ทารกสะอึก เกิดจากอะไร
ทารกสะอึก อันตรายไหม
ลูกสะอึกหลังจากให้นมเสร็จ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด โดยอาการสะอึกจะเป็นอยู่ประมาณ 10-15 นาที และจะหยุดเอง จนกระทั่งลูกเริ่มโตขึ้นอายุได้ประมาณ 4-5 เดือน อาการสะอึกก็จะค่อย ๆ ลดลงไป ไม่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนช่วงแรก ๆ
อย่างไรก็ตาม อาการสะอึกที่ผิดปกติและเป็นอันตราย คือเมื่อลูกสะอึกติดต่อกันนานต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ร่วมกับมีอาการแหวะนมผสมกับน้ำดี เซื่องซึม มีไข้ งอแง ท้องป่อง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคของอวัยวะในช่องท้อง โรคในช่องปอด ความผิดปกติในบริเวณคอและหน้าอก ส่วนในเด็กโตมักจะมีอาการสะอึกแรงกว่าปกติ เหมือนมีอาหารติดคอ หายใจไม่ออก พูดไม่มีเสียง หน้าเขียว คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วรีบพาลูกไปพบแพทย์เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
วิธีทำให้ลูกหายสะอึก
รู้สาเหตุและลักษณะของอาการสะอึกแล้ว คราวนี้เราจะพามาดูวิธีแก้ปัญหากัน ว่าถ้าลูกสะอึกขึ้นมาควรทำอย่างไรบ้าง
1. ไล่ลมหลังกินนม หลังจากที่ลูกกินนมแล้ว คุณแม่ต้องไล่ลมออกให้ลูกทุกครั้ง โดยให้ลูกนั่งตัวตรงบนตัก แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับประคองคางลูกไว้ ให้ตัวลูกเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มือลูบขึ้นจากเอวด้านหลังขึ้นมาถึงต้นคอช้า ๆ อาจใช้การตบหลังเบา ๆ หรือวนมือเป็นวงกลมบริเวณท้องก็ช่วยได้
2. อุ้มลูกให้เรอ โดยใช้วิธีอุ้มพาดบ่า ให้ส่วนหัวพักอยู่บนไหล่ของเรา จัดท่าลูกให้อยู่ในลักษณะตั้งตรง แล้วลูบหลังเบา ๆ เพื่อไล่ลม สัก 5-10 นาที หรืออุ้มเดินไปเดินมา เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วขึ้น
3. กดจุดให้หายสะอึก กดตรงกะบังลมหรือท้องส่วนบนของทารกเบา ๆ จะช่วยลดอาการสะอึกได้
4. ดูดนมแม่แก้สะอึก การให้ลูกดูดนมแม่ก็ช่วยลดอาการสะอึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องกินน้ำ เพราะในน้ำนมก็มีปริมาณน้ำผสมอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เด็กกินนมผง อาจแก้โดยให้เด็กกินนมจากขวด ก็จะช่วยให้เด็กหยุดสะอึกได้เร็วขึ้น
5. ใช้จุกนมหลอก อาการสะอึกในลูกน้อยไม่ได้เริ่มจากการป้อนนมเสมอไป ฉะนั้นเวลาที่ลูกเริ่มสะอึกขึ้นมาเอง ลองปล่อยให้เขาดูดจุกนมหลอกดู อาจจะช่วยให้กะบังลมเกิดการผ่อนคลาย แล้วหยุดสะอึกได้ในที่สุด
ข้อห้าม
- ในเด็กแรกเกิด ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เวลาที่มีอาการสะอึก เพราะน้ำจะยิ่งเข้าไปดันกะบังลม ทำให้ลูกสะอึกมากขึ้นและสำลักได้
- ห้ามใช้วิธีบีบจมูกลูกเพื่อให้กลั้นหายใจแบบที่ผู้ใหญ่ชอบทำกัน เพราะอาจทำให้ลูกขาดอากาศและเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทารกสะอึกอาจเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่อาจมองข้าม คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการสะอึก และเรียนรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยคลายความกังวลไปได้มากแล้วค่ะ แต่ถ้าลองหมดทุกวิธีแล้วก็ยังไม่หายสะอึก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์จะดีที่สุดนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai.com, เฟซบุ๊ก สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, ยูทูบดอทคอม โพสต์โดย หมอปัณฑิตา หมอเด็กภูเก็ต Dr Panthita Phuket Pediatrician