เบบี้คริสตัล ของเล่นเด็กอันตรายที่อาจส่งผลต่อชีวิตของลูกน้อยได้ มาทำความรู้จักกันว่า เบบี้คริสตัลคืออะไร อันตรายยังไง และคุณพ่อคุณแม่ควรระวังยังไงดี
ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่น่าจะได้เห็นข่าวของเล่นเด็กอันตรายที่ชื่อว่า “เบบี้คริสตัล” ที่หากเด็กกลืนลงท้องไปจะทำให้ลำไส้อุดตันจนต้องผ่าตัดเอาออกเพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าเบบี้คริสตัลคืออะไร อันตรายสำหรับเด็กยังไง และพ่อแม่จะต้องใช้วิธีเลี้ยงลูกยังไงไม่ให้ลูกเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าปาก กระปุกดอทคอมจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
เบบี้คริสตัลคืออะไร
“เบบี้คริสตัล” (Baby Crystal) หรืออีกชื่อเรียกคือ น้ำตานางเงือก เป็นพอลิเมอร์ มีสาร 2 ชนิด คือ พอลิอะคริลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคพอลิเมอร์ (Vinylacetate-ethylene copolymer) มีขนาดเท่ากับไส้ดินสอ เมื่อนำมาแช่น้ำก็จะดูดน้ำเข้าไป ทำให้พองตัวขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถใหญ่ขึ้นราว 100 เท่า เมื่อพองตัวเต็มที่สามารถแตกตัวออกมาเป็นลูกกลม ๆ เพิ่มอีก ซึ่งเด็ก ๆ จะชอบนำมาแช่น้ำแข่งกันว่าเบบี้คริสตัลของใครออกลูกได้มากกว่า โดยจุดประสงค์จริง ๆ ของพอลิเมอร์เหล่านี้จะถูกนำมาใช้กับผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผ้าอนามัย รวมถึงดินวิทยาศาสตร์ ที่เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้
เบบี้คริสตัล อันตรายสำหรับเด็กยังไง
ด้วยความที่มีลักษณะสีสันสดใส ราคาถูก จึงทำให้เด็ก ๆ ซื้อมาเล่นได้ง่าย แต่จะเป็นอันตรายกับลูกมากหากเผลอกินเข้าไป เนื่องจากเบบี้คริสตัลสามารถพองตัวในร่างกายมนุษย์ได้ถึง 5 เท่า โดยจะซึมซับเอาน้ำจากร่างกาย เช่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร หากเข้าไปในลำไส้ก็จะทำให้อุดตันและดึงน้ำออกจากโพรงลำไส้ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและติดเชื้อ ข้อสำคัญคือ เมื่อเบบี้คริสตัลพองตัวถึงระดับหนึ่งก็จะแตกตัวออกมา เมื่อตัวใหม่ดูดน้ำเข้าไปอีกก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนแตกตัวใหม่ออกไปอีก อาการคือ ทำให้เด็กจุกเสียด แน่นท้อง โดยเฉพาะหากเบบี้คริสตัลไปค้างในหลอดอาหารส่วนต้น หรือสำลักเข้าหลอดลม จะทำให้เกิดการอุดกลั้นและหายใจล้มเหลวเฉียบพลันหากไม่สามารถเอาออกมาได้ จนอาจจะเสียชีวิตได้
เบบี้คริสตัล การจำหน่ายถือว่ามีความผิด
อันที่จริงแล้วเบบี้คริสตัลเป็นของอันตรายที่ถูกห้ามขายในลักษณะของเล่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2527 เรื่อง ห้ามขายสินค้าที่เรียกว่า “ของเล่นชนิดพองตัว เมื่อแช่น้ำหรือตัวดูดน้ำ” เนื่องจากเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กเล็ก พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ หากพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนผลิตเพื่อขาย สั่ง หรือนำเข้ามาในประเทศ เพื่อขาย หรือขายสินค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ของเล่นอันตรายอื่น ๆ ที่พ่อแม่ควรระวัง
นอกจากเบบี้คริสตัลแล้ว ยังมีของเล่นอีกหลายชนิดที่พ่อแม่ควรระวังไม่ให้ลูกน้อยเล่น โดยเฉพาะเด็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบ เพราะอาจเผลอนำของเล่นเหล่านั้นเข้าปากจนเกิดอันตรายได้ อาทิ
- นกหวีด - นกหวีดเป่าลม แตรเป่าลม หรือของเล่นตระกูลที่มี “ไส้นกหวีด” อยู่ด้านใน เพราะขณะที่เด็ก ๆ เป่าอาจหลุดเข้าคอไปยังหลอดลมได้
- สไลม์ - วัตถุนุ่มหยุ่นที่เด็ก ๆ ชอบ แต่บางครั้งวัสดุที่ใช้ทำก็มีอันตรายไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสารอันตรายอย่างสารบอแรกซ์ สารหนู ตะกั่ว รวมถึงโลหะหนัก และยังใช้กาวอีกด้วย จึงทำให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย ยิ่งถ้าเผลอเอาเข้าปากยิ่งอันตรายหนัก
- ของเล่นที่มีเชือก - เนื่องจากอาจรัดคอลูกน้อยได้
- ลูกปัดแม่เหล็ก - เนื่องจากมีขนาดเล็ก และอาจเข้าคอลูกน้อยได้เช่นกัน
- ของเล่นอื่น ๆ ที่มีขนาดชิ้นส่วนเล็ก ๆ หรือแม้แต่เหรียญต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตราย เพราะเสี่ยงที่เด็กจะเอาเข้าปากและหลุดลงหลอดลมได้ง่าย
วิธีป้องกัน ระวัง หรือสังเกตลูก เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าปาก
เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ มักจะไม่รู้ว่าสิ่งใดอันตรายหรือไม่ และจะหยิบสิ่งนั้นเข้าปากด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามพัฒนาการ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ
- ระมัดระวังและเก็บบ้านให้เรียบร้อย ไม่ให้มีชิ้นส่วนของเล่นหรือวัสดุเล็ก ๆ อยู่บนพื้นที่เด็ก ๆ สามารถเอื้อมคว้าเข้าปากได้
- สังเกตอาการลูกเสมอ หากเด็ก ๆ กลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปมักจะมีอาการดังนี้ ไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ ไม่ยอมกลืนน้ำลาย หรือมีน้ำลายไหลเยอะผิดปกติ อาเจียนมีเลือดปน ปวดท้อง หากพบอาการเหล่านี้ควรพาไปพบแพทย์ทันที
- ถ้ารู้ว่าลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ไม่ควรล้วงคอ หรือทำให้อาเจียน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หรือสิ่งแปลกปลอมอาจหลุดมาอุดทางเดินหายใจทำให้เสียชีวิตได้
การกลืนสิ่งแปลกปลอมสำหรับเด็กเป็นเรื่องใหญ่มากและอาจส่งผลต่อชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องระมัดระวังและรอบคอบ รวมถึงไม่ควรซื้อของเล่นที่อาจเป็นอันตรายให้ลูกเล่นจะดีที่สุดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, thansettakij.com, แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์, rama.mahidol.ac.th