นโรคชนิดที่ไม่ร้ายแรงหรือไม่เป็นโรคชัดเจนแต่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ผิดปกติของโรคนี้อยู่ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกคุณแม่กลุ่มนี้ว่าเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย เพราะไม่มีอาการของโรคแต่สามารถส่งผ่านลักษณะที่ผิดปกตินี้ไปให้ลูกในครรภ์ได้ ถ้าสามีของคุณแม่ได้รับการตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นพาหะของโรคเหมือนกัน

         ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์และโชคไม่ดี ลูกในครรภ์อาจได้รับลักษณะทางพันธุกรรมที่ไม่ดีมาทั้งจากคุณแม่และคุณพ่อ ลูกก็อาจจะเป็นโรคธาลัสซีเมียที่รุนแรงได้ บางคนรุนแรงมากเสียชีวิตในครรภ์ บางคนก็รุนแรงน้อยกว่าสามารถคลอดออกมา และเสียชีวิตเพียงแค่วัยเด็ก

         ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์คู่สมรสควรตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ถ้าเป็นก็จะได้ประเมินความเสี่ยงของลูกในครรภ์ ว่าจะเสี่ยงเป็นโรคมากน้อยเพียงใด จะได้วางแผนการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป


     



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.192 ตุลาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นโรคนี้...คิดให้ดีก่อนท้อง อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2554 เวลา 14:59:15 16,107 อ่าน
TOP
x close