โคลิก คืออะไร
อาการโคลิกในทารก เป็นยังไง
วัยทารก การร้องไห้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่เด็กที่มีอาการโคลิกจะร้องไห้มากและหนักกว่าเด็กทั่วไป และยังมีอาการที่สังเกตได้เพิ่มเติม ดังนี้
- ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้หิว ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ไม่มีไข้ใด ๆ
- ร้องไห้ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน
- กำหมัดแน่น หรืองอขาเข้าหาหน้าท้องเวลาร้องไห้
- ร้องไห้แบบรุนแรง เหมือนโมโห ร้องแผดเสียง
- ร้องไห้เหมือนมีอาการเจ็บปวด
- ร้องไห้จนหน้าแดง ตัวแดง
อีกทั้งเวลาที่ลูกน้อยร้องไห้หนัก ๆ พวกเขามักจะกลืนเอาอากาศเข้าไป ส่งผลให้ท้องแน่น ตึง จุกเสียด ทำให้ไม่สบายตัวและร้องหนักยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรช่วยลูกเอาลมออกด้วยการทำให้เรอหรือผายลม เป็นต้น
สาเหตุของอาการโคลิกคืออะไร
ยังไม่มีสาเหตุระบุแน่ชัดของอาการโคลิก แต่แพทย์เชื่อว่ามีสาเหตุหลายประการสนับสนุนกัน และส่วนใหญ่มักจะเกิดกับอาการทางช่องท่อง ดังนี้
- อาการเจ็บปวด หรือไม่สบายตัวจากแก๊สในกระเพาะ หรืออาหารไม่ย่อย
- ระบบย่อยอาหารยังไม่พัฒนา หรือยังทำงานได้ไม่เต็มที่
- ให้ลูกกินอาหารมากไป หรือกินน้อยไป
- แพ้นมผงหรือนมแม่
- การปวดไมเกรนในทารก
- ปฏิกิริยาต่อความกลัว ความไม่พอใจ หรือความตื่นเต้น
- จิตวิทยาระบบประสาทและพัฒนาการในทารก
วินิจฉัยได้อย่างไรว่าลูกเป็นโคลิกหรือเปล่า
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยร้องไห้จนผิดปกติควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาหารว่าเป็นโคลิกหรือไม่ หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยแพทย์อาจจะถามคำถาม เช่น
- ลูกร้องไห้นานแค่ไหนและบ่อยแค่ไหน
- พ่อแม่พบสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องหรือไม่
- คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีไหนทำให้เขาหยุดร้อง
- แพทย์อาจทำการตรวจเลือดหรือเอ็กซ์เรย์เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุว่าลูกมีอาการผิดปกติหรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่
บรรเทาอาการโคลิกให้ลูกได้ยังไงบ้าง
การป้อนอาหาร
ถ้าให้นมแม่
- ให้คุณแม่ระมัดระวังเรื่องอาหารการกินของตัวเอง เพราะอาจจะส่งผลถึงสารอาหารที่ลูกน้อยจะได้รับ รวมไปถึงอาการจุกเสียดของลูกด้วย
- คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงกาแฟและช็อกโกแลต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ลูกไม่สบายท้องได้
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว ถ้าลูกมีอาการแพ้หลังกินนมแม่ ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการลูกด้วย
- ถ้าคุณแม่กินยาเป็นประจำ ให้ปรึกษาแพทย์ว่ายาที่กำลังรับอยู่ส่งผลต่อลูกหรือไม่
ถ้าให้นมผงหรืออาหารเสริม
- ลองเปลี่ยนยี่ห้อ เพราะบางทีลูกอาจแพ้โปรตีนบางชนิดในนมผง
- ลองป้อนนมในปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงการป้อนนมลูกมากเกินไปหรือเร็วเกินไป การให้นม 1 ขวดควรใช้เวลาประมาณ 20 นาที ถ้าลูกกินเร็วให้ลองเปลี่ยนมาใช้จุกนมที่มีรูเล็กลง จะช่วยทำให้ลูกกินช้าลงได้
- อุ่นนมให้อุณหภูมิพอดีกับอุณหภูมิร่างกายของลูก
- ลองจับลูกนั่งแล้วให้ลูกกินนม (อย่าให้ลูกนอนกินนม ให้ลูกนั่งตัวตรง)
การอุ้มลูก
ตามปกติแล้วเด็กที่มีอาการโคลิกมักจะตอบสนองต่อการอุ้มหรือโยกตัวได้ดี โดยพ่อแม่ควรอุ้มลูกแบบนี้
- พาดลูกน้อยไว้ที่แขนหรือตัก แล้วค่อย ๆ นวดหลังลูกเบา ๆ
- จับลูกให้อยู่ในท่านั่งตรง ๆ หรืออุ้มลูกแนวตั้ง ถ้าลูกมีแก๊สในท้อง
- อุ้มลูกในตอนเย็นทุก ๆ วัน
- อุ้มลูกแล้วเดินช้า ๆ
- อุ้มลูกแล้วโยกตัวช้า ๆ แกว่งแขนเบา ๆ เหมือนไกวเปล
ทำให้ลูกรู้สึกสบายขึ้น
นอกเหนือจากการป้อนอาหารและการอุ้มแล้ว การกระทำเหล่านี้ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายขึ้น และทำให้พวกเขาร้องไห้น้อยลงได้เช่นกัน
- ลูบไล้ สัมผัสลูกน้อยอย่างแผ่วเบาเป็นพิเศษ
- ห่อตัวลูกด้วยผ้า
- ร้องเพลงกล่อมเขาเบา ๆ
- ให้เขาอาบน้ำอุ่น ๆ หรือนำผ้าชุบน้ำอุ่นมาเช็ดที่ท้อง
- นวดลูกน้อย ลองปรึกษากุมารแพทย์ดูว่ามีวิธีการนวดเด็กยังไงบ้าง
- พาเขาออกไปสูดอากาศนอกบ้านบ้าง โดยให้เขานอนบนรถเข็นเด็ก
- ให้ยาลดแก๊สในกระเพาะ อย่าลืมปรึกษาแพทย์ว่ายาตัวใดสามารถใช้ได้
โคลิกสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน และไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่หากลูกจะมีอาการนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความใส่ใจ ใจเย็น และมีสติ ค่อย ๆ ดูแลเขาตามอาการ แล้วอาการโคลิกก็จะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : si.mahidol.ac.th, familydoctor.org, hopkinsmedicine.org, kidshealth.org