ปลูกรักดีดีให้พี่และน้อง (รักลูก)
การปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ ให้กับเด็กต้องทำตั้งแต่ในวัยเยาว์ค่ะ รวมทั้งเรื่องการสอนให้พี่น้องรักกัน แต่ในวัยที่ลูกยืดตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่คงต้องหาวิธีที่เหมาะสมและสอดคล้องหน่อยนะคะ
ครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน คงจะเคยประสบกับเหตุการณ์พี่น้องทะเลาะกัน หรือบางคนเรียกว่าพี่น้องอิจฉากัน ซึ่งถึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเกลียดกัน หรือแย่งของกันเพราะต้องการของชิ้นนั้นไปเสียทั้งหมด
ความจริงแล้วสิ่งที่เขาต้องการ คือ อยากได้ความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ต้องการความเป็นเจ้าของคุณพ่อคุณแม่ และอยากได้อำนาจเหนืออีกคนหนึ่งค่ะ
ปลูกรักอย่างไรให้ได้ผลดี
ให้ความสนใจเชิงบวก (Possitive Attention) เช่น บอกว่า วันนี้พ่อแม่มีความสุขมากที่ลูก ๆ ไม่ทะเลาะกัน หรือเวลาที่พี่ช่วยเลี้ยงน้อง ก็บอกว่าแม่ภูมิใจจังเลยที่พี่สามารถช่วยแม่เลี้ยงน้องได้ หรือถ้าน้องทำอะไรให้พี่บ้าง ก็พูดชมในลักษณะเดียวกัน
ลูกต้องแบ่งปัน คำคุ้นหูที่เรามักได้ยินได้ฟังเสมอ คือ "พี่ต้องเสียสละให้น้อง" ความจริงแล้วคำพูดนี้ก็ไม่ผิดหรอกค่ะ เพียงแต่เป็นเรื่องที่ขังยอมรับไม่ค่อยได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็กวัยนี้ การเสียสละให้น้องในความหมายของเขา คือเขาจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่างที่อยากได้ หรือสิ่งที่เขาสมควรจะได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันกันตามทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องซื้อของเล่นครั้งละ 2 ชิ้น เพื่อตัดปัญหาพี่น้องแย่งของเล่นกัน เพราะนั่นเป็นการสอนลูกว่าเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันกัน
ดูแลแบบองค์รวม คุณพ่อคุณแม่ควรจะใกล้ชิดและดูแลทั้งคู่โดยไม่ต้องแยกพี่น้อง อาจใช้วิธีตั้งรางวัล โดยให้ทั้งสองคนมีส่วนร่วมในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้นด้วยกัน แต่ต้องไม่บ่อยจนลูกถือเป็นเงื่อนไข เช่น บอกเขาว่าถ้าไม่ทะเลาะกัน ตอนเย็นจะพาออกไปกินข้าวนอกบ้าน เป็นต้น
ไม่เปรียบเทียบ เพราะจะทำให้คนที่ด้อยกว่ารู้สึกเจ็บซ้ำน้ำใจ ส่วนคนที่รู้สึกดีกว่าก็อาจจะกระหยิ่มยิ้มย่อง คนที่ด้อยกว่าก็จะมีความรู้สึกว่าต้องหาทางให้อีกคนหนึ่งพลาดบ้าง เพื่อตัวเองจะได้ความรู้สึกดี ๆ คืนมา เขาก็จะหาเรื่องทะเลาะ หาเรื่องฟ้องกันอยู่ร่ำไปค่ะ
ป้องกันและรับมือ
กันไว้ก่อน เริ่มตั้งแต่เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง อาจจะให้พี่เข้ามาใกล้ชิดกับท้องของคุณแม่บ้าง บอกเขาว่าน้องอยู่ในท้องแม่นะ ลองจับน้องดู ลองฟังเสียงหัวใจน้องดู หรือให้เขามีส่วนร่วมโดยไปช่วยเลือกซื้อของให้น้อง เพื่อเตรียมตัวที่จะต้อนรับน้องใหม่ เมื่อคุณแม่คลอดน้องออกมา อาจให้เขาช่วยคุณแม่เลี้ยงน้องแล้วชมเขา เช่น น้องต้องดีใจมากแน่ๆ ถ้ารู้ว่าพี่ช่วยแม่เลี้ยงน้อง เป็นต้น เมื่อได้รับคำชมในด้านบวก และได้รับความสนอกสนใจจากคุณแม่ เขาจะพยายามรักษามาตรฐานนั้นไว้ และเกิดความรู้สึกผูกพันกับน้อง โดยมีตัวกลาง คือคำชมหรือความเอาใจใส่ที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้ค่ะ
ปัญหานี้แก้ได้ หากเกิดปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนและวางกฎเกณฑ์ในบ้านโดยมีหลักการ คือ ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์กัน ไม่ว่าจะเป็นการแย่งของเล่นในมือ หรือกระทั่งลงไม้ลงมือ ทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว คนที่ลงมือก่อนไม่ว่าจะเป็นพี่หรือเป็นน้องก็ตาม ถือว่าเป็นคนผิดสมควรที่จะได้รับการลงโทษ
ลงโทษให้เหมาะสม ในเรื่องของการลงโทษนั้น คุณหมอไม่อยากให้ลงโทษด้วยการตีนะคะ แต่แนะนำว่าเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรแยกเขาออกมา ให้เขาเล่นตรงนั้น ต่อไม่ได้ เพื่อสอนลูกว่าถ้าเขามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสังคมก็จะไม่ยอมรับ แล้วให้เขาไปนั่งสงบสติอารมณ์อยู่สักพักหนึ่ง ใช้เวลาขวบปีละ 1 นาที ก็จะทำให้เขาสงบลงได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอพฤติกรรมเหล่านี้จะค่อยๆ ลดน้อยลง
คนที่มีผลต่อเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ "คุณพ่อคุณแม่" นั่นเอง การปลูกฝังและส่งเสริมด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรคาดหวังมากเกินไปนะคะ เพราะเด็กวัยนี้ยังรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวไม่ดีพอ ต้องสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก