เลี้ยงลูกด้วยการตี ยุคนี้จำเป็นไหม การตีลูกมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร แล้วหากอยากเลี้ยงลูกไม่ตี จะมีวิธีเลี้ยงลูกและสั่งสอนเขาอย่างไร มาหาคำตอบกัน
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็นสำนวนไทยที่ยึดถือกันมาช้านาน เพราะเชื่อว่าการลงโทษลูกด้วยการตีจะทำให้เขาหลาบจำและไม่ทำผิดซ้ำอีก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตและวิธีเลี้ยงลูกก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามเช่นกัน หลายครอบครัวเลือกที่จะสั่งสอนลูกด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการตีลูก แต่บางบ้านก็ยังเลือกที่จะตีลูกอยู่ ว่าแต่ยุคนี้การเลี้ยงลูกด้วยการตียังจำเป็นอยู่ไหม ผลเสียของการตีลูกคืออะไร แล้วเราควรลงโทษลูกยังไงดีหากเขาทำผิด กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝากค่ะ
ข้อดีของการตีลูก
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเกิดการโต้แย้งว่า ก็เลี้ยงลูกด้วยการตีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ก็โตกันมาได้ดี แปลว่าการตีย่อมมีข้อดี ดังนั้นเรามาดูกันก่อนค่ะว่าการตีลูกมีข้อดียังไง
- สามารถห้ามลูกได้ทันที - เมื่อลูกทำผิดปุ๊บแล้วคุณพ่อคุณแม่ตีปั๊บ ก็จะทำให้เขาทั้งตกใจและเจ็บ จึงสามารถห้ามการกระทำผิดของลูกได้ทันที
- ทำให้ลูกหลาบจำ - เพราะเมื่อเขารู้ว่าหากทำสิ่งที่ไม่ดีซ้ำอีกก็จะถูกลงโทษด้วยการตีอีก และจะทำให้เขาเจ็บตัว เขาก็จะจำและไม่ทำผิดซ้ำ
ข้อเสียของการตีลูก
แม้การตีลูกจะทำให้เขาหยุดทำผิด แต่ก็ไม่สามารถห้ามได้ตลอด ซึ่งการตีลูกนั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดีอย่างแน่นอน เช่น
- การตีเป็นการส่งต่อความรุนแรง - เมื่อตีลูก เขาจะจำว่าการใช้ความรุนแรงเป็นการจบปัญหา หากไม่ได้รับการอบรมที่ดีพอ เมื่อโตขึ้นเขาก็จะใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับที่เขาเคยได้รับมากับคนอื่น ๆ เช่นกัน
- การตีจะทำให้เขามีเรื่องปิดบังพ่อแม่ - แม้ว่าจะทำผิดแค่ไหนก็ตาม เขาก็จะไม่กล้าบอกพ่อแม่ เพราะกลัวว่าจะถูกตี หรืออาจจะแอบไปทำผิดโดยที่ไม่ให้ถูกจับได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงในอนาคต
- การตีทำให้ลูกเกลียดพ่อแม่ - เขาจะจำฝังใจว่าพ่อแม่ดุ ทำให้เขาเจ็บ เขาจะเกลียดพ่อแม่ไปโดยปริยาย และอาจโอนเอียงไปหาญาติหรือคนอื่นที่ใจดีกว่า หากเป็นเช่นนั้นต่อไปพ่อแม่สอนอะไรเขาก็จะไม่ฟัง
- การตีจะทำให้ความโกรธทวีคูณมากขึ้น - หากตีแล้วลูกยิ่งร้อง พ่อแม่ก็จะยิ่งโกรธ และยิ่งตีเขาแรงขึ้นเพื่อให้หยุดร้อง ส่วนลูกก็จะยิ่งโกรธพ่อแม่ที่ทำให้เขาเจ็บไม่หยุดสักทีแม้ว่าเขาจะร้องขอแล้วก็ตาม กลายเป็นความโกรธที่ทวีคูณจนนำไปสู่ความขัดแย้ง
- การตีเป็นการสร้างความทรงจำอันเลวร้าย - การลงโทษด้วยการตีเป็นการใช้ความรุนแรงจนอาจทำให้เด็กกลัวบางสิ่งบางอย่างไปเลย โดยเฉพาะสิ่งที่พ่อแม่ใช้ตีเขา เช่น ไม้เรียว ไม้แขวนเสื้อ ก้านมะยม กิ่งไม้ หรือแม้แต่เข็มขัด ซึ่งอาจทำให้ลูกเกิดภาวะโฟเบียกับสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้
เลี้ยงลูกไม่ตี สั่งสอนเขายังไงดี
เห็นได้ชัดว่าการตีลูกมีข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจของเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่า ถ้าไม่ตีจะสั่งสอนหรือทำโทษเขาอย่างไร เขาจึงจะรู้สึกผิดและหลาบจำ ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดูค่ะ
- คุยกันด้วยเหตุผล - การที่เราจะห้ามลูกไม่ให้ทำอะไรสักอย่าง เราควรให้เหตุผลกับเขาว่าหากทำแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไรตามมา ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเขาถึงไม่ควรวิ่งเล่นข้างถนน นั่นเป็นเพราะหากรถวิ่งมาเร็ว ๆ เขาอาจจะถูกรถชนได้ หรือทำไมเขาถึงไม่ควรเล่นไปกินข้าวไป เหตุผลคือข้าวอาจจะติดคอ ทำให้เขาหายใจไม่ออก เป็นต้น
- ตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน - อธิบายเด็ก ๆ ว่าเขาสามารถทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้ หากทำได้ควรทำให้อยู่ในขอบเขตไหน พร้อมบอกเหตุผลด้วย เช่น ดูโทรศัพท์ได้ไม่เกิน 15 นาที เพราะจะทำให้ตาเสีย เป็นต้น
- บอกผลที่ตามมาหากทำผิด - หากเด็ก ๆ ดื้อ ไม่ยอมเชื่อฟัง ลองบอกว่า ถ้าเขาทำ พ่อแม่จะลงโทษด้วยวิธีไหน ซึ่งควรเป็นวิธีการที่ไม่รุนแรงนะคะ อาทิ บอกว่าช่วงเวลานี้ห้ามเขาหยิบของเล่นมาเล่น หากไม่เชื่อฟัง พ่อแม่จะเก็บของเล่นชิ้นนั้นไว้ทั้งวัน และจะไม่ให้เขาเล่นจนกว่าจะทำตัวดี ๆ
- ฟังเขาบ้าง - เด็ก ๆ มักจะมีเหตุผลของเขาที่บางทีผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่เข้าใจ แต่ต้องลองเปิดใจฟังก่อนว่าเขาทำสิ่งนั้นไปเพราะอะไร จากนั้นจึงค่อยสอนทีหลัง วิธีนี้เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าเหตุผลของเขามีคนรับฟัง และจะเปิดใจฟังเหตุผลที่ทำไมพ่อแม่ถึงต้องห้าม
- ทำเป็นไม่สนใจ - บางครั้งเด็ก ๆ ทำผิดเพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ การลงโทษด้วยการทำเป็นไม่สนใจจึงเป็นอีกวิธีที่ได้ผล เพราะหากเขารู้ตัวว่าวิธีการของเขาไม่ได้ผล ไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ไม่ถูกโอ๋ เขาจะรู้สึกว้าเหว่ และเลิกทำพฤติกรรมนั้นในที่สุด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยแอบมองด้วยนะว่าเขากำลังทำอะไรที่เป็นอันตรายหรือเปล่า
- เข้ามุม - เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในการทำโทษลูก วิธีนี้คือให้ลูกไปอยู่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ไม่ให้พูดคุยกับใคร ไม่ให้เล่น กำหนดเวลาเอาไว้ประมาณ 1-5 นาที ตามความผิด โดยพ่อแม่คอยดูอยู่ห่าง ๆ เพื่อให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่ทำลงไปและสำนึกผิด ไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก
ยุคนี้ไม่จำเป็นต้องตีลูกอีกแล้ว เพราะอาจทำให้เขาโตมาแบบขาดวุฒิภาวะและมีความกลัวฝังใจ ยังมีวิธีสอนลูกอีกมากมายเพื่อให้เขากลัวการทำผิด ดังนั้นลองปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกกันดูนะคะ เด็ก ๆ จะได้โตมาอย่างแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : urmc.rochester.edu, askdrsears.com, healthychildren.org