แน่ใจนะว่ารับมือได้...!!! เมื่อเจ้าวายร้ายดื้อสุดฤทธิ์ (Mother & Care)
เรื่อง : เฮลิโคเนีย
"ลูกตัดเสื้อตัวโปรดของคุณแม่ขาดเป็นสองท่อน"
"รองเท้าผ้าใบสีขาวของคุณพ่อถูกละเลงสีจนหมดสภาพ"
"หนังสือหายากของคุณยายถูกฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ"
"มือถือราคาแพงของเพื่อนแม่ถูกลูกคว้าไปทุบโต๊ะจนเครื่องพัง"
"และอีกสารพัดเรื่องที่ทำให้คนรอบข้างอกสั่นขวัญแขวนได้อย่างไม่น่าเชื่อ"
"รองเท้าผ้าใบสีขาวของคุณพ่อถูกละเลงสีจนหมดสภาพ"
"หนังสือหายากของคุณยายถูกฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ"
"มือถือราคาแพงของเพื่อนแม่ถูกลูกคว้าไปทุบโต๊ะจนเครื่องพัง"
"และอีกสารพัดเรื่องที่ทำให้คนรอบข้างอกสั่นขวัญแขวนได้อย่างไม่น่าเชื่อ"
ทำไม....ยังจะแผลงฤทธิ์ได้อีก
เพราะการฉีกดึงข้าวของ หรือแม้แต่การสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ถือเป็นลักษณะปกติธรรมดาของลูกวัยเตาะแตะ เมื่อใดที่ลูกต้องการจะค้นหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือเมื่อใดที่ลูกต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ลูกก็มักจะแสดงออกถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้พ่อแม่ถึงกับส่ายหน้าว่าดื้อจริง ๆ
จง....มองเข้าไปในความดื้อ
ขอให้เข้าใจว่าปัญหาทางพฤติกรรมต่างๆ มักเกิดขึ้นกับวัยนี้มากที่สุด ซึ่งก็ขอให้ถือว่าไม่ใช่เป็นปัญหาทางพฤติกรรมอย่างแท้จริงหรือถาวร พฤติกรรมดื้อดึงนี้เป็นแค่เพียงปฏิกิริยาโต้ตอบของลูก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพัฒนาการในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น
หัวใจสำคัญของพัฒนาการสำหรับลูกวัยเตาะแตะ คือ การมีอิสรเสรี การได้ดูแลตัวเอง เป็นผลมาจากความคิดที่ว่าตัวเองก็เป็นคนคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางอีกหลายคน ลูกจึงมีความต้องการที่จะอยากทำอะไร เพื่อตัวเองบ้าง แล้วก็ต้องทำด้วยฝีมือตัวเองแท้ ๆ การยืนยันที่จะทำอะไรเองนี้ จึงดูเหมือนกลายเป็นเรื่องดื้อสำหรับพ่อแม่
ความจริงแล้วเรื่องของการดื้อดึง ไม่เชื่อฟัง ห้ามแล้วยังจะทำอยู่อีก จนดูเหมือนท้าทาย นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากของลูกวัยเตาะแตะ เพราะลูกกำจัดทดสอบว่าพ่อแม่มีขีดจำกัด มีข้อบังคับต่ออะไรบ้าง แล้วก็มีแค่ไหน และเป็นอย่างไร ด้วยการแสดงพฤติกรรมออกมาว่าดื้อ เช่น ทำเป็นหูทวนลม หรือฝ่าฝืนคำสั่งบ่อย ๆ
ตีแผ่พฤติกรรม "ดื้อ"
ถ้าลูกเชื่อฟังไปหมดเสียทุกอย่าง สั่งอะไรก็ทำตามโดยไม่มีข้อโตแย้ง ไม่ดื้อขัดคำสั่งอะไรบ้างเลย ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เพราะเด็กที่มักจะเชื่อฟังเสมอ คือ เด็กที่ถูกบังคับอย่างเข้มงวดมากจนเกินไป กลายเป็นเด็กขี้กลัว ไม่เป็นตัวของตัวเองไม่มีความมั่นใจ
ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น ควรปล่อยให้ดื้อบ้าง แต่ต้องดูว่าเรื่องที่ลูกทำไม่เสียหายอะไร แล้วก็ต้องไม่ล่อยให้ลูกดื้อไปตลอดด้วย เพราะเด็กที่เอาแต่ฝ่าฝืนคำสั่ง ดื้อตึงก็มีผลร้ายต่ออนาคต เพราะจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ดื้อนั้นถูกต้องหรือไม่ และไม่สามารถสร้างมาตรฐานของพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ด้วย
มีเด็กอีกหลายคนที่มักคิดว่าวิธีการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ หรืออยากได้ความรักจากพ่อแม่ คือ การทำตัวดื้อดึงบ่อย ๆ ดังนั้นสาเหตุที่มักทำให้เด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง ก็คือ การไม่ได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างเพียงพอ ไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ ให้ตัวเองภูมิใจจากพ่อแม่ หรือแม้คำชมเชยก็ไม่ได้แม้ลูกทำตัวดีแค่ไหนก็ตาม
รับมือได้แน่...พ่อแม่แบบอย่าง
คิด
พ่อแม่ต้องมีทัศนคติในทางบวกกันพฤติกรรมดื้อ ต้องเข้าใจและยอมรับว่าเป็นขั้นตอนของพัฒนาการที่ลูกจะต้องผ่านไปให้ได้ เพราะเด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นก็ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ หรือไม่ดื้ออะไรเลย ยังต้องพึ่งพ่อแม่ทั้งด้านความคิดและการช่วยเหลือตัวเองก็จะถือว่าเด็กคนนั้นยังไม่ก้าวออกจากวัยทารกไปสู่วัยเด็กเล็ก
ไม่โกรธ
พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงกับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น เพราะอดรนทนไม่ไหวที่ลูกดื้อมาก ลูกขัดขืนไม่เชื่อฟังคำสั่งทำให้ต้องทะเลาะกับลูก จนกลายเป็นสาเหตุให้ลูกเกิดนิสัยชอบขัดแย้งกับคนอื่น ทำให้ลูกอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ยาก เหล่านี้ถือเป็นการขัดขวางพัฒนาการทางสังคมของลูกได้
ไม่ลงโทษ
พ่อแม่ต้องไม่ลงโทษลูกอย่างรุนแรง เพราะมีแต่จะสร้างแรงต่อต้านขึ้นมาสำหรับลูก ทำให้ลูกรู้สึกขุ่นเคืองและสะสมไว้ในใจ จนในที่สุดก็จะระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว แต่ควรแสดงความรัก โอบกอด พูดคุยดี ๆ เพราะเด็กอยากให้พ่อแม่รักอยู่แล้ว จึงเต็มใจที่จะไม่ดื้อและแสดงพฤติกรรมที่ดี
สงบใจ
พ่อแม่ต้องใจเย็น ควบคุมอารมณ์ตัวเองและสงบใจให้ได้เสียก่อน ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ลูกทำไม่อันตรายก็ปล่อยลูก แต่ถ้าสิ่งนั้นอันตรายลูกดื้อแพ่งจะทำให้ได้ ต้องทำหน้านิ่ง ๆ แบบเอาจริง แล้วรีบอุ้มฉวยตัวลูกออกไปที่อื่นทันทีเลยค่ะ เมื่อลูกสงบลงแล้วให้อธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้
ไม่สน
พ่อแม่ต้องไม่สนใจพฤติกรรมดื้อของลูกและต้องไม่ตกใจ ไม่อารมณ์เสียถ้าลูกดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง แต่ขอให้ทำเป็นไม่สนใจ ไม่รู้ไม่ชี้กับท่าทางของลูกให้มากที่สุด เช่น ถ้าบอกให้ลูกกินข้าว ลูกบอกว่าไม่ ก็ปล่อยลูกไว้อย่างนั้นก่อน ไม่ควรเซ้าซี้ลูกต่อ เดี๋ยวลูกก็หันมาเรียกร้องกินข้าวเอง
ไม่ห้าม
พ่อแม่ต้องไม่ห้ามพร่ำเพรื่อ เพราะการห้ามทุกครั้งอาจไม่ได้ผล แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้ลูก ทางที่ดีเก็บของต้องห้ามให้มิดชิด และจัดหามุมที่เหมาะสมให้ลูกได้เล่นหาตะกร้า กล่องเปล่า มาให้ลูกจับสิ่งของที่เตรียมไว้ให้โยน ใส่ รื้อ ดีกว่า ห้ามลูกไม่ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ลูกจะได้ไม่ต้องวุ่นวายกับการรื้อสิ่งของในบ้านจนรก
ไม่สั่ง
พ่อแม่ต้องไม่ใช้คำสั่ง หรือหลีกเลี่ยงการใช้คำสั่งกับลูกให้มากที่สุด แต่ควรโน้มน้าวหรือจูงใจให้ลูกทำมากกว่า พร้อมให้คำชมเชยเมื่อลูกไม่ดื้อ หรือทำสิ่งที่ดี เช่น แบ่งของเล่นให้เพื่อนไม่ทำบ้านรก หรือทำสิ่งอื่น ๆ แต่ถ้าลูกทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต้องห้ามแบบเด็ดขาดด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่จริงจัง
ให้ความรัก
ถ้าลูกดื้อเพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ก็อย่าไปว่ากล่าวลูกเลยนะคะ แต่ต้องพยายามให้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ ความอดทนให้มากขึ้น ก็จะสามารถเยียวยาอาการขาดรัก ทำให้ลูกสบายใจ เกิดความรู้สึกวางใจว่าพ่อแม่รัก และให้ความสำคัญกับตน จะช่วยให้ลูกผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ไปได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.82 ตุลาคม 2554