ระวัง...หูหนูติดเชื้อ

แม่และเด็ก

ระวัง...หูหนูติดเชื้อ
(modernmom)
เรื่อง : พญ.ศิริเพ็ญ มุขบัณฑิตพงษ์
    
           สุขภาพของเจ้าตัวเล็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ เป็นกังวลไม่น้อยค่ะ โดยเฉพาะความเจ็บป่วย ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่ยากจะมองเห็นได้อย่างหู ซึ่งเชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญภายใน ดังนั้นคุณหมออยากชวนพ่อแม่ทุกท่านมาเรียนรู้โรคหู ที่สามารถเกิดกับลูกได้ พร้อมการสังเกตและการรับมือค่ะ

หูชั้นนอกอักเสบ

           เป็นการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือเชื้อไวรัส มักจะเกิดกับเด็กวัย 5-10 ปีขึ้นไป (โดยเฉพาะเด็กวัยที่ว่ายน้ำได้)

           สาเหตุ น้ำเข้าหู แคะหู หรือมีขี้หูค้างอยู่ในรูหูมาก เมื่อมีน้ำเข้าหูก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้

           อาการ ปวดหู เด็กจะเอามือป้องหูไว้ไม่ยอมให้จับ แน่นในหู คันหู หูอื้อ มีไข้อาจมีน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหล หากตรวจหูจะพบช่องหูบวมแดงหรือเป็นฝี มีหนองเยื่อแก้วหูอาจปกติหรือบวมแดงก็ได้ ถ้าการอักเสบจากเชื้อราก็จะเห็นเป็นสปอร์สีต่าง ๆ เช่น สีขาว สีดำ สีเหลืองอยู่ในรูหู การอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ยังไม่เคยพบว่ามีการลุกลามเข้าสู่สมอง แต่หูอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น งูสวัดสามารถลุกลามเข้าสู่หูชั้นในและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ได้ ทำให้มีอาการหน้าเบี้ยวสูญเสียการได้ยิน เวียนศีรษะได้

การรักษา

          คือการทำความสะอาดช่องหูด้วยการดูดหรือล้างร่วมกับใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อราหยอดหู ในรายที่มีไข้ มีอาการอักเสบมากหรือเป็นฝีควรฉีดยาปฏิชีวนะ

หูชั้นกลางอักเสบ

           เป็นการอักเสบของช่องหูชั้นกลาง (โพรงอากาศเล็ก ๆ ระหว่างเยื่อแก้วหูและช่องหูชั้นใน) และท่อยูสเตเชี่ยน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับจมูก ทำหน้าที่ในการปรับความดันหู) พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 11 ปี และพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 11 เดือน

สาเหตุ

           1. เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คออักเสบ ต่อมทอนชิลอักเสบ ต่อมอดีนอยด์อักเสบ ไซนัสอักเสบ โดยเชื้อโรคจะผ่านจากคอหรือจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน โดยท่อนี้จะเปิดเฉาะเวลาหาว กลืน ไอ จามหรือสั่งน้ำมูก อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ค่อยมีอาการปวดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียมักจะทำให้มีไข้ ปวดหูมาก และจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

           2. ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ อาจเกิดการบวมหรืออุดตัน

           3. ภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน

ปัจจัยเสี่ยง

           1. อายุ เนื่องจากในเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ท่อยูสเตเชี่ยนจะมีขนาดเล็ก สั้น และวางตัวในแนวราบกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากจมูกและคอได้ง่าย

           2. เพศ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

           3. กรรมพันธุ์ หากมีพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นหูอักเสบบ่อย ๆ พบว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนมากขึ้น

           4. บุหรี่ หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่ จะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และติดเชื้อในหูชั้นกลางด้วย

           5.การดูดขวดนม โดยเฉพาะการนอนดูดนม จะทำให้เกิดการอุดตัน สำลักนมเข้าท่อยูสเตเชี่ยน ดังนั้นหากจำเป็นต้องให้นมด้วยขวด ควรให้ในท่าที่ศีรษะเด็กสูงกว่ากระเพาะ

           6.เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ เช่น เด็กที่ขาดนมแม่เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี

           7.เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก พบการเกิดหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น

           8.เด็กที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ดาวน์ซินโดรม

อาการที่สังเกตได้

           ปวดหูมาก(อาการปวดจะลดลงเมื่อแก้วหูทะลุ มีหนองไหล) ผู้ป่วยจะปวดลึก ๆ และปวดมากจนร้องหรือดิ้น

           มีไข้สูง ถ้าเป็นเด็กอาจชักได้ ร้องกวน งอแง โดยเฉพาะตอนกลางคืน

           มีน้ำหนองไหลจากหู

           มีปัญหาเรื่องการได้ยิน หูอื้อ หรือได้ยินเสียง “ป๊อป” ในหูเวลาเคี้ยว กลืนหรือหาว

           หากปล่อยทิ้งไว้หลายวันจะทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

           1.มีอาการปวดหู หูอื้อ และเป็นไข้หรือสงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

           2.มีอาการปวดหู หูอื้อ โดยไม่มีไข้และไม่สงสัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรไปพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

การรักษา

           การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ คือ การให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน(Amoxycillin) โคไตรม็อกซาโซล(Co-trimoxazole) อีริโทรไมซิน(Erythromycin) เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย 10-14 วัน ร่วมกับยาแก้ปวด ลดบวมและรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของหูอักเสบร่วมไปด้วย เช่น จมูกหรือไซนัสอักเสบ หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเจาะแก้วหู เพื่อดูดน้ำออกและใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหู

การป้องกัน

           1.ควบคุมภาวะภูมิแพ้ โดยการกำจัดสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ ดอกไม้ เป็นต้น

           2.ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน นักวิจัยพบว่า เด็กที่ดื่มนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก จะมีภาวการณ์ติดเชื้อของหูชั้นกลาง ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อได้

           3.เวลาเด็กดื่มนมและรับประทานอาหาร พยายามให้ลูกอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว อย่าให้เด็กหลับไปพร้อมกับขวดนมที่คาอยู่ในช่องปาก

           4.งดสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือสถานที่เลี้ยงเด็ก

           5.เปลี่ยนสถานบริการรับเลี้ยงเด็กจากขนาดใหญ่(หลายคน)มาเป็นขนาดเล็ก

           6.การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส(Pneumococcalvaccine) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ พบรายงานการลดลงของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ประมาณ 32%

ภาวะแทรกซ้อน

           ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนได้

           1.แบบไม่รุนแรง ได้แก่ เยื่อแก้วหูทะลุ ภาวะการได้ยินบกพร่องมีน้ำหนองไหลจากหูแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หูหนวก หูตึง เกิดภาวะผิดปกติของกระดูกหู และเนื้องอกที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง

           2.แบบไม่รุนแรง คือภาวะที่มีการลุกลามของเชื้อโรคเข้าสู่โพรงกระดูกมาสตอยด์ หูชั้นใน และสมอง ได้แก่ โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ(Mastoiditis ซึ่งจะมีไข้สูงร่วม หลังหูบวมและกดแล้วเจ็บ ปวดบริเวณกระดูกมาสตอยด์) หน้าเบี้ยว หูชั้นในอักเสบ (ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และเห็นบ้านหมุน) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีหนองในเยื่อหุ้มสมอง หรือในเนื้อสมอง เลือดแข็งตัวในเส้นเลือดในสมอง และสมองบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ซึมกระสับกระส่าย อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง

หูชั้นในอักเสบ

           หูชั้นในทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว หูชั้นในอักเสบพบได้น้อย มักพบในเด็กเล็กวัย 0-3 ปี หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยแข็งแรง

           สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งแพร่กระจายมาจากจมูกและลำคอ ผ่านท่อยูสเตเชี่ยนเข้าสู่หูชั้นใน มักเกิดตามหลังการติดเชื้อไข้หวัด คางทูม เป็นต้น บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบ

           อาการ ที่พบบ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึม เดินเซ หูอื้อ แขนขาอ่อนแรง ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ โรคหูติดเชื้อไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากคุณพ่อคุณแม่ทราบวิธีการสังเกต เมื่อพบความผิดปกติ ก็สามารถพาลูกไปพบคุณหมอได้อย่างทันท่วงทีค่ะ


     
  คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ   


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.189 กรกฎาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง...หูหนูติดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15:40:28 60,936 อ่าน
TOP
x close