x close

ผดร้อนทารก เรื่องจิ๋ว ๆ น่าจุกจิก ดูแลอย่างไรให้ผื่นหาย ลูกสบายผิว

          ผดร้อนทารก โรคกวนใจที่มักพบในหน้าร้อน ผดร้อนในเด็ก เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องรับมือแบบไหนดี เรามีวิธีรักษาผดร้อนทารกมาแนะนำ เพื่อให้ลูกสบายผิว แฮปปี้ตลอดวัน
ผื่นคัน

          ในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าว แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรายังเหงื่อออกจนเหนียวตัว ลูกน้อยก็ไม่ต่างจากเราเท่าไร ยิ่งถ้าสังเกตดูจะพบว่าบางครั้งลูกก็มีผดผื่นคันเม็ดเล็ก ๆ หรือตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นมาตามใบหน้า คอ ข้อพับ แขน รวมถึงบริเวณขาหนีบ ซึ่งเราเรียกโรคเด็กนี้ว่า “ผดร้อนทารก” นั่นเอง ถึงแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายไปเองได้ในไม่กี่วัน แต่ผดร้อนในเด็กก็ทำให้เกิดอาการคัน ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว จนทำให้ลูกร้องไห้งอแงไม่หยุดได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองมาทำความรู้จักผดร้อนทารก กันดีกว่าว่าเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือกับโรคหน้าร้อนนี้

ผดร้อนทารก คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

          ผดร้อน (Miliaria bubra) คือ หนึ่งในอาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน หรือช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น โดยเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ผดร้อนจะพบมากในเด็กทารกแรกเกิดมากเป็นพิเศษ เพราะผิวหนังบอบบางและต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ดี ทำให้ไม่สามาถระบายความร้อนและเหงื่อได้ดีนัก จึงเกิดเป็นผดผื่นขึ้น
          ผดร้อนทารกสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า คอ หน้าอก หลัง ข้อพับต่าง ๆ หรือใต้ร่มผ้าที่มีความอับชื้น ซึ่งการใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาและแน่นมากเกินไป รวมถึงอยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท ก็เป็นสาเหตุของผดร้อนในเด็กเช่นเดียวกัน

ผดร้อนทารก อาการเป็นอย่างไร

          อาการของผดร้อน แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับความลึกของการอุดตันของท่อเหงื่อ ได้แก่
  • ผดร้อนทารก Miliaria Crystallina เป็นการอุดตันของผิวหนังชั้นบนสุด ตัวผดจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็กประมาณ 1–2 มิลลิเมตร ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน แต่ตุ่มน้ำจะแตกง่ายมาก
  • ผดร้อนทารก Miliaria Rubra เป็นการอุดตันของต่อมเหงื่อบริเวณผิวหนังชั้นนอก แต่ลึกลงไปมากกว่าชั้น Miliaria crystallina มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง หรือตุ่มน้ำใส ๆ มีอาการแสบคันร่วมด้วย
  • ผดร้อนทารก Miliaria Pustulosa เป็นการอุดตันที่ผิวหนังชั้นที่ลึกลงมา มีลักษณะเป็นตุ่มหนอง
  • ผดร้อนทารก Miliaria Profunda เป็นการอุดตันที่เกิดในชั้นหนังแท้ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ไม่เจ็บหรือคัน
     
          สำหรับผดร้อนชนิดที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด คือ Miliaria Crystallina และ Miliaria Rubra มักพบบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสีของเสื้อผ้าหรือผ้าอ้อม เช่น อก คอ หลัง ขาหนีบ และข้อพับต่าง ๆ แม้ว่าผดร้อนแต่ละชนิดจะไม่เป็นอันตราย และสามารถหายไปเองเมื่ออุณหภูมิของร่างกายเย็นลง แต่หากเจ้าตัวน้อยไม่ได้รับการดูแลผิวที่เหมาะสม จากผดผื่นเล็ก ๆ ก็อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย จนลุกลามกลายเป็นแผลอักเสบได้
          อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตเห็นว่าผดร้อนเริ่มแดง ตุ่มน้ำแตก ลูกร้องแสบสะดุ้งเวลาอาบน้ำ หรือขยับตัว ควรรีบพบคุณหมอค่ะ เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่าผิวอาจติดเชื้อ หรือเป็นผดผื่นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น แพ้สารเคมี แพ้อาหาร เป็นต้น

ผดร้อนทารก วิธีรักษาทำอย่างไร

          1. หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ไม่ควรให้ลูกตากแดด และให้อยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้ดี

          2. เลือกให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อโปร่ง บางเบา ระบายอากาศและเหงื่อได้ง่าย เพื่อป้องกันความอับชื้นและการสะสมของเชื้อราหรือแบคทีเรียใต้ร่มผ้า

          3. ถ้าอากาศร้อนมาก ให้พาลูกอาบน้ำเย็น โดยปล่อยน้ำไหลผ่านผิวเบา ๆ ไม่ต้องถูตัวแรงเพื่อลดการเสียดสี เมื่อล้างเหงื่อออกก็จะทำให้ผดผื่นลดลงได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำอุ่น และสบู่ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง

          4. ช่วงที่ลูกเป็นผดร้อนเยอะมาก ควรเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่นไปก่อน เพราะแป้งจะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้ผิวหนังเกิดความร้อนและอักเสบขึ้นได้

          5. หากจะใช้ครีมทาผิวเด็ก ควรเลือกครีมหรือโลชั่นสำหรับเด็กสูตรอ่อนโยน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และไม่ทำให้ผิวอุดตัน

          6. ในกรณีที่ลูกมีอาการคัน สามารถใช้ยาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อบรรเทาอาการ อย่าง คาลาไมน์ หรือลาโนลิน

ผื่นคัน

          ปกติแล้วอาการผดร้อนทารกจะดีขึ้นเองเมื่ออากาศเย็นลง แต่หากผดคงอยู่นานกว่า 2–3 วัน หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น เจ็บ บวม เป็นรอยแดงที่ผิวหนัง รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณรอบผด มีไข้ หนาวสั่น เกิดแผลพุพอง มีหนองไหลออกจากปากแผล หรือต่อมน้ำเหลืองบวมในบริเวณคอ รักแร้หรือเชิงกราน ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเฉพาะทางค่ะ

วิธีป้องกันผดร้อนในเด็ก

  • หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ผิวของลูกน้อยระคายเคือง เช่น สบู่ ขนสัตว์ อาหารที่ลูกแพ้ อากาศร้อน เสื้อผ้าหนา ๆ ซึ่งทำให้ลูกเหงื่อออกง่าย เป็นต้น
  • ดูแลผิวลูกน้อยให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยการอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง พร้อมใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและให้ความชุ่มชื้นได้ จากนั้นทาขี้ผึ้ง หรือใช้เป็นวาสลีน โลชั่น ครีมทาผิว ชนิดสำหรับเด็กก็ได้เช่นเดียวกัน
  • หมั่นสังเกตอุณหภูมิร่างกายของเด็กอยู่เสมอ โดยดูจากผิวที่เริ่มมีสีแดงเลือดฝาดหรือเสื้อผ้าที่เปียกชื้น รวมถึงสังเกตผิวของลูกน้อย โดยเฉพาะลำคอ หว่างขา และบริเวณข้อพับอื่น ๆ หากผิวหนังของลูกมีความร้อน ชื้น หรือมีเหงื่อออกมาก ควรล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเย็นและซับเบา ๆ ให้แห้ง
          ปัญหาผดร้อนทารกสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก ๆ ทุกคน พ่อแม่จึงควรรู้วิธีจัดการและดูแลผิวของลูกน้อยให้ดีที่สุด เพื่อความสบายตัวและสบายใจทั้งครอบครัว
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผดร้อนทารก เรื่องจิ๋ว ๆ น่าจุกจิก ดูแลอย่างไรให้ผื่นหาย ลูกสบายผิว อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2565 เวลา 14:46:41 13,609 อ่าน
TOP