อัลตราซาวด์ทารก กับข้อควรรู้ ไขคำตอบให้คุณแม่ตั้งครรภ์

          อัลตราซาวด์ทารก เทคโนโลยีใกล้ตัวแม่และเด็ก ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าการแค่ดูเพศลูกน้อยในครรภ์ เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัลตราซาวด์ที่แม่ตั้งครรภ์อยากรู้มาฝาก
อัลตราซาวด์

          เมื่อท้องเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ และสัมผัสได้ถึงชีวิตน้อย ๆ ที่อยู่ในนั้น เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องมีความรู้สึกอยากแอบดูลูกในท้อง ไม่ว่าจะเป็นเพศ หน้าตา หรือว่าอยากเห็นการเคลื่อนไหวว่าเจ้าตัวเล็กกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้ามาก ทำให้แม่ตั้งครรภ์สามารถมองเห็นเพศและการเจริญเติบโตของทารกได้ด้วยการทำอัลตราซาวด์นั่นเอง นอกจากนั้นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนี้ยังใช้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะกลัวการตรวจอัลตราซาวด์ทารก รวมถึงมีข้อสงสัยที่อยากทำความเข้าใจก่อน วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมาช่วยตอบคำถามให้คุณมั่นใจว่าการตรวจอัลตราซาวด์ท้องสำคัญอย่างไร มีประโยชน์และปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกมากแค่ไหน

อัลตราซาวด์ทารก คืออะไร

          การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือ การตรวจทางการแพทย์ที่อาศัยคลื่นความถี่สูง 3.5 เมกกะเฮิรตซ์ โดยจะส่งคลื่นเสียงผ่านหัวตรวจไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ จากนั้นเครื่องอัลตราซาวด์จะนำคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับนี้แปลงเป็นภาพให้คุณหมอวินิจฉัยได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอัลตราซาวด์ทารก

          เมื่อรู้จักอัลตราซาวด์แล้ว ลองไปดูข้อมูลของการตรวจชนิดนี้กันว่ามีเรื่องอะไรที่เราควรรู้บ้าง

1. อัลตราซาวด์มีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันยังไง

          ปัจจุบันพัฒนาการของเครื่องอัลตราซาวด์ก้าวหน้าขึ้น จาก 2 มิติ สู่ 3 และ 4 มิติ ซึ่งให้ความคมชัดแตกต่างกันตามลำดับ ทำให้ความละเอียดในการตรวจวินิจฉัยดีขึ้นและชัดเจนขึ้น
  • การอัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ การอัลตราซาวด์ประเภทนี้ภาพที่ได้จะเป็นแบบ 2 มิติ เป็นลักษณะภาพตัดขวาง (ความกว้าง x ความยาว) คนทั่วไปดูไม่รู้เรื่องเท่าไร เพราะเห็นเป็นเพียงเงาดำ ๆ เท่านั้น
  • การอัลตราซาวด์แบบ 3 มิติ ซึ่งก็คือการถ่ายภาพนิ่งที่มีความตื้นลึกร่วมด้วย ทำให้ได้ภาพเสมือนจริงยิ่งขึ้น
  • การอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ เครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพแล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้า ยกแขน ขยับนิ้ว ปาก โดยการอัลตราซาวด์แบบนี้จะเห็นอวัยวะได้ชัดเจนมากที่สุด

2. วิธีตรวจอัลตราซาวด์

          การตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ผ่านทางหน้าท้องและผ่านทางช่องคลอด
  • การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด : ใช้กับอายุครรภ์ต่ำกว่า 10 สัปดาห์ เพื่อวัดความยาวปากมดลูกและระยะห่างของขอบรก คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ระยะแรก ถุงการตั้งครรภ์ยังมีขนาดเล็ก ทำให้ภาพจากการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องไม่ชัดเจน วิธีนี้หัวตรวจจะเข้าใกล้ตำแหน่งของมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจทางช่องท้อง ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนกว่า
  • การอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง : ใช้กับอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป คุณหมอจะทาเจลบนหน้าท้องในบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วใช้หัวตรวจเคลื่อนไปมา คลื่นเสียงที่ส่งผ่านหัวตรวจจะสะท้อนกลับมายังเครื่องรับและแปลผลเป็นภาพบนหน้าจอให้เห็นทันที หากคุณแม่มีข้อสงสัยอะไรก็สอบถามแพทย์ได้ตลอดการตรวจ เมื่อตรวจเสร็จแพทย์จะเช็ดเจลออกจากบริเวณหน้าท้อง โดยปกติแล้ววิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

3. อายุครรภ์กี่เดือนถึงจะอัลตราซาวด์ได้

          โดยทั่วไปคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถตรวจอัลตราซาวด์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ เป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ โดยการวัดความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงกระดูกก้นกบ ทำให้ทราบกำหนดวันคลอดที่แน่นอน นอกจากนี้การอัลตราซาวด์จะดูลักษณะของทารก และวัดความหนาของช่องทางเดินน้ำเหลืองบริเวณต้นคอ เพื่อการตรวจดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ได้ด้วย

4. อัลตราซาวด์ทารก ดูอะไรในแต่ละเดือน

          แพทย์จะทำอัลตราซาวด์เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เช็กอายุครรภ์ เพศของทารก ติดตามการเจริญเติบโต รวมถึงตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส ดังนี้

ไตรมาสแรก อายุครรภ์ 11-13+6 สัปดาห์

  • ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ เช็กอายุครรภ์ และคะเนวันครบกำหนดคลอด
  • วินิจฉัยการตั้งครรภ์ผิดปกติได้ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องลม แท้งบุตร ครรภ์แฝด
  • ตรวจโครงสร้างอวัยวะของทารก เช่น แขน ขา กะโหลกศีรษะ ผนังหน้าท้อง หัวใจ
  • ตรวจคัดกรองโรคดาวน์ ด้วยการวัดความหนาของต้นคอ

ไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์

  • ตรวจอัลตราซาวด์ MFM (Maternal Fetal Medicine) เพื่อดูความผิดปกติของโครงสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ หรือความพิการแต่กำเนิด ตลอดจนตรวจความสมบูรณ์ของรก และหลอดเลือดของทารกในกรณีครรภ์เสี่ยงสูง
  • ตรวจโครงสร้างอวัยวะภายนอก เช่น แขน ขา ใบหน้า เพศ
  • ตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะภายในของทารกที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต อวัยวะในช่องท้อง
  • ดูตำแหน่งรก น้ำคร่ำ
  • ตรวจการไหลเวียนโลหิตของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกซึ่งเชื่อมต่อมายังทารก

ไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ตั้งแต่ 24 สัปดาห์ขึ้นไป

  • ตรวจดูพัฒนาการ การเจริญเติบโต น้ำหนักตัวของทารก
  • ตรวจการเจริญเติบโตของกระดูกของทารก ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยความผิดปกติของกระดูก เช่น คนแคระ กระดูกบางผิดปกติ แขน-ขาสั้น มือหรือเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ
  • ตรวจความสมบูรณ์ของรก ปริมาณน้ำคร่ำ
อัลตราซาวด์

5. อัลตราซาวด์ส่งผลอะไรไหม ทำบ่อย ๆ จะเป็นอะไรหรือเปล่า

          สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ทั้งสิ้นจากการอัลตราซาวด์ จึงไม่มีอันตราย แต่การทำอัลตราซาวด์มีค่าใช้จ่ายสูง หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอก็สามารถทำได้บ่อยตามต้องการ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง อย่างไรก็ตาม คุณหมอมักจะแนะนำให้อัลตราซาวด์แค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น และควรทำในขณะที่มีอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน หรือการตั้งครรภ์มีความเสี่ยง คุณหมออาจจะนัดถี่กว่าเดิม ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

6. การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอัลตราซาวด์

          ก่อนอัลตราซาวด์ให้คุณแม่เตรียมตัว ดังนี้
  • หากนัดอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์ สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร
  • หากตรวจทางช่องท้อง คุณแม่อาจปวดปัสสาวะขณะตรวจ แต่ต้องกลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ หากไม่ปวดปัสสาวะ แพทย์อาจให้ดื่มน้ำ 2-3 แก้ว ก่อนตรวจ 30-60 นาที เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะมีน้ำเต็ม และช่วยดันลำไส้ออกไป จนแพทย์สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดขึ้น
  • หากตรวจทางช่องคลอด ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ

7. ผลอัลตราซาวด์เชื่อถือได้แค่ไหน มีความผิดพลาดหรือไม่

          การตรวจอัลตราซาวด์มีความแม่นยำสูง แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ 100% จึงอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ สาเหตุหลักมาจาก
  • อวัยวะของทารกไม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์ ความผิดปกติจึงอาจเกิดตอนหลังคลอดได้
  • อวัยวะบางอย่างเล็กมาก เช่น นิ้ว ถ้าเด็กไม่กางออกมาก็มองไม่เห็น หรือหัวใจ ถ้าเล็กกว่าครึ่งเซนติเมตรก็มองไม่เห็น
  • อวัยวะของเด็กในท้องกับนอกท้องไม่เหมือนกัน
  • ท่าทางของเด็กอาจบดบังการมองเห็นภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้

          ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละคนด้วย

8. อัลตราซาวด์ ราคาเท่าไร

          ราคาตรวจอัลตราซาวด์ 2 มิติ มีค่าบริการประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อครั้ง ส่วนอัลตราซาวด์ 3 มิติ จะอยู่ที่ 1,500-2,500 บาทต่อครั้ง และตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ จะมีราคาราว ๆ 2,500-4,500 บาทต่อครั้ง

          การตรวจอัลตราซาวด์ทารกมีประโยชน์หลายมิติ ที่สำคัญคือช่วยให้พบความผิดปกติในการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งหากทราบเร็วก็จะช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาได้ดี และยังช่วยให้คุณแม่เตรียมพร้อมรับมือได้เร็วขึ้นด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็สามารถเช็กสภาพของคุณแม่และดูการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ได้อย่างอุ่นใจแล้วนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : chularat3.com, samitivejhospitals.com, nonthavej.co.th, phyathai.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัลตราซาวด์ทารก กับข้อควรรู้ ไขคำตอบให้คุณแม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2566 เวลา 10:45:45 11,315 อ่าน
TOP
x close