โรคลมชัก คืออะไร
สัญญาณของโรคลมชัก
- ประสาทสัมผัสผิดปกติ - เด็ก ๆ อาจมีอาการชา มีการตอบสนองทางการได้ยิน การได้กลิ่น หรือการมองเห็นที่เปลี่ยนไป
- มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ - ลูกอาจจะมีการเคลื่อนไหวที่อ่อนแรง แข็งเกร็ง หรือกระตุก นอกจากนี้ยังอาจหายใจถี่หรือหายใจเสียงดัง
- มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ - ลูกอาจจะทำอะไรที่ดูสับสน ลังเล หรือช้ากว่าปกติ เช่น การหยิบจับสิ่งของ สวมใส่เสื้อผ้า การเคี้ยวและการกลืนที่แปลกไป หรือแม้แต่การแสดงท่าทีหวาดกลัว
สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก
1. ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์
2. ความผิดปกติของพันธุกรรม และส่งผลต่อการทำงานของสมอง
3. มีภาวะแทรกซ้อนก่อนคลอด ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด
4. เกิดจากภูมิต้านทานของเด็กเอง
5. เกิดจากเนื้องอกในสมอง ที่ไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ซึ่งอาจมีตั้งแต่แรกเกิด
6. เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง
7. มีการติดเชื้อในสมอง รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนหลังติดเชื้อ
8. ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง
9. มีอาการลมชักโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
อาการของโรคลมชักในเด็ก
เมื่อลูกเป็นโรคลมชักจะมีอาการที่สังเกตได้ชัดเจนอยู่ 2 แบบใหญ่ ๆ คือ
- อาการชักทั้งตัว - เวลาชักจะเกร็งและกระตุกนานมากกว่า 2-3 นาที
- อาการชักเหม่อ - เด็กจะมีการเหม่อลอยเป็นพัก ๆ หรือจู่ ๆ คุยแล้วก็หยุดนิ่งไปนานประมาณ 30 วินาที และอาการจะหายไปเอง ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กอายุ 5-10 ขวบ
โรคนี้อันตรายตรงที่อาการชักอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและอาจไม่มีอาการเตือน ส่วนใหญ่แล้วอาการชักมักไม่รุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรง หรือชักเกร็งนาน ๆ ซึ่งรบกวนการหายใจและอาจทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง จึงมีผลต่อสมองในระยะยาว หรือบางคนอาจได้รับอันตรายต่อร่างกาย เช่น ที่ศีรษะ แขน ขา ที่ฟาดกับของแข็งระหว่างชัก หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างชักได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ารับการรักษาต่อเนื่องและผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โอกาสที่จะเกิดอาการชักซ้ำจะลดน้อยลงได้
โรคลมชักในเด็ก รักษาอย่างไร
การรักษาโรคลมชักในเด็ก ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของลูก เช่น ชักบ่อยไหม ชักช่วงเวลาไหน ชักนานหรือไม่ มีอาการนานหรือยัง และนำข้อมูลไปบอกแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาโดย
- ใช้ยากันชัก - เป็นวิธีแรกที่แพทย์จะเลือกใช้ในการรักษา โดยจะคำนึงถึงความเหมาะสมของชนิดการชักและผลข้างเคียงของยา
- ใช้วิธีการอื่น - เมื่อวินิจฉัยแล้วว่ายากันชักอาจได้ผลไม่ดีพอ แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ผ่าตัดสมอง ใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 10 หรือการให้อาหารแบบคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) สำหรับโรคลมชัก ซึ่งเป็นอาหารแบบพิเศษที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอาการลมชักได้ เป็นต้น
โรคลมชักในเด็กมีบางประเภทที่หายขาดได้เองเมื่ออายุมากขึ้น และบางประเภทที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยา ซึ่งแพทย์สามารถหยุดยานั้น ๆ ได้ภายหลังรับประทานเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกินยากันชักต่อเนื่องตลอดชีวิต
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากลูกเป็นลมชัก
พ่อแม่ที่รู้ว่าลูกเป็นลมชัก ก่อนอื่นเลยให้ตั้งสติ พร้อมช่วยเหลือลูกอยู่เสมอ ให้เด็กอยู่ในที่โล่ง จับเด็กนอนราบกับพื้น หันหัวเด็กตะแคงไปด้านข้างเพื่อไม่ให้สำลัก คลายเสื้อผ้าออกเพื่อให้อากาศถ่ายเท ถ้าลูกมีอาการตัวเกร็ง งอ หรือตึง ไม่ควรไปนวดบีบหรือพยายามฝืนอาการของเขา และที่สำคัญห้ามเอาอะไรใส่ปากเพราะจะทำให้สำลักหรือหายใจไม่สะดวก จากนั้นจับเวลาเพื่อแจ้งกับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าชักบ่อย ๆ ติด ๆ ให้รีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ถ้าลูกเป็นโรคลมชัก ห้ามให้ลูกขาดยาเด็ดขาด เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกได้ จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่องและมีความก้าวร้าว แต่ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะเมื่อรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว เมื่อเด็กโตขึ้นอาการจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : epilepsy.com, rch.org.au, โรงพยาบาลนนทเวช, โรงพยาบาลเปาโล