x close

เด็กทารกท้องเสีย ดูแลยังไง ต้องหาหมอหรือเปล่า มาหาคำตอบด่วน !

          เด็กทารกท้องเสีย เป็นเรื่องที่พ่อแม่ตกใจและกังวลใจมาก ๆ เพราะกลัวว่าลูกจะป่วยหนัก ไปดูกันดีกว่าว่า ทารกท้องเสีย ดูแลยังไง เกิดจากอะไร และต้องระวังเรื่องใดบ้าง
ลูกถ่ายเหลว

          อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กลุ้มใจมากก็คือ ลูกถ่ายเหลว ซึ่งบางครั้งอาจถ่ายเหลวต่อเนื่องหลายวัน วันละหลายรอบ จนคิดว่ามีอาการท้องเสีย แล้วถ้าเด็กทารกท้องเสีย ดูแลยังไง จะป่วยหนักหรือไม่ กระปุกดอทคอมจะพาไปหาคำตอบและแนะนำวิธีการรักษากันค่ะ

เด็กทารกท้องเสีย อาการแบบไหนที่น่าเป็นห่วง

          การถ่ายเหลวของทารกไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะตามปกติแล้วเมื่อทารกได้รับอาหารเหลวเป็นประจำก็จะทำให้ถ่ายเหลวออกมาเป็นธรรมดา แต่ถ้าลูกถ่ายเหลวบ่อยและอุจจาระมีลักษณะแบบนี้จะถือว่าลูกท้องเสียและอาการน่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าระวังดี ๆ ค่ะ
 

  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
     
  • มีสีเขียวหรือสีเข้มกว่าปกติ
     
  • มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
     
  • มีเลือดผสมหรือเป็นมูก

สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องเสีย

          เนื่องจากลำไส้ของเด็กทารกยังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นจึงมีสิ่งเร้าที่ทำให้ท้องเสียได้ง่าย และสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกท้องเสีย มีดังนี้
 

  • ความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น การได้รับเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ที่จะนำไปสู่โรคท้องร่วง ซึ่งเกิดจากการสัมผัสของที่สกปรกแล้วนำเข้าปาก ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในช่วงฟันกำลังขึ้น เพราะลูกจะคันเหงือกแล้วคว้าทุกอย่างไปกัด
     
  • อาหาร โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนอาหารอย่างฉับพลัน จะทำให้ลำไส้ของลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจจะมีสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ในอาหาร ทำให้ท้องเสียได้ง่าย
     
  • แพ้โปรตีนและแลคโตสในนมวัว ในทารกอายุต่ำกว่า 5 เดือน หากกินนมวัวเข้าไปอาจเกิดการแพ้ได้ โดยจะมีอาการท้องเสีย ร่วมกับการหายใจติดขัด อาเจียน หรือมีแก๊สในท้อง
     
  • ดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป จนได้รับน้ำตาลฟรุกโตสเกินจำนวนที่พอดี ส่งผลให้เด็กระคายเคืองท้องและมีอาการท้องเสียได้ โดยส่วนมากจะเกิดในช่วงวัยหัดเดิน (6 เดือน - 2 ขวบครึ่ง) และจะหายไปเมื่อระบบภายในของเด็กแข็งแรงแล้วตอนอายุประมาณ 4 ขวบ
     
  • ยา ถ้าลูกต้องกินยา เช่น ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้ปวดท้องและท้องเสียได้
     
  • สภาพอากาศและการเดินทาง ผู้ใหญ่ที่เดินทางไปแปลกที่แปลกถิ่นอาจเกิดอาการท้องเสียได้ เด็กทารกก็เช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศ อาหาร รวมถึงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็ก ๆ นี่แหละมีความเสี่ยงสูง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ลูกถ่ายเหลว

เด็กทารกท้องเสีย ดูแลยังไง

          สำหรับทารกท้องเสียที่อาการไม่หนักมาก พ่อแม่สามารถดูแลเบื้องต้นได้ที่บ้าน เพื่อทำให้ลูกอาการดีขึ้น โดยสามารถทำได้ดังนี้
 

  • อย่าให้ลูกขาดน้ำ เมื่อท้องเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ แต่การเติมน้ำให้เด็กทารกก็ไม่ควรให้น้ำเปล่า เพราะอาจทำให้ท้องเสียมากขึ้น ดังนั้นควรให้กินนมแม่ตามปกติ หรือให้นมสูตรปกติที่ลูกกินอยู่ รวมถึงอาหารปรุงสุกที่เคยป้อนลูกก็ป้อนตามปกติ
     
  • ปรึกษาแพทย์สำหรับการให้เกลือแร่ เนื่องจากมีเกลือแร่สำหรับเด็ก เช่น Pedialyte ที่สามารถทดแทนของเหลวและเกลือแร่ที่สูญเสียไปได้ โดยแนะนำให้ใช้ปริมาณ 1-1.5 เท่าของปริมาณอาหารปกติที่เด็กกิน (ไม่เกิน 200 มิลลิลิตร) แต่ตามปกติแล้วถ้าอาการไม่รุนแรงมากควรให้เด็กกินแต่นมแม่ก็พอ
     
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อย ๆ พยายามทำให้ก้นลูกแห้งที่สุด เพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อม
     
  • ให้กินอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย หากลูกเริ่มกินอาหารแข็งได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ป้อนอาหารเหล่านี้ จะช่วยบรรเทาอาการและทดแทนแร่ธาตุสำคัญที่สูญเสียไปขณะท้องเสียได้ เช่น ขนมปัง ข้าว กล้วย ซีเรียล พาสต้า เป็นต้น
     
  • หลีกเลี่ยงอาหารอื่น ๆ ที่อาจทำให้ท้องเสียหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนมวัว น้ำผลไม้ต่าง ๆ อาหารทอด อาหารปรุงรส
     
  • ห้ามทารกดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ใหญ่
     
  • ห้ามทารกกินยาแก้ท้องร่วง ยกเว้นจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์แล้วเท่านั้น

ทารกท้องเสีย หนักแค่ไหนควรไปหาหมอ

          พ่อแม่สามารถดูแลทารกท้องเสียได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้ามีอาการที่มองแล้วว่าหนัก ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น
 

  • อุจจาระมีสีขาวหรือสีแดง อุจจาระสีขาว หมายถึง เด็กอาจมีปัญหาในเรื่องของตับ ส่วนอุจจาระสีแดง หมายถึง อาจมีเลือดออกภายในระบบร่างกาย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
     
  • ถ่ายบ่อยมากกว่าวันละ 10 ครั้ง หรือท้องเสียอย่างรุนแรง
     
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการท้องเสีย เช่น อาเจียน มีไข้ น้ำหนักลด อุจจาระมีสีและกลิ่นที่แปลกไป


          หากลูกมีอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสียแบบไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง แต่อย่าลืมสังเกตและเฝ้าระวังอาการให้ดี ๆ หากมีอาการรุนแรงจนน่าเป็นห่วงจะได้พาไปหาหมอได้อย่างทันท่วงที ลูกจะได้ปลอดภัยและสุขภาพดีค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : medicinenet.com, verywellfamily.com (1) (2), healthline.com, cth.co.th, nutricia.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กทารกท้องเสีย ดูแลยังไง ต้องหาหมอหรือเปล่า มาหาคำตอบด่วน ! อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 22:49:10 13,404 อ่าน
TOP