x close

แม่หลังคลอด กับ 12 ความเชื่อ vs ความจริง



“แม่หลังคลอด” กับ 12 ความเชื่อ vs ความจริง
(รักลูก)
โดย: เพียงขวัญ

            มีความเชื่อมากมายที่คุณแม่หลังคลอดคงเคยได้ยินมา และหลายคนก็เคยลองปฏิบัติมาแล้ว แต่จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดอย่างไร เช็กคำตอบได้เลยค่ะ

Check list

         1.ผ่าคลอดดีกว่าเพราะไม่เจ็บมาก และน้ำหนักลดเร็ว

         2.หลังคลอดแล้วคุณแม่อาจปวดแผลฝีเย็บนานเกิน 1 สัปดาห์

         3.หลังคลอดอาจจะมีอาการปวดมดลูกได้

         4.หลังคลอดต้องอยู่ไฟ ไม่เช่นนั้นจะหนาวใน และเกิดความผิดปกติอื่นๆ

         5.ห้ามกินของสแลง

         6.การกินยาขับน้ำคาวปลา จะช่วยขับน้ำคาวปลาออกมาให้หมด

         7.ถ้าน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

         8.คุณแม่หลังคลอดไม่ควรอาบน้ำโดยการนอนแช่ในอ่าง

         9.หลังคลอดคุณแม่ไม่ควรเคลื่อนไหวมาก เพราะอาจทำให้แผลอักเสบได้

         10.คุณแม่หลังคลอดที่ให้นม ห้ามกินยาคุมกำเนิด

         11.หลังคลอดจะมีประจำเดือนครั้งแรกมากหรือน้อยกว่าที่เคย ถือว่าเป็นอาการปกติ

         12.ถ้ามีอาการท้องผูกหลังคลอดไม่ควรกินยาระบาย

คำตอบ

1.ผ่าคลอดดีกว่าเพราะไม่เจ็บมาก และน้ำหนักลดเร็ว

            ไม่จริง เพราะการคลอดปัจจุบันคุณแม่ไม่ได้คลอดตามยถากรรม มีการควบคุมการคลอดไม่ให้นานเกิน 8-10 ชม. เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกบีบรัดตัวนานเกินไป จนกระทั่งกล้ามเนื้อมดลูกอ่อนล้า พอถึงเวลาหลังคลอดแล้วก็เลยไม่หดตัว เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้

            เพราะฉะนั้น เรื่องความกลัวว่าจะต้องเจ็บนาน ๆ ในระหว่างคลอด ในปัจจุบันก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะวิสัญญีแพทย์สามารถฉีดยาระงับปวดเข้าไปที่ไขสันหลัง (บล็อกหลัง) ซึ่งทำให้ไม่ปวดตลอดการคลอด ไปจนถึงขณะเย็บแผลที่ฝีเย็บเลยทีเดียว

            การที่มองว่าการผ่าคลอดจะช่วยลดอาการเจ็บจึงไม่เป็นความจริง ที่สำคัญระยะหลังคลอด การผ่าคลอดกลับเจ็บมากกว่าค่ะ เพราะการผ่าคลอดทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังหน้าท้องซึ่งเจ็บมากกว่า ส่วนแผลที่ช่องคลอดเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ เหมือนในกระพุ้งแก้มหรือในลิ้น ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก การซ่อมแซมของแผลจึงหายเร็วกว่า และการเจ็บปวดก็จะน้อยกว่าค่ะ

            ส่วนเรื่องการลดหุ่น วิธีการคลอดไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด การลดน้ำหนักจะลดเองตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตามขนาดมดลูกที่เล็กลง รวมทั้งการดูแลร่างกายและกิจกรรมหลังคลอด เช่น เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ควบคุมอาหารหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการออกกำลังกายด้วยค่ะ

2.หลังคลอดแล้วคุณแม่อาจปวดแผลฝีเย็บนานเกิน 1 สัปดาห์

            ไม่จริง เพราะแผลฝีเย็บบริเวณปากช่องคลอดเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้แผลหายเร็ว ประมาณ 3-5 วันแผลก็เริ่มติดกัน 5-7 วันแผลจะเริ่มหายสนิทดี อย่างมากที่สุดแผลจะหายสนิทเลยภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ

            อาการปวดแผลฝีเย็บจะเป็นอยู่ประมาณ 3-5 วันแรก แต่จะไม่เกิน 1 สัปดาห์ ถ้าปวดนานกว่า 1 สัปดาห์ อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีก้อนเลือดคั่งอยู่ใต้แผล แผลแยก หรือแผลติดเชื้อ เป็นต้น

            การดูแลแผลก็แค่ทำความสะอาดในขณะอาบน้ำตามปกติ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ปัสสาวะหรืออุจจาระ เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดจากช่องคลอดไปทางทวารหนัก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาอะไรเป็นพิเศษ อาบน้ำตามปกติวันละ 2 เวลาเท่านั้นค่ะ

3.หลังคลอดอาจมีอาการปวดมดลูกได้

            จริง เพราะภายหลังคลอดลูกจนกระทั่งเมื่อรกคลอดไปแล้ว มดลูกจะค่อยๆ หดรัดตัวเองเพื่อให้กลับมามีขนาดปกติ ในระหว่างที่มดลูกบีบตัวเพื่อให้หดตัวเล็กลง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดที่มดลูกได้เป็นเรื่องปกติค่ะ

            นอกจากนี้ ในระหว่างให้นมลูก จะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินซึ่งช่วยให้มดลูกหดตัวดีขึ้น และในขณะที่มดลูกหดตัว บีบตัว คุณแม่ก็จะมีอาการปวดที่มดลูกเป็นธรรมดา โดยจะสังเกตได้ว่า ระหว่างที่คุณแม่ให้นมอยู่จะมีอาการปวดมดลูกเป็นพักๆ ซึ่งกลไกตามธรรมชาตินี้ถือเป็นเรื่องปกติและมีประโยชน์ค่ะ เพราะการบีบตัวของมดลูกนอกจากจะช่วยเรื่องการหดตัวของมดลูกแล้ว ยังช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยยับยั้งไม่ให้มีการตกเลือดหลังคลอดด้วย ดังนั้น ถ้าคุณแม่ปวดมดลูกก็ทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ค่ะ

4.หลังคลอดต้องอยู่ไฟ ไม่เช่นนั้นจะหนาวใน

            ไม่จริง การอยู่ไฟเป็นกุศโลบายในสมัยก่อนที่จะช่วยให้คุณแม่ได้พัก ได้ดูแลตนเองและเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องนอนอยู่เฉยๆ การอยู่ไฟมิได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด

            ปัจจุบันคุณแม่ก็สามารถลาพักหลังคลอดเพื่อดูแลตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องอยู่ไฟก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าคิดว่าอยู่แล้วสบายใจ และไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่าย ก็สามารถอยู่ได้ตามความสะดวกค่ะ

            ส่วนความเชื่อเรื่องหนาวในไม่เป็นความจริง เหตุที่หลังคลอดแล้วมีอาการหนาว เป็นเพราะการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีสูงในระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดแล้วฮอร์โมนลดลงก็จะมีอาการหนาว และร้อนวูบวาบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ไฟหรือไม่ก็ตาม (และความรู้สึกนี้ก็จะเกิดอีกครั้งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานนั่นเอง)

5.ห้ามกินของสแลง

            ไม่จริง เพราะไม่มีของสแลง มีแต่ห้ามกินของที่กินแล้วเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น แอลกอฮอล์ ยาดอง ฯลฯ ซึ่งแม้ไม่ได้ท้องก็ไม่ควรกินอยู่แล้วเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ

6.การกินยาขับน้ำคาวปลาจะช่วยขับน้ำคาวปลาออกมาให้หมด

            ไม่จริง เพราะน้ำคาวปลา คือเศษเนื้อเยื่อ เศษชิ้นส่วนต่าง ๆ เมือกต่าง ๆ ที่ปกคลุมบริเวณโพรงมดลูก หลังจากรกได้ลอกตัวออกไปแล้ว เยื่อบุเหล่านี้จะถูกขับออกมาโดยการบีบรัดตัวของมดลูกหลังคลอด และจะค่อย ๆ หมดไปภายใน 6-8 สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำอะไร

            สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการขับน้ำคาวปลาได้ดี คือการขยับตัวให้เร็ว เช่น ถ้าคลอดปกติ ก็ควรขยับตัวให้ได้ภายใน 24 ชม. การเคลื่อนไหว การขยับตัวได้เร็วจะช่วยทำให้น้ำคาวปลาไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น

            หากผ่าคลอด หลังจากคลอดลูกและคลอดรกแล้ว คุณหมอจะพันผ้าก็อซที่นิ้วมือแล้วเช็ดทำความสะอาดมดลูก เพื่อให้มั่นใจว่าได้กวาดเอาชิ้นส่วนของรกออกมาให้หมด ไม่ให้มีเหลือตกค้างอยู่ ซึ่งเป็นการช่วยให้เยื่อบุหรือน้ำคาวปลาส่วนใหญ่หลุดลอกออกไป ตั้งแต่เสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว

            ดังนั้น หลังผ่าตัดหลังคลอดจะสังเกตได้ว่าน้ำคาวปลาหมดเร็วกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่มีความจำเป็นต้องกินยาใด ๆ เพื่อไปขับน้ำคาวปลาอีกค่ะ

7.น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

            จริง เพราะปกติน้ำคาวปลาในช่วง 2-3 วันแรก ส่วนประกอบหลักคือเศษเซลล์ที่ลอกออกมาจากโพรงมดลูก ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสีออกแดงๆ ใน 3 วันแรก ช่วงวันที่ 4-10 สีแดงจะค่อยๆ จางลง เพราะเศษเลือดจะน้อยลงไปตามลำดับ หลังจากวันที่ 10 ไปจนถึงน้ำคาวปลาหมด จะเป็นลักษณะใสขึ้นและมีสีเหลืองจาง ๆ บนขาว ๆ ไปอีกระยะหนึ่ง หากไม่เป็นไปตามนี้ เช่น ยังมีสีแดงมาก ๆ ยังมีเลือดสด ๆ อยู่ อาจเป็นภาวะของการตกเลือดหลังคลอด

            ส่วนกลิ่นก็จะคาวนิดหน่อย แต่ถ้าเหม็นมากผิดปกติ ประกอบกับลักษณะของสีที่ผิดปกติ เช่น แดงมากๆ คือ ตกเลือด หากมีสีเขียว สีเหลือง มีกลิ่นเหม็นรุนแรง นั่นหมายถึงการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นหากมีเลือดออก หรือเกิดการติดเชื้อต้องไปพบคุณหมอทันทีค่ะ

8.คุณแม่หลังคลอดไม่ควรอาบน้ำโดยการนอนแช่ในอ่าง

            จริง เพราะการอาบน้ำที่แนะนำในช่วงหลังคลอด คืออาบน้ำวันละ 2 เวลา ทำความสะอาดบริเวณฝีเย็บทุกครั้งที่มีการอุจจาระหรือปัสสาวะ ถ้าเป็นแผลบริเวณผ่าตัดคลอดก็ต้องล้างแผลตามกำหนด หรืออาจใช้วัสดุกันน้ำปิดไว้ที่แผล

            เหตุที่ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ เพราะมดลูกที่อยู่ข้างในช่องท้อง ต่อกับภายนอกผ่านทางปากมดลูก โดยปกติแล้วปากมดลูกจะปิดสนิทซึ่งจะเป็นตัวยับยั้ง ไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปทำอันตรายในร่างกายได้

            แต่หลังคลอดปากมดลูกจะเปิดเพื่อระบายน้ำคาวปลาออก เพราะฉะนั้นก็จะมีเชื้อโรคบางส่วนเข้าไปเจริญเติบโตได้เช่นกัน ดังนั้น หากคุณแม่นอนแช่น้ำ ซึ่งน้ำก็ไม่ได้สะอาดหมด เพราะในอ่างอาบน้ำก็มีคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นค่ะ

            นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยโดยการนำอุปกรณ์ไปเพาะเชื้อ ทั้งบริเวณในโพรงมดลูกและในช่องคลอด ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา ไม่ว่าจะเพาะตรงไหน จะพบแบคทีเรียเสมอ ซึ่งก็หมายความว่าน้ำคาวปลาทั่วๆ ไปย่อมมีความสกปรกอยู่

            เพราะฉะนั้นถ้าเราไปแช่น้ำ นอกจากพวกแบคทีเรียที่จะไหลเข้าไปในโพรงมดลูก ความสกปรกที่ไหลออกมาจากน้ำคาวปลาก็จะลอยอยู่ในน้ำ ก็ยิ่งไปปนเปื้อนตามผิวหนังได้ทั่วร่างกาย หากแบคทีเรียไปเกาะที่หัวนม เวลาให้นมลูกก็อาจติดเชื้อได้อีกด้วยค่ะ

9.หลังคลอดคุณแม่ไม่ควรเคลื่อนไหวมาก เพราะอาจทำให้แผลอักเสบได้

ไม่จริง เพราะการเคลื่อนไหวจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล และทำให้การติดของแผลดีขึ้น เพราะเลือดจะพาเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นตัวกัดกินเชื้อโรคมาที่แผลด้วย ถ้ามีเม็ดเลือดขาวเยอะก็จะทำให้ป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อได้ดีขึ้น คุณแม่จึงควรเคลื่อนไหวให้ได้มากเท่าที่สามารถทำได้ค่ะ

10.คุณแม่หลังคลอดที่ให้นม ห้ามกินยาคุมกำเนิด

            จริง โดยปกติแล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรแลคตินเพื่อสร้างน้ำนม และสร้างออกซีโตซินเพื่อหลั่งน้ำนมในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เมื่อฮอร์โมนสูงก็จะไปยับยั้งการตกไข่ เมื่อยังไม่มีการตกไข่ ก็จะไม่มีการตั้งครรภ์

            การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเท่ากับเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ และส่งผลให้ประจำเดือนรอบแรกหลังคลอดจะมาช้ากว่าเดิม อย่างไรก็ดีทางการแพทย์พบว่ายังมีอัตราการตั้งครรภ์ที่ 8% ในคุณแม่ที่ให้นมบุตรโดยไม่ได้คุมกำเนิดวิธีอื่น

            ดังนั้น ถ้าหากให้นมไปนาน ๆ ฮอร์โมนของการให้นมจะเริ่มลดลง รังไข่เริ่มมีการผลิตไข่ทำให้เริ่มมีประจำเดือนมา ในกรณีนี้ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุม จะมีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มเป็น 36% เลยทีเดียว

            ดังนั้น คุณแม่ให้นมจึงต้องคุมกำเนิด แต่ต้องไม่ใช่วิธีกินยา เพราะการกินยาคุมกำเนิดจะทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปยับยั้งการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมแห้ง หากคุณแม่ต้องการให้นมแม่ให้นานที่สุด จะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นฉีดยา ใช้ถุงยางอนามัย ใส่ห่วงอนามัย หรือใช้ยาฝังใต้ท้องแขนก็ได้ค่ะ

11.หลังคลอดจะมีประจำเดือนครั้งแรกมากหรือน้อยกว่าที่เคย ถือว่าปกติ

            จริง เพราะหลังคลอดประจำเดือนจะมาเมื่อรังไข่เริ่มทำงาน มีการตกไข่ครั้งแรก มีการสร้างเยื่อบุที่โพรงมดลูกและลอกเป็นประจำเดือน ซึ่งรังไข่ของแต่ละคนจะกลับมาฟื้นตัวเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ เช่น คุณแม่ให้นมได้นานแค่ไหน มีปริมาณการสร้างน้ำนมแค่ไหน ถ้าคุณแม่มีการสร้างน้ำนมเยอะ รังไข่ทำงานช้าลง ผลิตฮอร์โมนได้ต่ำลง ประจำเดือนก็จะมาน้อยและมาช้าค่ะ

            ส่วนคุณแม่บางคนหยุดนมแล้ว หยุดนมเร็ว หรือให้นมแต่น้ำนมไม่ค่อยออก หรือน้ำนมใกล้หมด รังไข่ทำงานได้ดี ฮอร์โมนของรังไข่สูง เยื่อบุก็จะหนามากทำให้มีประจำเดือนมามาก

            ขนาดของมดลูกก็มีผลต่อปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกมาค่ะ โดยทั่วไปหลังคลอดมดลูกจะมีขนาดปกติและเข้าอู่เรียบร้อย ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ คุณแม่บางคนมีประจำเดือนเร็วตอนที่มดลูกยังมีขนาดใหญ่ ก็จะมีพื้นที่ในการผลิตเลือดได้เยอะ ปริมาณเลือดจึงเยอะกว่าคนที่เริ่มมีประจำเดือนในช่วงหลังๆ ซึ่งมีขนาดมดลูกเล็กลงแล้ว และสร้างเลือดได้น้อยกว่า ทำให้มีประจำเดือนในปริมาณน้อยกว่าค่ะ

12.ถ้ามีอาการท้องผูกหลังคลอดไม่ควรกินยาระบาย

            ไม่จริง เพราะในช่วงหลังคลอด ปัญหาที่พบคือลำไส้เคลื่อนไหวตัวช้า ทำงานได้ไม่ค่อยดี มดลูกมีขนาดใหญ่ ไปกดทับทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ไม่ค่อยดี ความปวดที่มดลูกหรือแผลฝีเย็บก็จะทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวตัวได้น้อย พอเคลื่อนไหวตัวได้น้อยก็จะทำให้ท้องผูกมากขึ้น ยิ่งถ้าปวดแผลฝีเย็บมาก ก็จะพลอยไม่อยากเบ่งอุจจาระ ไม่ยอมเข้าห้องน้ำนานๆ จะทำให้ท้องผูกค่ะ

            ดังนั้น คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ เพราะจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวและช่วยลดอาการท้องผูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยลดอาการท้องผูกได้ค่ะ

            แต่ถ้าคุณแม่กินได้ปกติแล้ว เคลื่อนไหวได้ดีแล้วยังมีท้องผูกอยู่ การกินยาระบายหรือใช้ยาระบายชนิดเหน็บทวาร ก็จะเป็นตัวช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ลดความรู้สึกอึดอัดท้อง แต่การใช้ยาระบายต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอนะคะ

            หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจ เลือกปฏิบัติในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยจริงๆ ก็จะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดมีความสุข และฟื้นตัวได้เร็วแล้วละค่ะ


     
 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่หลังคลอด กับ 12 ความเชื่อ vs ความจริง อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2554 เวลา 14:28:01 57,750 อ่าน
TOP