มือ เท้า ปาก คุกคามลูกเล็ก

โรคมือเท้าปาก

มือ เท้า ปาก คุกคามลูกเล็ก
(modernmom)
เรื่อง : ผศ.นพ.โอฬาร พรหมาลิขิต

          โรคมือเท้าปากพบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง 3 ปี ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง

          ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน กลับพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีรายงานการเสียชีวิตจากโรคนี้ โดยมากมักเกิดจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แต่ในไทยพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยมาก
ต้นตอมือเท้าปากและการติดต่อ

          โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลายชนิด เชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสคอก แซคกี้ เอ (Coxsackie A) และเอนเทอโรไวรัส 71 เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ และทางเดินอาหาร โดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งจะมีระยะฟักตัวนานประมาณ 3-6 วัน

          โรคนี้ไม่ใช่โรคเกิดใหม่ พบมานานแล้วพบได้ทั่วโลก และเกิดประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน บางครั้งเกิดการระบาดเป็นครั้งคราว โดยการระบาดมักเกิดในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล หรือในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก

สังเกตอาการ

          ภายหลังได้รับเชื้อที่เป็นสาเหตุประมาณ 3-6 วัน เด็กจะเริ่มมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายจะมีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย ต่อมาอีกประมาณ 1-2 วัน เด็กจะเริ่มมีอาการเจ็บปากจนไม่ยอมกิน

          สำหรับเด็กเล็กจะมีอาการน้ำลายไหลยืดบ่อยครั้ง เนื่องจากมีแผลตื้น ๆ ขนาดเล็กกระจายออยู่ตามเยื่อบุกระพุ้งแก้ม เพดาน ปาก เหงือก ลิ้น และจะพบผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสหรือผื่นเม็ดแดง ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบผื่นบริเวณลำตัว แขน ขา และบริเวณก้นได้ อาการไข้มักจะหายภายใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 7-10 วัน

          ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตอาการของโรคนี้ได้ค่อนข้างลำบากในช่วงแรก ต่อเมื่อเริ่มมีผื่นขึ้น คุณจึงจะสามารถสังเกตอาการได้ บางรายอาจพบเพียงผื่น และแผลตื้น ๆ กราย ๆ ในช่องปากเท่านั้น แต่ไม่พบผื่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า เราเรียกโรคนี้ว่า เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับโรคมือเท้าปาก อาการมักไม่ค่อยรุนแรง และสามารถหายได้เองเช่นกัน

          โดยทั่วไปคุณหมอสามารถตรวจวิธีปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม ยกเว้นถ้าต้องการตรวจยืนยันชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ก็สามารถตรวจได้จากสาคัดหลั่งจากลำคอ อุจจาระ และเลือด

ดูแลและปกป้องลูก

          โรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง ไม่มียารักษาที่จำเพาะ การรักษาเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดื่มน้ำและกินอาหารเหลวทีละน้อย แต่กินบ่อย ๆ ถ้าลูกกินอาหารและน้ำไม่ได้ อาจแนะนำให้กินอาหารเหลวที่แช่เย็น เนื่องจากความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บจากแผลในปากได้

          หากใช้วิธีดังกล่าวแล้วลูกยังกินไม่ได้และมีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้น เช่น ปากแห้ง ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะเริ่มออกน้อยลง และมีสีเหลืองเข้ม คุณหมอจะรับผู้ป่วยเหล่านั้นไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยรายใดมีอาการไข้สูงมาก ซึมลง และอาเจียนบ่อยมีอาการหายใจหอบเหนื่อย แขนขาอ่อนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง สังเกตอาการดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยจะพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยมากก็ตาม

          วิธีการป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยและรักษาสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อมให้ดี เนื่องจากโรคนี้มักระบาดในเด็กเล็กที่อยู่รวมกันจำนวนมาก จึงควรเน้นเรื่องการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่แออัด หากพบเด็กป่วยต้องให้เด็กหยุดโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากมีการระบาดเกิดขึ้นในโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก อาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราวประมาณ 1-2 สัปดาห์

          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ และหากพบผู้ป่วยหรือพบว่ามีการระบาดของโรคนี้เกิดขึ้น ควรรายงานสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0 2590 1882 ครับ

          ในปี 2552 มีผู้ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก 6,823 ราย เสียชีวิต 3 ราย

          ในปี 2553 มีผู้ป่วยเป็นโรคเท้า มือ ปาก เพิ่มขึ้นเป็น 12,200 ราย เสียชีวิต 3 ราย

          ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.185 มีนาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มือ เท้า ปาก คุกคามลูกเล็ก อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2554 เวลา 16:19:37
TOP
x close