x close

วัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้าง ? เช็กลิสต์วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อยที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

          วัคซีนเด็ก เสริมภูมิต้านทานให้ลูกน้อย ปัจจุบัน วัคซีนสำหรับเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้าง และควรฉีดเมื่อไรดี คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล ตามมาเช็กตารางวัคซีนเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปีกันได้เลย
วัคซีน

          ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดต่าง ๆ มีการกลายพันธุ์และเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมากมาย บางโรคก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางโรคนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว หากมองไปถึงคนรุ่นลูกของเราแล้ว อะไรจะดีไปกว่าการได้เห็นลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงใช่ไหมล่ะคะ ซึ่งทางออกที่จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ให้กับลูกได้นั้นก็คือการฉีดวัคซีนเด็ก เพื่อสร้างเกราะป้องกัน กระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน และปกป้องลูก ๆ จากการเจ็บป่วยได้
 

          อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้มีการคิดค้นวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคสำหรับเด็กได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสงสัยว่า วัคซีนสำหรับเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้าง ทั้งวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนเสริมอื่น ๆ ตามวัย งานนี้กระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลมาไว้ให้แล้วค่ะ

วัคซีนเด็กสำคัญแค่ไหน ทำไมต้องฉีดวัคซีน

          ทารกแรกเกิดไปจนถึง 1 ขวบ จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเด็กหย่านมแล้วภูมิคุ้มกันบางชนิดจากนมแม่จะค่อย ๆ หายไป หากได้รับเชื้อโรคอันตรายในช่วงนี้ เช่น โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บาดทะยัก ก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงได้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กวัยนี้ได้ดีที่สุดก็คือการฉีดวัคซีน โดยเอาแบคทีเรียหรือเชื้อโรคนั้น ๆ มาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือทำให้ตาย ก่อนที่จะฉีดเข้าไปในตัวเด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาสู้กับโรค หากเด็กสัมผัสเชื้อโรคเข้าจริง ๆ ร่างกายก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ เด็ก ๆ ทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดนั่นเองค่ะ

วัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้าง

          วัคซีนขั้นพื้นฐาน คือ วัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรจะได้รับตามคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทยในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

          1. วัคซีนป้องกันวัณโรค หรือ วัคซีนบีจีซี (Bacillus Calmette-Guerin : BCG) ช่วยป้องกันวัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หากรับเชื้อเข้าไปในร่างกายจะส่งผลกระทบต่อปอดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายได้ เช่น สมอง กระดูกสันหลัง ปกติแพทย์จะฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้เด็กทุกคนก่อนออกจากโรงพยาบาล โดยฉีดที่ใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขน หรือหัวไหล่ด้านซ้าย หรือที่สะโพกด้านซ้าย


          2. วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV) ช่วยป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส Hepatitis B หากรับเชื้อไวรัสเข้าไปจะทำให้เกิดโรคทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น วัคซีนนี้ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน


          3. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria, Tetanus, Pertussis : DTP) เป็นวัคซีนรวมที่ช่วยป้องกันโรคต่อไปนี้
 

  • โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้อตายในลำคอ หลอดลมตีบ ทำให้หายใจลำบาก และมีโอกาสนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ
     
  • โรคบาดทะยัก เกิดจากเชื้อบาดทะยัก ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง หายใจลำบาก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
     
  • โรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ อาการจะรุนแรงหากเกิดขึ้นกับเด็ก และอาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดแฟบ ปอดอักเสบ


          โดยฉีดชุดแรก 3 ครั้ง หลังจากนั้นควรมีการฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกในช่วงอายุ 1 ขวบ 6 เดือน และเมื่อมีอายุ 4-6 ขวบ โดยฉีดเฉพาะคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต

วัคซีน

          4. วัคซีนโปลิโอ (Polio) ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เมื่อติดเชื้อแล้วจะส่งผลต่อสมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโปลิโอ แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน โดยมีทั้งแบบฉีดและแบบหยอด สามารถใช้แทนกันได้ตามความเห็นของแพทย์


          5. วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles Mumps Rubella vaccine : MMR) เป็นวัคซีนรวม ต้องฉีดให้ลูก 2 ครั้ง โดยช่วยป้องกันโรคดังต่อไปนี้
 

  • โรคหัด ทำให้เป็นผื่นแดง มีไข้ ตาแดง มีโอกาสทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน และสมองอักเสบ สามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม
     
  • โรคหัดเยอรมัน ทำให้ผู้ติดเชื้อปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอและใบหูโต ตามมาด้วยอาการผื่นขึ้นลามตั้งแต่ใบหน้าไปถึงแขนขา ก่อนจะค่อย ๆ หายไป หัดเยอรมันจะรุนแรงเมื่อติดในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
     
  • โรคคางทูม ทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ บางรายอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย แม้คางทูมอาจไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ ข้ออักเสบ ระบบประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
     

          6.วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis virus : JE) ป้องกันเชื้อเจอีไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุกว่า 80% ของไข้สมองอักเสบในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยต้องฉีดวัคซีนนี้ให้ลูก 2 ครั้ง


          7. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย และปวดหัวรุนแรง ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

 

  • 8. วัคซีนเอชพีวี (HPV) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70-90% ควรฉีดตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป 
วัคซีน

วัคซีนเสริมเพิ่มภูมิต้านทานโรคอื่น ๆ

          นอกจากวัคซีนขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญสำหรับเด็ก ๆ แล้ว ยังมีวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเสริมภูมิต้านทานโรคให้ครอบคลุมขึ้น ข้อดีของวัคซีนเสริมคือ มีวัคซีนชนิดรวมฉีดเข็มเดียวแทนการแยกฉีดหลายเข็ม ลูกจึงเจ็บตัวน้อยครั้ง และคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ โดยวัคซีนเสริมที่แนะนำ มีดังนี้

  • วัคซีนโรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นวัคซีนชนิดกิน ช่วยป้องกันอาการท้องเสียจากเชื้อโรต้าไวรัส และลดความรุนแรงของโรคที่พบบ่อย ๆ ในเด็กได้
     
  • วัคซีนนิวโมคอคคัส (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) ป้องกันโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้ง
     
  • วัคซีนฮิบ (Haemophilus influenzae type b Vaccine) เป็นวัคซีนที่อยู่ในวัคซีนชนิดรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ โดยฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง
     
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ป้องกันการติดเชื้อวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม หรือถ้ามีการระบาดของโรคสามารถฉีดเข็มที่สองก่อนได้ แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
     
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ (Hepatitis A Vaccine) ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป
     
  • วัคซีนไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 ขวบขึ้นไป ต้องมีประวัติเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนรับวัคซีน

ตารางวัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรในแต่ละช่วงเดือน

          การฉีดวัคซีนของเด็กนั้นจะต้องให้ตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เพื่อสุขภาพของเด็กและลดการแพร่ระบาดของโรค กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กแบ่งออกได้ตามช่วงอายุ ดังนี้
อายุ วัคซีนที่ให้ ข้อแนะนำ
แรกเกิด HB1 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
  BCG วัคซีนป้องกันวัณโรค ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล
1 เดือน HB2 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เฉพาะรายที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี
2 เดือน DTP-HB-Hib1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ  
  OPV1 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
  Rota1 วัคซีนโรต้า ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 ในเด็กอายุมากกว่า 15 สัปดาห์
4 เดือน DTP-HB-Hib2 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ  
  OPV2 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
  IPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน 1 ครั้ง
  Rota2 วัคซีนโรต้า ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
6 เดือน DTP-HB-Hib3 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ  
  OPV3 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
  Rota3 วัคซีนโรต้า ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
9 เดือน MMR1 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน หากไม่ได้ฉีดเมื่ออายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด
1 ขวบ LAJE1 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์  
1 ขวบ 6 เดือน DTP4 วัคซีนรวมป้องการโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน  
  OPV4 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
2 ขวบ 6 เดือน LAJE2 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์  
  MMR2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน  
4 ขวบ DTP5 วัคซีนรวมป้องการโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน  
  OPV5 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
ประถมศึกษาปีที่ 1
(ตรวจสอบประวัติและเก็บตกวัคซีน)
MMR วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน เฉพาะรายที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์
  HB วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี  
  LAJE วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์  
  IPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด  
  dT วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก  
  OPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน  
  BCG วัคซีนป้องกันวัณโรค  
ประถมศึกษาปีที่ 5 (เฉพาะผู้หญิง) HPV1 และ HPV2 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน
กรณีเด็กไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้ฉีดที่อายุ 11-12 ปี
ประถมศึกษาปีที่ 6 dT วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก  

มากกว่า 13 ปีขึ้นไป
จนถึงผู้ใหญ่

Varicella vaccine วัคซีนอีสุกอีใส ให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างกัน 1 เดือน

ข้อควรรู้สำคัญเกี่ยวกับการรับวัคซีน

  • นำสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กหรือสมุดวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ดูประวัติสุขภาพ และลงบันทึกติดตามการรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
     
  • วัคซีนบางชนิดต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง และอาจต้องฉีดกระตุ้น จึงจะได้ผลในการป้องกันโรคได้เต็มที่ อย่าลืมพาเด็กมารับวัคซีนตามกำหนดนัด
     
  • ไม่ควรให้ลูกรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสีย โดยไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
     
  • ถ้าเด็กเคยมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีผื่นลมพิษขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
     
  • หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งพักรอเพื่อสังเกตอาการแพ้วัคซีนที่โรงพยาบาล อย่างน้อย 30 นาที


          หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถพาลูก ๆ ไปฉีดวัคซีนได้ตามกำหนดเวลา เนื่องจากติดเหตุจำเป็น หรือเด็กมีอาการป่วย หลังจากหายดีแล้วให้รีบพาลูกไปฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ให้นับต่อไปได้เลย เพราะหากละเลยจนทำให้เด็กได้รับวัคซีนไม่ครบ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายได้
 

          อย่างไรก็ตาม ก่อนฉีดวัคซีนให้ลูกควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งถึงแผนการฉีดที่แน่นอน อาการแพ้หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ ของเด็ก เพื่อความปลอดภัยด้วยนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ddc.moph.go.th, thaipediatrics.org, synphaet.co.th, paolohospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้าง ? เช็กลิสต์วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อยที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้ อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 16:45:31 8,683 อ่าน
TOP