ขนแปรงทารก เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม ?
ขนแปรงทารก หรือ โรคขนแปรง เกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ ลูกน้อยจะเจ็บหรือเปล่า แล้วจะรักษาโรคขนแปรงทารกอย่างไรจึงจะถูกต้อง มาหาคำตอบกัน
ช่วงที่ลูกยังเป็น
ทารกถือเป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมอบความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะวัยของเขายังสร้างภูมิต้านทานได้ไม่เต็มที่ นอกจากสุขภาพภายในแล้ว เรื่องของภายนอกอย่างผิวหนังก็ไม่ควรละเลย เนื่องจากมี
โรคในเด็กโรคหนึ่งที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนกลุ้มใจ นั่นคือ
โรคขนแปรง โรคนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร มีทางรักษาไหม กระปุกดอทคอมจะพาไปหาคำตอบว่า
ขนแปรงทารก เกิดจากอะไร พร้อมวิธีการดูแลลูกน้อยกันค่ะ
ขนแปรงทารก เกิดจากอะไร
ขนแปรงทารก หรือบ้างก็เรียกว่า โรคขนแปรง มีลักษณะเป็นตุ่มขนฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นขนพิษ ทำให้ลูกไม่สบายตัว ซึ่งแท้จริงแล้วตุ่มขนเหล่านั้นคือลักษณะของ โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) นั่นเอง โดยมักเกิดในทารกก่อนอายุ 2 ขวบ เกิดจากพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้บริเวณรูขุมขนมีการอุดตันด้วยสารเคราติน ทำให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ และเกิดเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง มักพบบริเวณหลัง ต้นแขน หรือต้นขา ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่ได้ทำให้ลูกน้อยคันหรือเจ็บปวด อีกทั้งยังสามารถหายเองได้เมื่อโตขึ้นอีกด้วย
ขนแปรงทารก เป็นอันตรายหรือไม่
มีความเชื่อผิด ๆ ว่า การเป็นโรคขนแปรงทำให้ทารกร้องไม่หยุด นอนไม่หลับ นอนผวา ขากระตุก อีกทั้งยังเป็นขนพิษ ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ขนที่อยู่ในตุ่มดำเหล่านั้นไม่ใช่ขนพิษ ไม่ได้ทำให้เด็กไม่สบายตัว ส่วนอาการอื่น ๆ เช่น นอนผวา ขากระตุก คือปฏิกิริยาตามธรรมชาติของทารกเมื่อเจอสิ่งเร้าที่ทำให้ตกใจแม้เพียงเล็กน้อย เป็นกลไกทางระบบประสาทที่เรียกว่า Jitteriness ซึ่งจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น ส่วนการที่ทารกร้องไม่หยุด หรือนอนไม่หลับ อาจมาจากสาเหตุอื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการอื่น ๆ ของลูกร่วมด้วย สรุปได้ว่า ขนแปรงทารกไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
วิธีรักษาขนแปรงทารก ทำอย่างไรได้บ้าง
คำแนะนำทางอินเทอร์เน็ตบอกว่าให้ใช้น้ำหมากขัดผิวลูกเป็นเวลา 15 วัน จะทำให้ขนแปรงทารกหลุดออก ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขัดถูผิวของทารกไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม จะทำให้ผิวของทารกระคายเคืองและอักเสบ อาจทำให้ติดเชื้อได้ และส่งผลให้เด็กยิ่งทรมาน สำหรับการดูแลผิวลูกที่กำลังเป็นโรคขนแปรง สามารถทำได้ดังนี้
- เลือกใช้มอยส์เจอไรเซอร์สำหรับเด็กที่อ่อนโยนและปราศจากกลิ่น ทาที่ผิวของลูกเบา ๆ เป็นประจำ จะช่วยให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้น และขนแปรงทารกสามารถหายไปได้
- มอยส์เจอไรเซอร์บางชนิดมีเซราไมด์หรือกรดอ่อน ๆ ซึ่งสามารถช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไปได้ ซึ่งทำให้อาการของขนแปรงทารกดีขึ้นได้ รวมถึงมอยส์เจอไรเซอร์ที่มีสารยูเรียก็ช่วยได้เช่นกัน
- หากลูกมีอาการคัน สามารถใช้ยาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่อ่อนโยน ช่วยบรรเทาอาการคันได้
- หลีกเลี่ยงการขัดผิวที่รุนแรงไม่ว่าจะด้วยน้ำหมาก ฟองน้ำ หรือใยขัดตัวใด ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรคขนแปรง ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวล ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการเจ็บปวดแก่ลูกน้อย และสามารถหายเองได้ตามธรรมชาติเมื่อลูกโตขึ้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือดูแลรักษาผิวของเขาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อสร้างเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, haamor.com, nationwidechildrens.org, stanfordchildrens.org, kidsplus.com