x close

RDS คืออะไร รู้ทันภัยร้าย โรคทางเดินหายใจในทารกแรกเกิด

          RDS คือหนึ่งในโรคทางเดินหายใจที่อันตราย เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดได้ มาทำความเข้าใจสาเหตุของโรคเด็ก RDS อาการ และแนวทางการป้องกันรักษา
rds โรคเด็ก

          ในวันที่เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากได้ยินมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นคำว่า “ลูกสุขภาพแข็งแรงครบถ้วนดี” แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ช่วงระหว่างการตั้งครรภ์นั้นอาจมีความเสี่ยงหรือความผิดพลาดต่าง ๆ ได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นผลให้ทารกต้องเผชิญกับโรคเด็กหรือภาวะผิดปกติที่ไม่คาดคิดได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่พบได้บ่อยก็คือ กลุ่มภาวะโรคทางเดินหายใจ RDS ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า RDS คืออะไร ? มีอาการแบบไหน จะดูแลรักษาและป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกเป็น วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลของโรคนี้มาให้ทำความรู้จักกัน

RDS คืออะไร เกิดจากอะไร

          RDS (Respiratory Distress Syndrome) หรือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก คือ ภาวะความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจของทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นผลมาจากสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ที่มีหน้าที่ช่วยให้ถุงลมในปอดทำงานได้อย่างปกติในทารกมีปริมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากปอดของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
          ภาวะ RDS พบมากในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะ RDS เช่น สมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยอาการดังกล่าว มารดาเป็นโรคเบาหวาน การตั้งครรภ์แฝด และปัญหาการคลอดที่ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไปสู่ทารกลดลง เป็นต้น

RDS มีอาการอย่างไร

          ทารกที่มีภาวะ RDS จะแสดงอาการหลังจากคลอดไม่นาน โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
  • หายใจเร็ว หายใจตื้น หายใจมีเสียงหวีด หอบ และปีกจมูกบานขณะหายใจ
  • หยุดหายใจเป็นเวลาสั้น ๆ
  • หน้าอกบุ๋มหรือซี่โครงบริเวณหน้าอกยุบลงเมื่อหายใจ
  • ริมผีปาก ปลายมือ และปลายเท้า เป็นสีม่วงคล้ำ เพราะออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ความดันต่ำลง เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตส่วนปลายไม่ดี
  • ปริมาณปัสสาวะลดลง
rds โรคเด็ก

ภาวะแทรกซ้อนของ RDS

          เนื่องด้วยภาวะ RDS อาจทำให้เด็กได้รับออกซิเจนในปริมาณไม่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ ในระยะยาวแตกต่างกันไป เช่น
  •  มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด ภาวะปอดแฟบ ภาวะปอดรั่ว ถุงลมโป่งพอง
  • เกิดการแข็งตัวของเลือด ลิ่มเลือด มีเลือดออกในสมองหรือปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือไตวาย
  • พัฒนาการล่าช้า เนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน หรือภาวะเลือดออกในสมอง นำไปสู่ปัญหาการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การได้ยิน และการมองเห็นที่ล่าช้า
          ดังนั้นหากไม่รีบรักษาให้ทันท่วงทีก็จะเกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตได้

RDS วิธีรักษาและดูแล

          ในการวินิจฉัยภาวะ RDS แพทย์จะตรวจสอบตั้งแต่ประวัติส่วนตัวว่าคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ จากนั้นก็จะตรวจร่างกายร่วมกับการฟังเสียงปอด ก่อนจะเอกซเรย์เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน หากผลเอกซเรย์ออกมาเป็นฝ้าขาว มีลักษณะของการขยายปอดที่ไม่ดี ร่วมกับมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย แสดงว่ามีภาวะ RDS ต้องรีบทำการรักษาทันที ด้วยวิธีดังนี้
  • อาการไม่รุนแรง เด็กสามารถหายใจเองได้ในระดับหนึ่ง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ออกซิเจน (Oxygen Therapy) ซึ่งไม่นานเด็กก็จะปรับตัวได้ หายใจได้ดีมากขึ้น
  • อาการระดับกลาง เด็กมีภาวะหายใจลำบากค่อนข้างมาก แพทย์จะพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (CPAP) เพื่อดันอากาศและออกซิเจนเข้าไปในปอดของเด็ก ช่วยเปิดช่องอากาศภายในปอด ทำให้ปอดที่แฟบขยายตัว ร่วมกับการให้ออกซิเจนเพื่อให้ร่างกายเด็กแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีและหายใจสะดวกขึ้น
  • อาการระดับรุนแรงมาก ในกรณีที่เด็กหายใจเองไม่ได้เลย หรือใส่เครื่องช่วยหายใจแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ 100%
  • การให้สารลดแรงตึงผิวของถุงลมทดแทน (Surfactant Replacement Therapy) นอกจากการให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจแล้ว ส่วนสำคัญต่อมาก็คือ “การรักษาภาวะปอดที่ไม่สมบูรณ์” ซึ่งทำได้ด้วยการพ่นสารลดแรงตึงผิวเพื่อให้ปอดขยายและทำงานได้อย่างปกติ หลังจากทารกได้รับสารดังกล่าวแล้ว แพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
rds โรคเด็ก

ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกในท้องเสี่ยง RDS

          สำหรับวิธีป้องกัน RDS หรือภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิด ที่ดีที่สุดคือ การดูแลครรภ์ให้ดี เพื่อให้เด็กคลอดออกมาด้วยอายุครรภ์ที่ครบกำหนด 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่สามารถทำได้โดย
  • เข้ารับการฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ถ้าคุณแม่มีภาวะเสี่ยง เช่น อายุมาก (ตั้งครรภ์เกินอายุ 35 ปีขึ้นไป) มีภาวะเบาหวาน ตั้งครรภ์แฝด หรือครรภ์เป็นพิษ จะถือว่าเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ควรได้รับการดูแลเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เจ็บท้องผิดปกติ มีมูกเลือดทางช่องคลอด รู้สึกไม่แน่ใจว่ามีน้ำอะไรไหลออกมาจากช่องคลอด พบภาวะลูกดิ้นน้อยลง หรือคุณแม่มีไข้ มีตกขาวที่เหม็น หรือเจ็บท้องน้อย เพื่อจะได้รีบมาพบแพทย์และตรวจคัดกรองได้ทันเวลา
  • ดูแลตนเองอย่างเหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอต่อร่างกาย ไม่สูบบุหรี่ งดใช้สารเสพติด หรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และระวังเรื่องการติดเชื้อต่าง ๆ

          ถึงแม้ภาวะ RDS จะดูน่ากลัว แต่หากรู้ทันก็สามารถหาวิธีป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้คุณแม่มือใหม่ตั้งครรภ์ได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัยมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai.com, msdbangkok.go.th, clmjournal.org, thaichildcare.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
RDS คืออะไร รู้ทันภัยร้าย โรคทางเดินหายใจในทารกแรกเกิด อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14:33:33 6,094 อ่าน
TOP