อาการโควิดในทารก จะเป็นอันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไรบ้าง ?

         อาการโควิดในทารก ต้องรับมือยังไง คำถามที่คุณแม่หลายคนสงสัย ว่าหากลูกน้อยติดโควิดจะมีอาการอย่างไร และเป็นอันตรายหรือไม่ เรามีคำตอบมาบอกกัน
ทารกติดโควิด

          ผู้ปกครองหลายคนอาจมีความกังวลเมื่อทารกติดโควิด 19 โดยส่วนใหญ่สาเหตุที่เด็กติดโควิดมักมาจากการสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยไม่มีการป้องกันและไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสม วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเด็กติดโควิดต้องดูแลอย่างไร พร้อมแนวทางการป้องกันโรคติดเชื้อโควิดในเด็ก เพื่อให้ปลอดภัยกับทารกและผู้ปกครองมาฝากกันค่ะ

ทารกติดโควิด

         คุณพ่อคุณแม่ที่ลูก ๆ อายุต่ำกว่า 1 ขวบ ติดโควิด 19 นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะโควิดในทารกมักมีอาการมากกว่าเด็กโต ด้วยระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กและร่างกายที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งอาการโควิดในเด็กโตส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่นั่นเอง

อาการโควิดในทารก

          การสังเกตอาการโรคโควิด 19 ในเด็กแรกเกิด ควรพิจารณาร่วมกับประวัติการสัมผัสโรคกับผู้ปกครองหรือผู้ใกล้ชิดที่ติดเชื้อโควิด 19 ด้วย โดยหากทารกมีอาการดังนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาต่อไป
  • ซึมลง ดูดนมได้น้อยลง
  • ตัวร้อน มีไข้
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง หรือมีเสมหะ
  • หายใจติดขัด หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหายใจมีเสียงดัง
  • อาเจียน ท้องเสีย
  • ผื่นขึ้นตามตัว

การดูแลเมื่อทารกติดโควิด

         สำหรับการติดโควิดในเด็กแรกเกิด สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
  • ระดับที่ 1 เด็กติดโควิดในระยะนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวและกักตัวที่บ้านได้ เช่น มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารและนมได้ตามปกติ
  • ระดับที่ 2 เด็กติดโควิดในระยะนี้จะมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส มีอาหารหอบเหนื่อย หายใจลำบากกว่าปกติ อกบุ๋ม ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง ไม่อยากอาหารและนม หากมีอาการเหล่านี้ผู้ปกครองควรรีบติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กไปส่งโรงพยาบาลทันที
ทารกติดโควิด

แนวทางการป้องกันโรคโควิดในทารก

          เนื่องจากยอดการติดโควิดในเด็กเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงได้แนะนำวิธีและแนวทางในการป้องกันไม่ให้ทารกติดโควิด ดังนี้

หมั่นดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

          หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก และปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ถ้าหากเด็ก ๆ จามต้องปิดปากและปิดจมูกด้วยกระดาษทิชชู หรือใช้มือปิดไว้ และเอาทิชชูไปทิ้งในถังขยะพร้อมทั้งล้างมือให้สะอาด

การฆ่าเชื้อและทำความสะอาดบ้าน

          ในกรณีที่มีเด็กติดโควิดกักตัวอยู่ในบ้าน หรืออยู่ร่วมกับคนติดโควิด ผู้ปกครองควรล้างมือด้วยสบู่กับน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า 70% ทุกครั้งหลังจากจับสิ่งของและของเล่นที่เด็กใช้ รวมไปถึงการสัมผัสตัว เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปู และควรเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

          โควิดในทารกเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากเด็กแรกเกิดมีอาการป่วย และมีประวัติสัมผัสผู้ปกครองหรือผู้ใกล้ชิดที่ติดเชื้อโควิด 19 ควรพาเด็กแรกเกิดมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการ และตรวจหาเชื้อโควิด 19 เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : samitivejchinatown.com, vichaivej-omnoi.com, phyathai.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการโควิดในทารก จะเป็นอันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:10:30 14,952 อ่าน
TOP
x close