ควันรถทำร้ายทารกในครรภ์ (Mother & Care)
Autos.ca เว็บไซต์เผยงานวิจัยที่พบว่า ไอเสียรถยนต์ อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเป็นโรคระบบทางเดินหายใจตั้งแต่แรกเกิด
มูฮะมัด ซามเซียน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซันเดอร์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ได้ทดสอบการทำงานของปอดของเด็ก 1,397 คน ที่มีอายุระหว่าง 7 ถึง 10 ปี ในไคไร หนึ่งในเมืองซึ่งขึ้นชื่อว่าแออัดที่สุดในโลก พบว่าไอเสียรถยนต์อาจเชื่อมโยงกับการที่เด็กเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืดและภูมิแพ้ตั้งแต่แรกเกิด และยังพบว่าเมืองนี้มีผู้คนเป็นโรคหืดหอบ โรคหายใจลำบาก และโรคไข้ละอองฟาง จำนวนมาก และในแต่ละปีมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรของคนกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมลพิษอย่างไนโตรเจนและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากไอเสียของยานพาหนะ และฝุ่นถนนเป็นสาเหตุตัวร้ายของโรคหอบหืด
มูฮะมัด เสริมว่า ความเสี่ยงเริ่มต้นตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา เพราะรกไม่ได้ป้องกันมารดาจากการสัมผัสกับมลพิษ เมื่อมลพิษเข้าสู่ระบบการไหลเวียนเลือดของทารกในครรภ์จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก นอกจากนี้อาจเป็นผลให้ทารกเกิดมาพร้อมกับสติปัญญาต่ำ ภาระเจ็บป่วยต่าง ๆ และมีน้ำหนักน้อยโดยเด็กที่บ้านอยู่ใกล้ถนนที่มีการจราจรหนาแน่นจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหอบหืด ภาวะหายใจลำบาก อาการไอแห้ง จนอาจต้องเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเลยทีเดียว
พ่ออเมริกันมีปัญหาจัดสมดุลงานและครอบครัว
แม้ว่าพ่อส่วนใหญ่อยากจะช่วยภรรยาแบ่งเบาภาระเลี้ยงลูก แต่ความเป็นจริงพวกเขาก็ออกมายอมรับว่าทำไม่ได้
ศูนย์วิจัยด้านครอบครัวและการงานแห่งมหาวิทยาลัยบอสตันสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจพ่อชาวอเมริกันราว 1,000 คน ที่ทำงานนอกบ้าน พบว่า พ่อหลายคนเผชิญปัญหาการหาความสมดุลระหว่างการทำงานและครอบครัว โดยผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความสำคัญกับการจัดความมั่นคงในงานและชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่ารายได้สูงและโอกาสความก้าวหน้า
พ่อที่ใช้เวลากับลูกมากขึ้นก็จะมีความมั่นใจในการเป็นพ่อมากขึ้น ทว่ามีพ่อเพียง 1 ใน 20 ที่ลาหยุดและใช้เวลามากกว่า 2 สัปดาห์กับลูกหลังคลอด โดยพ่อส่วนใหญ่ระบุว่า สภาพการทำงานที่เอื้อต่อการจัดสรรเวลาดูแลครอบครัวจะนำไปสู่ความพึงพอใจของพนักงาน และทำให้พนักงานจงรักภักดีกับบริษัท
แต่นักวิจัยก็ต้องประหลาดใจว่า 53% ของพ่ออเมริกันอยากอยู่บ้าน ถ้ามีโอกาสหางานที่ทำที่บ้านได้ นี่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของพ่อบ้านจะกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคม
หัวหน้าทีมนักวิจัยทิ้งท้ายว่า "เราจะเห็นว่าบรรดาคุณพ่อต้องการมีสภาพการทำงานที่เอื้อต่อการดูแลครอบครัว เพื่อที่จะปรับสมดุลระหว่างครอบครัวกับการทำงาน และนี่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและต่อองค์กรด้วย"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.81 กันยายน 2554