โรคไอกรนในเด็ก อันตรายแค่ไหน ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง

          โรคไอกรนในเด็ก ต้องรับมือยังไง คำถามที่พ่อแม่หลายคนสงสัย ว่าหากลูกเป็นโรคไอกรนจะมีอาการอย่างไร และอันตรายไหม เรามีคำตอบมาบอกกัน
โรคไอกรนในเด็ก อันตรายแค่ไหน ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง

          จากกรณีข่าว โรงเรียนดังประกาศปิดเรียน 2 สัปดาห์ หลังพบเด็กป่วยไอกรน โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ที่เมื่อไอ จาม หรือมีน้ำมูก ก็จะสามารถเเพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งค่อนข้างอันตรายมาก ทำให้พ่อแม่หลายคนต่างเกิดความกังวลและอดสงสัยไม่ได้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมสาเหตุและอาการของโรคไอกรนในเด็ก รวมถึงวิธีป้องกันโรคนี้ มาแนะนำ ตามไปดูกันเลย

โรคไอกรน คืออะไร

          โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Bordetella pertussis พบได้ทุกวัย โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งโรคไอกรนในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมาก ติดต่อโดยการไอ จาม ใส่กัน มีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนคือ การไอเป็นชุด ๆ รุนแรง จนหายใจไม่ทัน ตามมาด้วยเสียงหายใจออกดังวู้บ ๆ สลับกัน

โรคไอกรน อาการเป็นยังไง

  • ระยะติดเชื้อ (catarrhal stage) อาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล และไอเล็กน้อย ระยะนี้อาจเป็นประมาณ 1-2 สัปดาห์ และสามารถเเพร่กระจายโรคได้มากที่สุด
  • ระยะไอรุนเเรง (paroxysmal stage) ในช่วงนี้อาการไอจะมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไอเป็นชุด ๆ ต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งทำให้หายใจลำบากและหายใจออกมีเสียงกรน อาจมีอาการไอจนเกิดการอาเจียน ระยะนี้อาจนานหลายสัปดาห์
  • ระยะฟื้นตัว (convalescent stage) ในระยะนี้อาการไอจะค่อย ๆ ลดลง แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะหายสนิท

วิธีป้องกันและรักษา โรคไอกรน

  • การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง โดยปกติจะฉีดวัคซีน DTaP ซึ่งป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก
  • การรับประทานยาปฏิชีวนะ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • การดูแลสุขอนามัยต่าง ๆ เช่น ปิดปากด้วยกระดาษทิชชูก่อนไอหรือจาม และล้างมือให้สะอาด เนื่องจากไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ การมีสุขอนามัยที่ดีจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อลงได้
โรคไอกรนในเด็ก อันตรายแค่ไหน ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง

          ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ลูกน้อย และใส่ใจเรื่องการรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในเด็ก เพียงเท่านี้ก็จะรู้เท่าทันโรคและช่วยให้ลูกรักปลอดภัยจากโรคไอกรนได้แล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthychildren.org, ddc.moph.go.th, rama.mahidol.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคไอกรนในเด็ก อันตรายแค่ไหน ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13:54:34 4,786 อ่าน
TOP
x close