x close

เคลียร์จมูกให้เบบี๋ ที่แม่มือใหม่ควรรู้

น้ำมูก - แม่และเด็ก

เคลียร์จมูกให้เบบี๋ แบบเรียนที่แม่มือใหม่ต้องรู้ (modernmom)
เรื่อง : โชติรส

             น้ำมูกเป็นสิ่งอุดตันประเภทหนึ่งที่สร้างความรำคาญให้แก่ลูกน้อย ซึ่งมีผลทำให้เขาหายใจไม่สะดวก รู้สึกอึดอัดรวมทั้งนอนหลับไม่สนิท วันนี้เรามาหาวิธีช่วยเขากันค่ะ

             อยากให้เรานึกถึงตอนเราเป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกมาก ๆ ในรูจมูก ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ สามารถออกแรงสั่งดังปี้ดป๊าดออกมาในกระดาษทิชชูได้ แต่เด็กทารกไม่สามารถทำได้อย่างนั้น เขาต้องอาศัยการดูแลและหวังให้คุณดูดน้ำมูกไปให้พ้นทางเดินหายใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากมากมายอะไรนัก เพราะเรากำลังจะบอกเทคนิควิธีง่าย ๆ ให้คุณไปเคลียร์จมูกน้อย ๆ ของเจ้าหนูกัน

บทที่ 1 ศึกษาการหายใจ

             ทารกแรกคลอดนั้นสามารถหายใจทางจมูกได้แล้ว แต่ทว่าเขายังหายใจทางปากไม่เป็น ดังนั้นเมื่อมีการอุดกั้นของน้ำมูกหรือขี้มูกแข็ง ๆ แล้ว ย่อมสร้างความอึดอัดแก่ลูกน้อยยิ่งนัก ซึ่งคุณอาจเคยได้ยินเวลาลูกน้อยหายใจมีเสียงดังฟืดฟาด หรือเสียงหายใจที่แรงขึ้นเช่นเดียวกับจมูกของผู้ใหญ่ค่ะ

             เราสามารถสังเกตง่าย ๆ คือ ลูกจะดูดนมได้น้อย ยอมดูดสักครู่แล้วก็จะโยเยตลอดการกินนม เนื่องจากเขาหายใจไม่ออกนั่นเอง และคุณแม่สามารถตรวจเช็กได้ง่าย ด้วยการเอาไฟฉายเล็ก ๆ ส่องเข้าไปดูในรูจมูก เพื่อดูว่ามีน้ำมูกหรือขี้มูกอุดตันหรือไม่ หรือให้คุณแม่เอาสำลีพันปลายไม้หลวม ๆ และยังใกล้ ๆ รูจมูกเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของสำลี ว่ามีลมหายใจผ่านหรือไม่ หายใจเบาหรือแรงเพียงใด

บทที่ 2 วิธีทำความสะอาด

             เมื่อลูกเกิดปัญหา หนทางแก้ไขนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่แคะขี้มูกออกมา เจ้าหนูก็สามารถกินนมนอนหลับเป็นปกติแล้ว โดยมีหลากหลายวิธีให้คุณเลือกและสามารถปรับใช้ได้ทันที

สำลีพันปลายไม้

             ใช้สำลีพันปลายไม้ที่เตรียมขึ้นเอง เนื่องจากปลายไม้ปั่นหูขนาดปกติจะใหญ่เกินไปสำหรับรูจมูกเจ้าหนู ควรใช้ปลายไม้จิ้มฟันแบบไม่มีปลายแหลม พันสำลีให้พอเหมาะเพื่อไม่ให้ไม้ทำลายเยื่อบุจมูกของลูก ฃบีบสำลีให้แนบไม้มากที่สุด และพันให้เกินปลายไม้เล็กน้อยหรือใช้คัตตั้นบัตขนาดเล็ก จุ่มน้ำเกลือเพื่อเช็ดขี้มูกออกมา

หยดด้วยน้ำเกลือ

             ให้เจ้าหนูอยู่ในท่านอนหงาย นำหลอดฉีดยาแบบไม่มีเข็ม ดูดน้ำเกลือประมาณ 1-2 ซีซี แล้วบรรจงหยอดในจมูกข้างละ 3-5 หยด เพื่อให้น้ำเกลือชะความเหนียวของน้ำมูกออกมา เสร็จแล้วใช้ลูกยางบีบลมออกก่อน แล้วจ่อบริเวณรูจมูก จากนั้นปล่อยมือให้แรงลมดูดน้ำมูกออกมา จากนั้นบีบล้างน้ำมูกที่อยู่ในลูกยางลงในน้ำ แล้วเริ่มทำซ้ำอีกครั้ง หากลูกมีน้ำมูกบ่อยให้ทำเช้า-เย็น และก่อนนอน เพื่อลดการสะสมของน้ำมูก

ดูดน้ำมูกด้วยอุปกรณ์เสริม

             ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสร้างความสะดวกสบายให้แก่คุณแม่ โดยประดิษฐ์เครื่องดูดน้ำมูกแบบอัตโนมัติ และแบบพ่นน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก ซึ่งน้ำมูกก็จะค่อย ๆ ไหลออกมาเอง ทั้งนี้เครื่องมือทุกชนิดจะต้องใช้ร่วมกับน้ำเกลือ คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้ได้ตามความพอใจ

ดูดน้ำมูกด้วยปากคุณแม่

             วิธีโบราณที่ยังใช้ได้ทุกสมัย คือการใช้ปากของคุณแม่ ดูดน้ำมูกออกจากจมูกอันแสนบางของเจ้าหนูแล้วบ้วนทิ้ง ซึ่งคุณแม่จะสามารถควบคุมความแรงของการดูดได้ แต่ต้องระวังการติดเชื้อต่าง ๆ ด้วย

บทที่ 3 เรียนรู้อุปกรณ์

             ในฐานะพ่อแม่มือใหม่อย่างเราอาจจะคิดภาพไม่ออกว่าน้ำเกลือคืออะไร ใช้น้ำผสมเกลือหรือเปล่า วันนี้มีคำตอบให้คุณแม่ค่ะ

             น้ำเกลือสำหรับล้างจมูกลูกเป็นน้ำเกลือที่ฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ใช่เอาน้ำกับเกลือที่มาผสมเองนะคะ น้ำเกลือที่จะเอามาล้างจมูกของลูกนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ไว้สำหรับล้างคอนแทกเลนส์และล้างบาดแผล หลากหลายขนาด แนะนำว่าให้ซื้อขนาดเล็กก็เพียงพอแล้ว

             ส่วนลูกยางดูดน้ำมูกก็มีอยู่มากมายตามห้างสรรพสินค้า แผนกเครื่องใช้เด็ก สามารถซื้อได้ตามคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ข้างกล่องได้เลย โดยต้องสังเกตที่ช่วงวัย วิธีการเก็บรักษา และวิธีทำความสะอาดด้วย

บทที่ 4 สิ่งที่ต้องระวัง

             คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยชินกับการทำความสะอาดจมูกของตนเอง ด้วยการใช้นิ้วแคะแกะเกา แต่สำหรับจมูกของลูกน้อยแล้ว ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้นิ้วของตนเองไปแคะ หรือแกะภายในโพรงจมูกของลูก เพราะนอกจากนิ้วคุณจะใหญ่กว่ารูจมูกของลูกมากแล้ว เรายังมีเล็บที่คม โดยอาจจะขีดข่วนเยื่อบุโพรงจมูกของลูกน้อยโดยไม่รู้ตัว

             นอกจากนั้น ยังต้องระวังการนำเอาวัสดุช่วยแคะทั้งหลายเข้าไปในรูจมูกลึกเกินไป อาจจะทำให้เจ้าหนูรู้สึกเจ็บ และเกิดบาดแผลขึ้นได้ ซึ่งตามจริงแล้วคุณควรใส่ลึกเข้าไปประมาณ 0.5 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้ว

             เห็นไหมคะว่า วิธีการทำความสะอาด และดูดน้ำมูกให้ลูกค่อนข้างง่าย เมื่อคุณปฏิบัติตามแล้วลูกก็จะอารมณ์ดี ไม่โยเย เพราะทางเดินหายใจที่เคยอุดตันนั้นโล่งขึ้นด้วยฝีมือคุณพ่อและคุณแม่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.186 เมษายน 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคลียร์จมูกให้เบบี๋ ที่แม่มือใหม่ควรรู้ อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2554 เวลา 11:37:45 156,788 อ่าน
TOP