สูงแบบไหน ..ใช่(ลูก)เลย (momypedia)
โดย: น้าเก่ง
ย้อนกลับไปเมื่อสมัย 10-20 ปีก่อน มาตรฐานของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ จะมีส่วนสูงเฉลี่ย 155 เซ็นติเมตร เขาว่าดูกระทัดรัด น่ารัก น่าทะนุถนอมดี แต่มายุคนี้ ส่วนสูงของเด็กรุ่นใหม่ต่างกับยุคนั้นลิบลับ ใครไม่สูงนี่ถือว่าเชย แถมอาจโดนเพื่อนฝูงค่อนขอด ย้ำปมว่า เตี้ย..เตี้ย..เตี้ย หรือกลายเป็น"ไอ้ตัวเล็ก" ในสายตาใคร ๆ ให้ช้ำใจเข้าไปอีก
คุณพ่อคุณแม่(ที่ไม่ค่อยสูง) จึงพานวิตกกังวลแทนลูก ยิ่งเวลาลูกอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงวัยเดียวกันด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่าตัวเล็ก ตัวเตี้ยกว่าเพื่อน ก็ยิ่งใจแป้วเข้าไปใหญ่ เพราะกลัวว่าลูกจะไม่สูง โธ่! อย่าเพิ่งตีโพยตีพายไปเลยค่ะ เรามาไขข้อข้องใจ แล้วค่อยหาทางออกกัน
หนูสูงหรือเตี้ยเพราะ..บางทีภาพที่เราเห็นว่าลูกตัวเตี้ยกว่าเพื่อนนั้น จริง ๆ ลูกอาจไม่ได้เตี้ยก็ได้ค่ะ เพราะการชี้ชัดว่าต่อไปเด็กจะเตี้ย หรือสูง ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ ต่อไปนี้
1.พันธุกรรม เป็นปัจจัยที่สำคัญประการแรกสุด
ถ้าพ่อแม่ตัวสูง...ลูกก็จะสูง
พ่อแม่ไม่สูงเลยทั้งคู่...ลูกก็จะไม่ค่อยสูง
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูง...ลูกก็จะมีความสูงในระดับกลาง ๆ
โดยทางการแพทย์แล้ว พันธุกรรมทางฝ่ายแม่ มีอิทธิพลต่อการกำหนดส่วนสูงของลูกมากกว่าฝ่ายพ่อ และบางกรณีที่พ่อแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในวัยเด็ก ทำให้ตัวเล็ก ซึ่งไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม แต่ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอกว่า ก็อาจจะตัวสูงกว่าพ่อแม่ได้
2.การเลี้ยงดู
ได้แก่ อาหารและการออกกำลังกาย อาหารที่ช่วยให้กระดูกลูกแข็งแรงและมีการเติบโตได้ดีนั้น ก็คืออาหารที่มีคุณค่าครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้มาเริ่มกันตอนนี้นะคะ แต่ต้องเริ่มกันตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ และระหว่างการตั้งครรภ์ ว่าได้รับสารอาหารเพียงพอแค่ไหน ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จนกระทั่งลูกคลอดออกมา ส่วนการออกกำลังกายก็สำคัญ ถ้าลูกได้ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง กระโดด จะช่วยกระตุ้นให้กระดูกมีการเติบโตดี และมีการหลั่งฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น
3.ไม่ขาดฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโต
การที่กระดูกคนเราจะเจริญเติบโตเต็มที่หรือไม่นั้น มีกลไกควบคุมอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งก็คือ growth hormone ซึ่งควบคุมการเติบโตที่ผลิตมาจากต่อมใต้สมอง กับอีกตัวคือ ไทรอยด์ ที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์บริเวณคอ ฮอร์โมนเหล่านี้จะควบคุมสมดุลของการสร้างกระดูก และทำให้เด็กตัวสูงตามกรรมพันธุ์กำหนดไว้ โดยมีอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นตัวเสริม
การที่ฮอร์โมนจะเติบโตผิดปกติหรือไม่ ต้องดูว่าทั้งสองระบบนี้สมดุลกันหรือเปล่า เหตุเพราะว่ามันทำงานออกฤทธิ์เสริมซึ่งกันและกัน ถ้าร่างกายสร้างฮอร์โมนของการเจริญเติบโตน้อยเกินไป แล้วคุณหมอตรวจพบก็อาจจะให้ฮอร์โมนเสริม แต่กรณีเหล่านี้จะพบว่ามีน้อยมาก ถ้าปกติดี ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มฮอร์โมนค่ะ
การฉีดฮอร์โมนช่วยสูง ต้องระวังสักนิด เพราะมีพ่อแม่บางรายเข้าใจผิด ทั้งที่ส่วนสูงลูกก็ปกติตามเกณฑ์ดี แต่อยากเพิ่มส่วนสูงอีก จะได้เหมือนนางแบบ หรือดารารุ่นใหม่ หยุดความคิดนี้ไว้ก่อนค่ะ เพราะถ้าเด็กไม่ได้ขาดฮอร์โมน แต่เราฉีดเข้าไป กลับจะมีผลเสียมากกว่า เช่น ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หากฉีดไปนานๆ เด็กอาจมีสิทธิเป็นเบาหวานได้
4.ภาวะเจ็บป่วย
หากเด็กไม่สบายบ่อย มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังบางอย่าง เช่น เป็นหอบ หืด ต้องรักษากันยาวนาน กระบวนการรักษา ตลอดจนการใช้ยาบางอย่าง ก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ ควรต้องระมัดระวัง ไม่ให้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะอย่างแรง (หรือบ่อย ๆ) เช่น หกล้ม ตกชิงช้า ตกบันได ศีรษะกระแทกพื้น ล้วนส่งผลเช่นเดียวกัน
5.ความเครียด
อาจเครียดจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว โรงเรียน โดยเฉพาะการเรียนในปัจจุบันมุ่งเน้นผลสำเร็จ และการแข่งขันสูง ส่งผลให้เด็กเครียดมากขึ้น ความเครียดนี่แหละค่ะ มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ
เมื่อไรต้องพาลูกไปพบหมอ
ดูจากปัจจัยทั้ง 5 ตัวแล้ว ไม่น่าวิตกกังวลอย่างที่คิดเลยใช่ไหมคะ ยกเว้นก็แต่ ปัจจัยเรื่องฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโตที่บกพร่องไปเท่านั้นเอง(แต่ก็พบได้น้อยมาก) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจดูความผิดปกติของลูกได้ตั้งแต่หลังคลอด จนถึงช่วง 5-6 เดือนแรก
แต่สำหรับพ่อแม่วัย Kids ถ้าจะให้ย้อนกลับไปดูคงไม่ทันการ ก็สามารถสังเกตได้ตอนที่ลูกอายุ 3-4 ขวบนี่แหละค่ะ สิ่งสำคัญคือควรจดบันทึกการเจริญเติบโตเป็นระยะ ๆ หากลูกไม่ค่อยสูงขึ้นเลย (เปรียบเทียบได้จากตารางที่ให้มา) ควรรีบพามาให้หมอตรวจ คุณหมอจะได้ดูว่าลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องติดตามดูในระยะยาวอีกสักพักหนึ่ง จึงจะบอกได้
ค่าเฉลี่ยความสูงปกติของเด็ก
อายุ (ปี) - อัตราการเพิ่มความสูง / ปี (เซ็นติเมตร)
แรกเกิด-1 ปี 25 ซม.ต่อปี
1 - 2 ปี 10 - 12 ซม.ต่อปี
2 - 4 ปี 7 - 8 ซม.ต่อปี
4 - 8 ปี (เด็กผู้หญิง) 5 ซม.ต่อปี
4 - 9 ปี (เด็กผู้ชาย) 5 ซม.ต่อปี
9 ปีขึ้นไป มากกว่า 5 ซม.ต่อปี
13 - 16 ปี (เด็กผู้หญิง) 5 - 7.5 ซม.ต่อปี
15 - 18 ปี (เด็กผู้ชาย) 5 - 7.5 ซม.ต่อปี
ไขข้อข้องใจกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการกำหนดความสูงของลูกแล้ว เรื่องที่ลูกจะสูงหรือไม่ กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยใช่ไหมคะ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ ถ้าไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่น (ยกเว้นถ้าเป็นภาวะความผิดปกติ ก็ต้องหาทางช่วยกัน) เราก็จะไม่รู้สึกเลยกับตัวเลขของส่วนสูง ว่าจะน้อยหรือมาก ขอเพียงลูกเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ก็สร้างความสุขให้พ่อแม่ได้มากมายแล้วล่ะ..
ความเชื่อ VS ความจริง เรื่องแคลเซียมช่วยสูง
ความเชื่อ : ถ้ากินแคลเซียมมาก ๆ จะช่วยให้ลูกสูงขึ้นได้
ความจริง : นั่นเป็นความเข้าใจถูกแค่ส่วนหนึ่ง เพราะต่อให้กินแคลเซียมมากแค่ไหน แต่ขาดสารอาหารอื่น โดยเฉพาะโปรตีน แคลเซียมก็จะไม่สามารถเกาะอยู่บนพื้นกระดูกได้ ดังนั้นเด็กจึงต้องได้รับพลังงานจากสารอาหารต่าง ๆ ครบ 5 หมู่อย่างเพียงพอด้วย ร่างกายจึงจะเจริญเติบโตมีทั้งกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และกระดูกที่เติบโตได้อย่างดี แต่ถ้ากินทุกอย่างแต่ขาดแคลเซียม กระดูกก็จะไม่แข็งแรงและจะไม่สูง
แคลเซียมมีมากในนม และอาหารประเภทนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต นอกจากนี้ยังมีในปลาซาร์ดีน(ชนิดมีก้างบรรจุกระป๋อง) กุ้งน้ำจืด กุ้งแห้ง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เต้าหู้ และผักใบเขียว เช่น ใบขึ้นฉ่าย ใบชะพลู ผักขม ยอดแค ใบยอ มะเขือพวง
Tip: วิธีวัดความสูงลูกด้วยตัวเอง
1.หาบริเวณที่มีพื้นเรียบเสมอกัน ฝาผนังอาจเป็นปูนหรือไม้ก็ได้
2.นำเทปกาวมาขึงบนผนัง ใช้สายวัดที่ได้มาตรฐานวัด และขีดตัวเลขไว้บนเทปกาวเป็นระยะ ๆ
3.ให้เด็กถอดรองเท้า ยืนชิดผนัง โดยหันหน้าออก อวัยวะทุกส่วนคือส้นเท้า ท้ายทอย หลัง สะโพก และน่อง แนบติดผนัง ไม่เขย่ง ไม่งอเข่า และให้มองตรงไปข้างหน้า คุณพ่อคุณแม่ทดสอบได้ด้วยการใช้มือจับบริเวณคางไปถึงหลังใบหูของลูก มองตาเขาแล้วพยายามยกขึ้น ดูว่าเหยียดเต็มที่หรือยัง ให้ขอบตากับรูหูขนานกับพื้น แล้วหยิบหนังสือหรือกล่องอะไรก็ได้ วางไว้ข้างบน แล้วเลื่อนลงมาบนศีรษะลูก ได้แค่ไหนขีดเอาไว้ ทำแบบนี้ 3 ครั้ง แต่ละครั้งต่างกันไม่เกิน 3 ม.ม. เอาค่าความความสูงนั้นมาเฉลี่ย จะได้ความสูงที่แท้จริงของลูก
4.หรือจะวัดแนวนอนก็ได้ แถมไม่ยุ่งยากด้วย แต่ต้องหาผนังที่แข็งแรง เช่น ผนังปูน ให้ลูกนอนหงาย ตั้งฉากกับผนัง โดยให้ศีรษะชิดผนัง จับขาเหยียดตรง ฝ่าเท้าไม่งอ และวัดความยาว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก