ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร ทำความรู้จักภาวะตัวเหลือง พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

          ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร หากเกิดภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่ แล้วจะมีวิธีแก้ หรือดูแลลูกน้อยอย่างไรให้หายดี มาดูกัน
ทารกตัวเหลือง

          คุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งมีลูกแรกเกิดอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทารกที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงตามปกติ ซึ่งเรื่องภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ก็จัดเป็นอีกหนึ่งความกลุ้มใจของพ่อแม่ไม่น้อย และกังวลว่าจะต้องดูแลหรือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เขากลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ กระปุกดอทคอมจึงขอพาไปหาคำตอบว่า ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร หากใครประสบปัญหานี้อยู่ ตามมาดูคำตอบพร้อม ๆ กันค่ะ

ภาวะทารกตัวเหลือง คืออะไร

          เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นความผิดปกติคือเขาจะมีสีผิวที่เหลือง บางครั้งรวมไปถึงตาขาวด้วย ซึ่งการที่ลูกตัวเหลืองเกิดขึ้นเมื่อมี “บิลิรูบิน” ในเลือดมากเกินไป ซึ่งบิลิรูบินเป็นสารสีเหลืองที่มาจากการแตกตัวตามปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยตับจะกำจัดบิลิรูบินออกจากเลือดและส่งต่อไปยังลำไส้เพื่อให้สามารถขับออกจากร่างกายได้ ทว่าตับของทารกแรกเกิดไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ ส่งผลให้เขาตัวเหลืองนั่นเอง ซึ่งภาวะนี้จะเป็นภาวะเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคดีซ่าน คือมีความผิดปกติของตับ แต่ในกรณีของทารกนั้นอาการนี้จะสามารถหายได้เมื่อเขาโตขึ้น

สาเหตุของทารกตัวเหลือง

เกิดจากอะไร

          การมีภาวะตัวเหลือง หรือโรคดีซ่านในทารก สามารถเกิดขึ้นได้แม้เขาจะสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เนื่องจากทารกแรกเกิดมีเซลล์เม็ดเลือดมากกว่าผู้ใหญ่ ทว่าเซลล์เม็ดเลือดเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น บิลิรูบินจึงถูกสร้างมากขึ้นเมื่อเซลล์แตกตัว โดยอาการตัวเหลืองนี้จะปรากฏหลังจากทารกเกิดได้ 2-4 วัน และจะหายไปเมื่อทารกอายุได้ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ลูกน้อยมีภาวะตัวเหลืองได้ อาทิ
  • คลอดก่อนกำหนด - ทารกที่คลอดก่อนกำหนดร่างกายจะไม่แข็งแรงพอ ดังนั้น ตับจึงมีความสามารถในการกำจัดบิลิรูบินน้อยลง อีกทั้งอาจจะมีปัญหาเรื่องระดับบิลิรูบินต่ำกว่าทารกที่คลอดตามปกติ จึงทำให้ลูกตัวเหลืองนั่นเอง
  • ได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ - มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากน้ำนมแม่ยังไม่ออก หรือทารกมีปัญหาในการกินนมแม่ อาการตัวเหลืองแบบนี้เรียกว่าตัวเหลืองจากการกินนมแม่ วิธีการดูแลคือ พยายามป้อนนมให้บ่อยขึ้น โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการทารกเพื่อหาอาหารเสริมที่เหมาะสมเพิ่มเติม
  • กำลังปรับตัวจากการกินนมแม่ - นมแม่มักมีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้ตับกำจัดบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว โดยเรียกภาวะนี้ว่า โรคดีซ่านจากน้ำนมแม่ มักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ระดับบิลิรูบินจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายใน 3-12 สัปดาห์
  • กรุ๊ปเลือดของลูกต่างจากแม่ - หากแม่และทารกมีกรุ๊ปเลือดที่ต่างกัน ร่างกายของแม่จะสร้างแอนติบอดีที่โจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกรุ๊ปเลือดของแม่คือ O และกรุ๊ปเลือดของลูกคือ A หรือ B หรือ ค่า Rh (โปรตีนที่พบในเซลล์เม็ดเลือดแดง) ของแม่เป็นลบ แต่ค่า Rh ของลูกเป็นบวก
  • มีปัญหาทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเปราะบางมากขึ้น - โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงจะแตกตัวได้ง่ายกว่าในปัญหาสุขภาพ เช่น กรรมพันธุ์ Spherocytosis และ G6PD บกพร่อง
  • ทารกเกิดมาพร้อมกับจำนวนเม็ดเลือดแดงสูง หรือมีรอยช้ำขนาดใหญ่ที่ศีรษะ
ทารกตัวเหลือง

ทารกตัวเหลือง สังเกตยังไง

          บางทีสัญญาณของภาวะตัวเหลืองในทารกอาจจะมองเห็นไม่ชัดเจน แต่หากพ่อแม่เริ่มมีความกังวล ลองสังเกตลูกน้อยดังนี้ค่ะ
  • ลูกจะมีผิวหนังที่มีลักษณะเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากใบหน้า หน้าอก ท้อง และขา รวมถึงตาขาวก็อาจจะเหลืองด้วย
  • ทารกที่มีระดับบิลิรูบินสูงมากอาจง่วงนอน งอแงผิดปกติ หรือมีปัญหาในการกินนม
  • หากทารกมีสีผิวค่อนข้างเข้ม ทำให้มองไม่ออกว่าตัวเหลืองหรือไม่ ให้กดผิวหนังบริเวณจมูกหรือหน้าผากของเขาเบา ๆ ถ้ายกนิ้วออกแล้วผิวบริเวณนั้นเป็นสีเหลือง แสดงว่าเขามีอาการตัวเหลืองแล้ว
          ทั้งนี้ หากลูกมีภาวะตัวเหลืองผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อหาแนวทางรักษาอย่างถูกต้อง

ทารกตัวเหลือง รักษายังไงดี

          การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการตัวเหลือง ระดับบิลิรูบิน และอายุของลูก ซึ่งถ้าเขามีอาการตัวเหลืองเล็กน้อยก็มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายของเขาสามารถกำจัดบิลิรูบินส่วนเกินได้เอง ส่วนถ้าลูกตัวเหลืองจากการกินนมแม่ คุณแม่ก็ควรให้นมลูกบ่อยขึ้น (ประมาณวันละ 8-12 ครั้ง) และหากทารกได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้เสริมนมผง แต่ถ้าอาการตัวเหลืองเป็นนานกว่าปกติและไม่หายสักทีก็ต้องรีบรักษาโดยด่วน ด้วยวิธีการดังนี้
  • เพิ่มอาหารเหลว - เพราะการได้รับอาหารเหลวไม่เพียงพออาจทำให้เขาเกิดภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้ระดับบิลิรูบินสูงขึ้นจนร่างกายขับออกมาไม่ได้
  • การส่องไฟ หรือเข้าตู้อบ - วิธีการคือให้ทารกนอนอยู่ใต้แสงไฟ โดยสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นเพื่อให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงมากที่สุด แสงจะเปลี่ยนบิลิรูบินให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถผ่านออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • การถ่ายเลือด - หากต้องรักษาด้วยวิธีนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากอาการตัวเหลืองยังไม่ดีขึ้นแม้ส่องไฟหรือเข้าตู้อบแล้วก็ตาม ทำให้จำเป็นต้องถ่ายเลือดของทารกกับเลือดที่ได้รับบริจาคมาเพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว

          ทารกตัวเหลือง เป็นภาวะที่น่ากังวลไม่น้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเฝ้าระวังเขาอย่างใกล้ชิดในช่วง 5 วันแรกหลังคลอด เพื่อประเมินอาการและสอบถามคุณหมอได้ทันที หากดูแลเขาอย่างถูกวิธีก็จะทำให้เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรงค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : mayoclinic.org, kidshealth.org, healthline.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร ทำความรู้จักภาวะตัวเหลือง พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2567 เวลา 14:27:33 33,520 อ่าน
TOP
x close