กลเม็ดชักจูงลูกน้อยให้อ่านหนังสือ

อ่านหนังสือ - นิทาน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          คุณพ่อคุณแม่ และ คุณครูทั่วโลกต่างประสบปัญหาที่แก้ไม่ตก และเป็นปัญหาที่เปรียบเสมือนเป็นยาขมสำหรับเด็ก ๆ เช่นกัน นั่นก็คือ ปัญหาเด็กน้อยไม่ชอบอ่านหนังสือนั่นเอง ประโยชน์ของการอ่านนั้นมีมากมาย ทั้งช่วยฝึกสมาธิ เสริมสร้างจินตนาการ ช่วยเติมประสบการณ์ที่เขาอาจต้องพบเจอเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และปลูกฝังนิสัยขวนขวายหาความรู้เมื่อเขาโตขึ้นได้ แต่จะทำอย่างไรดีหนอให้คุณหนูตัวเล็กทั้งหลาย หันมาสนใจและรักการอ่าน แต่จะอย่างไรก็เถอะ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเด็ก ๆ แล้วล่ะก็ ย่อมถูกชักจูงได้ง่าย ก็ลองดูสิว่าพอพวกเด็ก ๆ เจออะไรล่อตาล่อใจเข้าหน่อย ก็จะวิ่งตื๋อเข้าไปหา ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่หาวิธีให้หนังสือกลายเป็นเรื่องแสนสนุก สำหรับเด็ก ๆ ดูบ้างล่ะ วันนี้เราเลยนำวิธีการชักจูงลูกน้อยให้เพลิดเพลินไปกับหนังสือ ที่เว็บไซต์หนังสือและแมกกาซีนอย่าง redbookmag.com นำมาฝากเหล่าผู้ปกครองมาให้ลองดูกันค่ะ

  1. ท่องเที่ยวไปในโลกหนังสือ

          "เอาล่ะ วันนี้เราจะไปเที่ยวกันนะ" คุณสามารถพูดคำนี้เพื่อเป็นการหลอกล่อเจ้าตัวน้อย ให้สนใจกับสิ่งที่คุณกำลังจะทำ แต่อย่าลืมเบรคเจ้าตัวเล็กก่อนที่เขาจะไปคว้ารองเท้ามาสวมล่ะ เพราะว่าวันนี้ คุณจะพาเขาออกท่องไปในโลกกว้างโดยไม่ต้องออกจากบ้านเลย ลองเลือกหนังสือที่มีภาพประกอบสวย ๆ พร้อมกับเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราว สถานที่ หรือยุค ที่แตกต่างจากที่คุณอยู่ และต่างจากประสบการณ์ที่เขาได้รับอยู่ทุก ๆ วัน จากนั้น ก็ชี้ชวนให้เจ้าตัวน้อยออกท่องเที่ยวไปในโลกของหนังสือได้เลย

 2. มีรางวัลแลกเปลี่ยน

          แม้การอ่านหนังสือจะมีประโยชน์ แต่ก็เป็นประโยชน์แบบที่เด็ก ๆ ไม่สามารถจับต้องได้ ที่สำคัญเขายังเด็กเกินไปที่จะตระหนักถึงความสำคัญเช่นนี้ คุณจึงสามารถชักนำคุณหนูตัวน้อย ด้วยการให้รางวัลซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถจับต้อง หรือสัมผัสรับรู้ได้ชัดเจน อาจจะเป็นการทำขนมที่เขาชอบ แลกเปลี่ยนกับการอ่านหนังสือจบสักเล่มก็ได้ค่ะ

 3. เปลี่ยนเสียงเล่าเรื่องตามตัวละครในนิทาน

          การเล่านิทานแบบอ่านออกเสียง แล้วเปลี่ยนเสียงไปตามคาแรคเตอร์ของตัวการ์ตูนหรือตัวละครต่าง ๆ เป็นการดึงความสนใจของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่คุณใช้ต่าง ๆ กัน จะทำให้เขาตั้งอกตั้งใจฟัง ทั้งยังเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น จากนั้นลองใช้เสียงตัวละครนั้น คอยถามให้เจ้าตัวเล็กคาดเดาเหตุการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเป็นลำดับต่อไป ซึ่งก็เป็นการฝึกจินตนาการของเขาได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ

 4. สร้างแอคติ้งคลาสเล็ก ๆ

          อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เด็ก ๆ เพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจไปกับเนื้อหาในหนังสือ ก็คือการนำมันมาทำให้เป็นรูปธรรมหรือสิ่งที่พวกเขาสามารถจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำหุ่นเชิดมือ ตุ๊กตากระดาษ หรือ อาจจะนำเศษผ้าและวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ มาประกอบเป็นเครื่องแต่งกาย เลียนแบบตัวละครในหนังสือ แล้วให้เด็ก ๆ ใช้ตุ๊กตาที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้นมา หรือแต่งตัวตัวเองเป็นตัวละครนั้น ๆ และแสดงเลียนแบบเรื่องราวในหนังสือเท่าที่เขาจำได้ นอกจากจะสนุกสนานแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างทักษะด้านการจดจำและการตีความอีกด้วย

 5. ดัดแปลงเรื่องราว

          หลังจากอ่านเรื่องราวจบแล้วรอบหนึ่ง ชวนเด็ก ๆ พูดคุยถึงเรื่องราวที่เพิ่งได้สัมผัสไป หรืออาจเป็นเรื่องราวอื่นที่เด็ก ๆ รู้จักดีอยู่แล้วก็ได้ ลองสมมุติสถานการณ์ว่าหากตัวละครที่เด็ก ๆ รู้จัก ไม่ได้ตัดสินใจทำตามแบบที่ดำเนินในเรื่อง หรือ เปลี่ยนเป็นตัวละครอื่น หรือ เปลี่ยนเอาเจ้าตัวน้อยทั้งหลายมาเป็นตัวละครนั้นเสียแทน เจ้าตัวเล็กของคุณจะต่อเติมให้เรื่องราวดำเนินต่อไปอย่างไร อย่าลืมลองถามเหตุผลดูด้วยว่าทำไม หนู ๆ จึงคิดเช่นนั้น นอกจากจะทำให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจในเรื่องราวมากขึ้น ยังเป็นการกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการและการเหตุผลด้วยค่ะ

 6. เที่ยวสวนสนุกเสริมสร้างจินตนาการ

          แม้บ้านเราจะไม่มีดิสนีย์แลนด์ที่จำลองเอาบรรยากาศจากการ์ตูน และเทพนิยายต่าง ๆ มาไว้ด้วยกัน แต่สวนสนุกอย่างดรีมเวิลด์หรือโซนเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นั้น ก็มีหลายแห่งที่ทำขึ้นโดยเทียบเคียงกับบรรยากาศจากนิทาน หรือนิยายต่าง ๆ การได้พาคุณหนู ๆ ไปยังสถานที่เหล่านี้ ทำให้เด็กน้อยได้หวนคิดถึงเรื่องราวที่เขาเคยอ่านมา ไม่แน่ว่า กลับบ้านไปอาจจะไปหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่านใหม่อีกรอบก็ได้ค่ะ

 7. ดูการแสดงที่มีเรื่องราวจากนิทาน

          งานนิทรรศการ หรือ พวกเอ็กซ์ฮิบิชั่นสำหรับเด็กต่าง ๆ มักมีโซนการเล่นละคร หรือ การแสดงที่มาจากเรื่องราวในนิทานทั้งหลาย หากได้ข่าวว่ามีงานดี ๆ แบบนี้เมื่อไหร่ อย่าลืมพาเจ้าตัวน้อยไปบ้างนะคะ พวกผู้ใหญ่ก็ได้เจอกับเหล่าผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเดียวกัน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้ แถมเด็ก ๆ ก็ได้สนุกเพลิดเพลินไปกับการแสดง ที่มีเนื้อหาอย่างที่เขาคุ้นเคย แถมยังได้ดูด้วยว่าจินตนาการของเขานั้น จะเหมือนกับที่มีคนกำลังถ่ายทอดให้ดูด้วยหรือเปล่า เป็นการต่อยอดจินตนาการของเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

 8. ตะลอนทัวร์ที่ร้านหนังสือ

          ร้านหนังสือดี ๆ จะมีมุมหนังสือสำหรับเด็กเสมอ และหากเป็นร้านหนังสือชั้นนำขนาดใหญ่ ก็จะมีโซนกิจกรรมสำหรับเด็กอีกด้วย คุณสามารถปล่อยให้เจ้าตัวน้อยเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบมาสักเล่ม หรือให้ลูกน้อยได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางร้านจัดขึ้น นอกจากเจ้าตัวเล็กจะได้พบปะกับเพื่อนเด็กคนอื่น ๆ ยังช่วยให้เขารู้สึกคุ้นเคย และเป็นมิตรกับหนังสือทั้งหลายได้ด้วยค่ะ

          ถึงแม้เราจะต้องอาศัยกลเม็ดเพื่อหลอกล่อชักจูงเจ้าตัวเล็กอยู่บ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่เขาเริ่มรู้ว่า การอ่านมันช่างเพลิดเพลินสนุกสนานขนาดนี้แล้วล่ะก็ อีกไม่นานคุณก็จะได้เห็นเจ้าตัวน้อย นั่งจุมปุ๊กอยู่กับหนังสือด้วยตัวเองได้แน่นอนค่ะ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลเม็ดชักจูงลูกน้อยให้อ่านหนังสือ อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2554 เวลา 15:55:17 1,078 อ่าน
TOP
x close