ติดแม่ ใครว่าเป็นปัญหา

แม่และเด็ก

ติดแม่ ใครว่าเป็นปัญหา
(modernmom)
เรื่อง : พญ.จอมสุรางค์ โพธิสัตย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

          การติดแม่ของเจ้าตัวน้อยที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ถ้าลองถามคุณแม่ จะพบว่าเป็นเรื่องที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกเครียด กังวล เหน็ดเหนื่อย รวมถึงเกิดความโกลาหลภายในบ้านอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเวลาเร่งรีบที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานหรือทำธุระนอกบ้าน ลองมาทำความเข้าใจกับเรื่องติดแม่ของเด็ก ๆ ไปพร้อม ๆ กันดีกว่าค่ะ

          สำหรับเรื่องนี้เชื่อว่ามีหลายประเด็นที่คุณแม่ ๆ อยากรู้ ไม่ว่าจะเป็น เด็กติดแม่คือเรื่องปกติหรือปัญหา การติดแม่ตามพัฒนาการเป็นอย่างไร การรับมือกับเรื่องลูกติดแม่มีวิธีไหนบ้าง และเมื่อไหร่ที่เด็กติดแม่จะกลายเป็นปัญหาตลอด แล้วจะช่วยเหลือลูกได้อย่างไร...

ลูกติดแม่...เรื่องปกติหรือปัญหา

          หนูแป้งอายุขวบกว่า ๆ อยู่บ้านกับพ่อแม่และยายมาตั้งแต่เกิดมีพัฒนาการสมวัย ช่วง 9 เดือนแรกแม่เป็นคนเลี้ยง จากนั้นยายเลี้ยงช่วงกลางวันเพราะแม่ต้องไปทำงาน หลังเลิกงานแม่จะกลับมาดูแลจนถึงเวลาเข้านอน ช่วงอายุ 7-8 เดือน หนูแป้งจะร้องไห้ เมื่ออาเข้ามาเล่นด้วย ร้องไห้เมื่อแม่เดินออกไป ตอนนี้หนูแป้งติดแม่มาก ร้องไห้ทุกเช้าที่แม่จะไปทำงานและดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แม่และคนในบ้านเครียด กังวลและลุ้นกันทุกเช้า แต่พอแม่ออกไปทำงานแล้วเจ้าหนูก็อยู่กับยายได้อย่างสบาย หนูแป้งติดตุ๊กตาต้องเอามาอุ้มช่วงกลางวันเวลาที่แม่ไม่อยู่

          เด็กมีพัฒนาการหลายด้าน โดยจะมีพัฒนาการตามลำดับขั้น ซึ่งมีลักษณะจำเพาะตามอายุ ช่วงสองขวบปีแรกร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างมาก ทั้งด้านโครงสร้างและหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เด็กเดินได้คล่องจึงมีการสำรวจสิ่งแวดล้อม เข้าใจภาษาและสื่อสารผ่านการพูด จึงมีการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสและภาษา ในขณะเดียวกันเด็กมีพัฒนาการด้านความคิด สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคม และบุคลิกภาพควบคู่กันไปด้วย จึงพบว่าเด็กมีพฤติกรรมติดแม่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในช่วงขวบปีแรก ๆ ของหนูน้อย

"ติดแม่" เพราะความผูกพัน

          ตั้งแต่แรกเกิดเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับแม่ หรือผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา แม่และเด็กมีการตอบสนองซึ่งกันและกัน จึงก่อให้เกิดความผูกพันอย่างใกล้ชิด ซึ่งการสร้างความผูกพันที่เด็กมีต่อแม่ เป็นหน้าที่ทางชีวภาพ และการปรับตัวของเด็กที่ต้องการการดูแลปกป้องคุ้มครอง ให้รอดพ้นจากอันตราย พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความผูกพันของเด็กที่มีต่อแม่ได้แก่ การยิ้มให้แม่ การแสดงความดีใจเมื่อเห็นหน้าแม่ การเข้ามาคลอเลียกับแม่ การร้องไห้ตามแม่ การร้องเพื่อให้อุ้ม วิ่งมาหาแม่เพื่อให้แม่ปลอบเมื่อเจอกับอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้กลัว

          แน่นอนว่า การติดแม่ของเด็กในช่วงขวบปีแรกนั้น เกิดจากการสร้างความผูกพันระหว่างเด็กและแม่ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในระยะต่อไป ถ้าเด็กไม่สามารถสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูได้ ถึงแม้จะมีปัจจัยด้านชีวภาพ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กที่พร้อม ก็ไม่อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ตามวัย คุณภาพของผู้เลี้ยงดูจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความผูกพันที่มั่นคง ได้แก่ เข้าใจการสื่อสาร และความต้องการของเด็ก แล้วมีการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมสม่ำเสมอแน่นอน มีการกระตุ้นพัฒนาการด้วยการหยอกล้อ พูดคุย และแสดงความรักต่อเด็ก ความมั่นใจ และความไว้วางใจที่เด็กมีต่อแม่ เป็นรากฐานสำคัญของการเห็นคุณค่าในตัวเอง การรู้สึกมั่นคงปลอดภัยต่อโลก และมีความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไปชั่วชีวิตของเด็ก

"ติดแม่" เพราะพัฒนารอบด้าน

          เด็กในช่วงอายุ 2-3 ขวบปีแรกนั้น มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและแม่ จนเด็กสามารถแยกจากแม่ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความกลัวหรือความกังวล เด็กมีพฤติกรรมการแยกจากแม่ตามระดับพัฒนาการดังนี้

        0-2 เดือน ทารกมีการปรับตัวอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก หลังคลอดความสนใจมุ่งอยู่ที่เรื่องสรีรวิทยา มากกว่าการสร้างความสัมพันธ์

        2-6 เดือน ยิ้มเมื่อมองเห็นหน้าผู้เลี้ยงดูหรือคนอื่นๆ (Social Smile) เป็นระยะเวลาของการปรับตัวเข้าหากัน และเริ่มมีการติดต่อสื่อสารระหว่างแม่และเด็ก

        6-9 เดือน เด็กจดจำหน้าผู้เลี้ยงดูได้ สามารถแยกแยะแม่จากผู้อื่นได้ทำให้เด็กกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) เด็กจะยิ้มให้เฉพาะแม่แต่ไม่ยิ้มให้คนแปลกหน้าเช่นเคย เด็กจะร้องตามเมื่อแม่เดินจากไป เพราะเด็กยังไม่เข้าใจว่าแม่ยังคงอยู่ในเวลาที่เขามองไม่เห็น การเล่นปิดตา จ๊ะเอ๋ หรือการเล่นซ่อนของจะทำให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ว่าวัตถุยังคงอยู่แม้จะมองไม่เห็น (Object Permanence) ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถแยกจากแม่ได้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.190 สิงหาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดแม่ ใครว่าเป็นปัญหา อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2554 เวลา 14:19:04 6,047 อ่าน
TOP
x close