6 Tips…เลี้ยงลูกเป็นหนูน้อย Kid Creative

แม่และเด็ก

6 Tips…เลี้ยงลูกเป็นหนูน้อย Kid Creative
(รักลูก)

          เชื่อเถอะค่ะว่าเกือบจะทุกคนของพ่อแม่ยุคนี้ อยากให้ลูกเป็นเด็กเก่ง ฉลาด มีความสามารถรอบด้าน แต่การที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นหนูน้อย Kid Creative ผู้เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจในตัวเอง และเก่งรอบด้านนั้น จะต้องเริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุน หรือส่งเสริมอย่างไรให้เหมาะกับลูก ดิฉันมี 6 เคล็ดลับดี ๆ มาบอกกันค่ะ

1.เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง

          เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการสร้างลูกให้เป็นหนูน้อย Kid Creative ค่ะ เพราะการที่เราปิดกั้นหรือตั้งกรอบความคิดให้ลูก ก็เท่ากับปิดประตูแห่งจินตนาการและการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของเขา

          การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เขามีส่วนในการตัดสินใจ หรือได้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่าง ๆ ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าทำ เช่น หากครอบครัวมีการวางแผนจะไปเที่ยวต่างจังหวัด คุณแม่อาจถามลูกว่า "เราจะไปเที่ยวที่ไหนกันดี ไปกันกี่วันดีนะ" หากเขามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เขาก็จะแฮปปี้กับกิจกรรมนั้นมากขึ้น เมื่อมีความสุขย่อมเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพตามมาค่ะ

2.ตอบคำถามลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุด

          ในช่วงวัยเยาว์ลูกจะเป็นเจ้าหนูช่างสงสัยค่ะ คือถามทุกอย่างที่ขวางหน้า จึงควรถือโอกาสนี้ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกด้วยการตอบคำถาม และฝึกให้เขาต่อยอดความคิดอย่างสร้างสรรค์ เริ่มได้จากเรื่องใกล้ตัว เช่น "หนูรู้ไหมว่าทำไมดอกไม้มีสีที่ต่างกัน" หรือ "เอ๊ะ! ทำไมแมลงถึงต้องมาดูดน้ำหวานจากดอกไม้สีสวย ๆ นะ" เพื่อช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และอยากหาคำตอบของลูกแล้วเมื่อลูกถาม เราก็ช่วยอธิบายให้เขาฟัง หรือหากิจกรรมสนุก ๆ ให้ลูกได้ต่อยอดความคิด เช่น ชวนลูกจดบันทึกหรือวาดรูประบายสีดอกไม้ที่เห็น เขาจะได้สังเกตรายละเอียดของดอกไม้มากขึ้น แม้ภาพที่ลูกกำลังวาด เป็นแค่เส้นยึกยือก็ต้องให้ความสนใจ และถามถึงภาพวาดที่ลูกกำลังวาดอย่างตั้งใจนะคะ เพื่อต่อยอดคำถามให้ลูกได้เล่า ได้ลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ลูกก็จะได้เรียนรู้ว่าทุกคำถามมีคำตอบและหาคำตอบได้เสมอ

3.สร้างความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งรอบตัว

          คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้จากสิ่งรอบ ๆ ตัวค่ะ เช่น อาจให้ลูกลองหาข้อมูลจากหนังสือ จากเว็บไซต์ หรือให้เขาคิดขึ้นเองว่าอยากจะทำอะไรหรืออยากประดิษฐ์อะไร แล้วก็ให้เขาได้ลองประดิษฐ์ด้วยตัวเอง โดยคุณพ่อคุณแม่ทำร่วมกับลูกด้วย เขาก็จะได้พูดคุยหรือแชร์ความคิดกับเรา การพาเขาไปดูงานศิลปะ หรือได้ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ นอกจากเขาจะได้ความรู้รอบตัวแล้ว ลูกยังได้ต่อยอดทางความคิดและจินตนาการอีกด้วย

4.กระตุ้นการเรียนรู้...ด้วยการลงมือทำ

          หากอยากให้ลูกได้เรียนรู้และซึมซับกับสิ่งใด การให้เขาได้ลงมือทำจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด อีกวิธีหนึ่งก่อนอื่นเราต้องตัดคำว่า "อย่า" ออกไป เพราะคำนี้เป็นตัวการสำคัญที่จะสกัดกั้นพัฒนาการลูกเลยล่ะค่ะ


          คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจและเปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการเล่นหรือทำสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะการที่ลูกสนุกกับการลงมือทำ จะช่วยต่อยอดการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ต่อจิ๊กซอว์ ปั้นแป้งโดว์ ก่อนปั้นลองชวนลูกมาทำแป้งโดว์ด้วยกัน ลูกก็จะได้รู้ขั้นตอนการทำก่อนที่จะเป็นแป้งโดว์ที่ปั้นได้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และหากเขาได้ลงมือด้วยตัวเองก็จะรู้สึกภูมิใจค่ะ

          ส่วนคุณพ่ออาจเตรียมอุปกรณ์การต่อวงจรไฟฟ้าให้เขาได้ลองผิดลองถูก เพื่อเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคอยให้คำชี้แนะและดูแลเรื่องความปลอดภัยอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจพาลูกไปเรียนรู้นอกบ้าน ให้เขาได้สนุกกับการเดินเล่น เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวได้เล่นเลอะเทอะบ้าง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่

5.เปลี่ยนบรรยากาศครอบครัวให้เอื้อต่อการเรียนรู้

          การทำบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ย่อมส่งผลให้การเรียนรู้ของลูกดีไปด้วย รวมทั้งการทำกิจกรรมร่วมกับลูกที่บ้าน เช่น อาจจัดงานสังสรรค์เล็ก ๆ ในหมู่ญาติ นอกจากลูกจะได้พบปะกับญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังทำให้เขาได้เรียนรู้คำสอนต่าง ๆ จากปู่ย่าตายายมาถ่ายทอดให้หลานฟัง บางทีคุณย่าคุณยายอาจชวนหลานเข้าครัว ให้เขาแสดงฝีมือการทำขนมด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้การจัดโต๊ะอาหาร การตกแต่งงานปาร์ตี้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ช่วยออกแบบติดไฟประดับสีสันสวย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยปูพื้นฐานให้ลูกเรามีทักษะในการใช้ชีวิต ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น และยังมีความมั่นใจในการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น

6.ไม่คาดหวังกับลูกมากเกินไป

          คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังกับลูกมากจนเกินไป เพราะการคาดหวังนั้นอาจจะสร้างความกดดัน และปิดกั้นโอกาสเรียนรู้อย่างอิสระของลูก ฉะนั้นหากเขาต้องการเรียนรู้ เล่น หรือจะทำอะไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจในศักยภาพที่มีของลูกและไม่คาดหวัง ที่สำคัญคือการให้กำลังใจ และชื่นชมเมื่อเขาทำอะไรได้สำเร็จ เพียงแค่นี้ลูกก็จะรู้สึกมั่นใจในตัวเอง และกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

          นอกจากเคล็ดลับ 6 ข้อนี้แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นเติมเต็มให้ลูกอยู่เสมอก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด เพื่อส่งเขาให้เป็นคนที่เก่ง มั่นใจในตัวเอง และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ในอนาคตค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 341 มิถุนายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 Tips…เลี้ยงลูกเป็นหนูน้อย Kid Creative อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:03:54 1,558 อ่าน
TOP
x close