ปลูกฝีในทารก คืออะไร ต้องทำไหม ทำความเข้าใจพร้อมดูแลลูกน้อยกัน

          ปลูกฝีในทารก คืออะไร จำเป็นต้องทำหรือไม่ ควรปลูกฝีในทารกตอนกี่เดือน แล้วอาการของลูกน้อยจะเป็นอย่างไร พ่อแม่มีวิธีในการดูแลยังไงบ้าง มีคำตอบค่ะ
ปลูกฝีในทารก

          ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะสังเกตเห็นว่าที่ต้นแขนมีแผลเป็นเล็ก ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งแผลนั้นเกิดจากการปลูกฝี หรือทำความเข้าใจง่าย ๆ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั่นเอง แล้วเด็กสมัยนี้จำเป็นต้องปลูกฝีทารกหรือไม่ ควรทำตอนกี่เดือน แล้วอาการจะเป็นยังไง ไปทำความรู้จักการปลูกฝีในทารก พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยกันเลย

ปลูกฝีในทารกคืออะไร

          การปลูกฝี คือ การฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เนื่องจากทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เสี่ยงในการติดโรคจากเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย โดยการฉีดวัคซีน BCG เข้าที่บริเวณต้นแขนของเด็กจะทำให้เกิดแผลเป็น จึงเรียกว่าการปลูกฝีค่ะ ในปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีน BCG เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่ทารกแรกเกิดต้องได้รับการฉีดทุกคน และสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ ซึ่งวัคซีนนี้มีฤทธิ์ป้องกันวัณโรคชนิดลุกลามและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (TB meningitis) ได้กว่า 60-80% แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรควัณโรคปอด

แผลปลูกฝีในทารกเป็นยังไง

          ลักษณะของแผลปลูกฝี ผิวตรงต้นแขนของทารกจะเกิดเป็นตุ่มนูน จากนั้นจะแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ มีหนองบ้าง และจะเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ไปประมาณ 6 สัปดาห์ จึงจะหายเป็นปกติ ส่วนจะเป็นแผลเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะบางคนก็ไม่เกิดแผลเป็นก็มี

ปลูกฝีในทารกแล้วเป็นหนอง ทำยังไง

          ในบางเคส หากฉีดวัคซีนหรือปลูกฝีแล้วเกิดเป็นหนองจะต้องทำยังไงดี คำตอบคือ ถ้าเป็นฝีหนองไม่แตก ไม่ต้องทำอะไร และห้ามบ่งหนองโดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากบริเวณนั้นบวมขึ้น หนองแตก คลำได้ก้อนที่รักแร้ซ้ายบวม หรือคลำต่อมน้ำเหลืองได้ใหญ่เกิน 1.5 เซนติเมตร ให้พาลูกไปหาหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
ปลูกฝีในทารก

อาการแทรกซ้อนของการปลูกฝีในทารก

           อันที่จริงแล้วภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเจอน้อยมาก ประมาณ 0.06-1.56 ราย ต่อการฉีดวัคซีน 1,000,000 โดส และมักเจอในเด็กที่มีโรคของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่รุนแรง เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ กระดูกอักเสบ และการติดเชื้อ BCG แบบแพร่กระจาย โดยภาวะเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านวัณโรค โดยเฉพาะ INH (Isoniazid) เป็นระยะเวลานาน 2-3 เดือนขึ้นไป

วิธีดูแลลูกหลังปลูกฝี

          คุณพ่อคุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยได้ตามปกติ เพียงแค่ดูแลความสะอาดแล้วซับน้ำบริเวณแผลให้แห้ง โดยใช้สำลีสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วนำมาเช็ดบริเวณรอบ ๆ แผล พยายามไม่ให้โดนแผลโดยตรง และไม่ควรใส่ยาใด ๆ หรือใช้ผ้าพันแผลไปพันทับ ควรให้ลูกใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ โปร่ง ๆ หรือเป็นแขนกุด เพื่อไม่ให้เสียดสีกับบริเวณที่ปลูกฝี แผลจะค่อย ๆ แห้งและหายดีเอง

          สรุปแล้วการปลูกฝีในทารกเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกคน เพราะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวหรือดูแลยากอย่างที่คิด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกตามใจหมอ, story.motherhood.co.th, thaipbskids.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลูกฝีในทารก คืออะไร ต้องทำไหม ทำความเข้าใจพร้อมดูแลลูกน้อยกัน อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2567 เวลา 17:04:02 9,899 อ่าน
TOP
x close