เลี้ยงลูกท่ามกลางสังคมโลกอันโหดร้าย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป หมอเด็กแชร์เคล็ดลับ วิธีเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี ตามตัวละคร มาตาลดา
ละครน้ำดีที่กำลังมีกระแสร้อนแรง พร้อมกับทำให้ใครหลายคนอบอุ่นหัวใจในตอนนี้ คงต้องยกให้กับเรื่อง มาตาลดา ทางช่อง 3 ที่นำแสดงโดย เต้ย จรินทร์พร และ เจมส์ จิรายุ ซึ่งไม่ใช่แค่ความน่ารักสดใสของพระนางเท่านั้น แต่ต้องบอกว่าบทบาทของ “มาตาลดา” หญิงสาวแสนซื่อ มองโลกในแง่ดี สามารถขโมยหัวใจคนดูไปแบบไม่รู้ตัว ยิ่งเนื้อหาที่ชวนให้มองย้อนถึงสถาบันครอบครัวในปัจจุบัน เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ดูละครเรื่องนี้อยู่คงอยากให้ลูก ๆ เติบโตมาอย่างงดงามแบบมาตาลดาบ้าง ดังนั้นอย่ารอช้า เพราะกระปุกดอทคอมมีข้อมูลดี ๆ จากหมอเด็ก เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีมาฝากค่ะ
“มาตาลดา” หรือ “มาตา” นางเอกในละครเรื่องมาตาลดา คนดูจะเห็นว่าเธอนั้นมีลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีความสดชื่นสดใส ดูละครแล้วรู้สึกว่าเธอดูจะมีความสุขอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริง มาตาหรือคนที่มีสุขภาพจิตที่ดีอื่น ๆ ก็ไม่ใช่คนที่ดีพร้อมหรือมีความสุขตลอดเวลานะคะ แต่ก็มีทั้งสุข ทุกข์ เหงา เศร้า ดีใจ เสียใจ ได้ตามธรรมชาติ
คนที่มีสุขภาพจิตดี มักพร้อมที่จะยอมรับ ทำความเข้าใจตัวเองว่า แม้ว่าเราไม่ได้ดีพร้อม แต่เราก็ดีพอ เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีข้อดี-ข้อเสียเป็นธรรมดา และในวันที่มีปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ใจ ก็สามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดได้อย่างเหมาะสม ผ่านพ้นไปได้โดยไม่สะบักสะบอมเกินไปนัก แล้วพ่อแม่จะปลูกฝังให้ลูกมีความคิดความรู้สึกเช่นนี้ได้อย่างไร ?
วิธีเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี
1. พ่อแม่ควรให้ความรัก มีเวลาให้ลูก พูดคุยกับลูก เล่น เล่านิทาน ทำกิจกรรมกับลูกบ่อย ๆ เวลาลูกเล่าอะไรให้ฟังก็รับฟังลูก สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลูกที่เติบโตด้วยการได้รับความรักจะมีความรู้สึกพื้นฐานว่า ฉันก็ดีพอที่จะได้รับความรัก
2. สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป ให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย เด็กที่มีความอดทนอดกลั้น มีความยับยั้งชั่งใจ สามารถควบคุมการกระทำของตัวเอง จะมีความภูมิใจในตัวเอง ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง มากกว่าเด็กที่เอาแต่ใจ ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง
3. สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่างจนเขาติดสบายเกินไป เด็กที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้ อาจถูกบ้างผิดบ้าง จะมีความภาคภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง
4. ชมเชยเมื่อเห็นว่าลูกทำได้ดี เน้นชมเชยที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ต้องเน้นผลลัพธ์
5. เข้าใจพัฒนาการเด็กพื้นฐาน รู้ว่าเด็กวัยนี้ควรทำอะไรได้หรือยังทำไม่ได้ ไม่เร่งรัดเด็กเกินไปจนเป็นความกดดันและทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่ตั้งใจ
6. ถ้าลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรให้เรียนรู้การรับผิดชอบ มีการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม แต่ไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง ให้ลูกรู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงตัวแก้ไข อย่างไรก็ตาม ทุกคนทำผิดได้ และมีโอกาสที่จะปรับปรุงทำให้ดีขึ้น
7. ยอมรับในธรรมชาติและตัวตน ทุกคนมีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ มีข้อดี-ข้อเสีย เป็นปกติมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ตรงนี้จะทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในตัวตน มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เติบโตเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้
8. อย่าเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น บางครั้งคำพูดเช่นนี้มักออกมาเวลาที่พ่อแม่โกรธ โมโหลูก
9. สอนให้ลูกจัดการอารมณ์ เวลามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ ก็เข้าใจและตระหนักในอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย เด็กที่จัดการอารมณ์ได้ดีจะมีความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง
10. เวลาที่ลูกมีปัญหา อย่าเพิ่งรีบช่วยทุกเรื่อง ลองให้ลูกได้แก้ไขปัญหาเองเท่าที่ทำได้ ถ้าไม่ไหวค่อยช่วย การที่ลูกได้แก้ปัญหาเองจะทำให้มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้ แม้ว่าแก้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ลอง เขาจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เวลาเจอปัญหาในอนาคตจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ถ้าได้ดูละครก็จะเห็นว่า “พ่อเกรซ” ซึ่งเป็นพ่อของมาตาลดานั้นได้เลี้ยงลูกสาวมาด้วยความรักและอบอุ่น ให้ความใกล้ชิด และมีลักษณะการเลี้ยงลูกตามที่หมอได้เขียนมาข้างต้นหลาย ๆ ข้อ หมอคิดว่าตรงนั้นเองที่ทำให้มาตาลดาเติบโตมาได้อย่างที่เธอเป็นในทุกวันนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับทุกคนที่ได้อ่านไม่มากก็น้อย
หมายเหตุ: ในการเขียนบทความนี้ หมอไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากบริษัทหรือผู้เกี่ยวข้องกับละคร เพียงแต่ได้รับชมและประทับใจ จึงขอเขียนแบ่งปันข้อคิดที่ได้สู่ผู้อ่านค่ะ
ขอบคุณภาพจาก : ch3plus.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอมินบานเย็น เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา