ซน.. หรือสมาธิสั้นกันแน่? (momypedia)
โดย: อรุณเบิกฟ้า
ความกังวลของพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่พ้นลูกเป็นสมาธิสั้น
สมาธิสั้นเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันในประเทศไทยเมื่อไม่ถึง 10ปีมานี้เองค่ะ และมีแนวโน้มจะเกิดจากการที่สมองสูญเสียสมรรถนะบางส่วนเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง พ.ญ.เบญจพร ปัญญายงทำการศึกษาพบว่า 3-5% ของเด็กไทยเป็นโรคสมาธิสั้นอาการที่แสดงออกเด่นชัดมีอยู่ 3 อย่างค่ะ ดูเผิน ๆ อาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ!นี่ลูกฉันหรือเปล่าเนี่ย? แต่ต้องอ่านรายละเอียดแล้วแยกแยะให้ชัดเจนนะคะเพราะเด็กซน ๆ บางคนก็แค่ดูคล้ายเท่านั้นซนไม่ธรรมดา ..เพราะว่าสมาธิสั้น
1. สมาธิสั้น ซึ่งสมาธิในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการจดจ่อเพื่อรับสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่งให้นาน พอที่จะเรียนรู้ได้ เมื่อไรก็ตามที่เราจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งสมองมีความสามารถพิเศษที่จะตัดสิ่งเร้าไม่พึงประสงค์ออกไปสุดท้ายจะรับเฉพาะเรื่องที่สนใจเพียงเรื่องเดียวถ้าใจลอยไปคิดเรื่องอื่นสักแว่บหนึ่ง ก็ยังพอดึงกลับมาต่อกับเรื่องเดิมได้โดยทั่วไป ผู้ใหญ่จะมีสมาธิประมาณ 45 นาที ส่วนเด็ก ๆสมาธิยังไม่ยาวขนาดนั้น แต่เขาจะค่อยๆพัฒนาไปเป็นลำดับเมื่อสมองเติบโตเต็มที่
แต่เด็กสมาธิสั้นจะพัฒนาได้ช้ากว่า เช่นตอนอนุบาลมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่ครูเล่าได้ 15-30 นาที พอขึ้น ป.1เพื่อน ๆ พัฒนาไปได้ 40 นาที แต่เด็กสมาธิสั้นยังคงอยู่เท่าเดิม ไม่ไปไหนถูกเบี่ยงเบนก็ง่าย แถมเวลาใจลอยไปแล้วก็ไปเลย ดึงกลับมาไม่ได้
2.ซนเด็กสมาธิสั้นจะซนกว่าเด็กปกติอย่างเห็นได้ชัด คือถ้าสมาธิดีเด็กจะซนอยู่กับเรื่องเดิมได้นาน แต่เด็กสมาธิสั้นจะซนเรื่องเดิมได้ไม่นานแล้วก็มีความเร็วสูง (hyperactive)จึงมักจะมีของแถมเป็นบาดแผลติดตัวอยู่บ่อยๆเด็กทั่วไปถึงซนยังไงก็รู้จักระวังตัววิ่งเฉียดขอบโต๊ะเก้าอี้ก็เบี่ยงตัวหลบทัน แต่เด็กสมาธิสั้นหลบไม่ทันค่ะและสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถควบคุมเด็กสมาธิสั้นได้เพราะสมองบังคับตัวเขาไม่ค่อยจะได้ ดังนั้นแม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือเจอผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นหน้าเขาก็ยังซนเหมือนเดิม ในขณะที่เด็กทั่วไปจะระวังตัวหรือเกร็งๆ อยู่บ้าง
3.หุน หัน (impulsive) ทันทีที่มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เขาจะโต้ตอบฉับพลัน เช่น ครูถามว่า "ใครรู้คำตอบบ้างยกมือขึ้น"เด็กปกติจะยกมือ แต่ถ้าเด็กสมาธิสั้นรู้ เขาจะลัดคิวตอบเลยลองนึกภาพกรณีอื่นๆ เช่น ไม่รู้จักรอคอยหรือโมโหเพื่อนเมื่อไรก็ใช้กำลังตอบโต้ทันที
อาการ3 ข้อนี้ เด็กปกติก็มีค่ะ แต่มีในลักษณะที่ควบคุมได้ส่วนเด็กสมาธิสั้นจะมีเยอะกว่า ควบคุมได้ยากกว่าและพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่า สมาธิสั้น เสี่ยงต่อสารพันปัญหา
สมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษา จะกลายเป็นปัญหาในตอนโตค่ะมันจะไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมเกเร และซึมเศร้า มีการศึกษาพบว่า 20-25%ของคนในคุกและสถานกักกันเยาวชนหลายๆ ประเทศ ตอนที่ยังเด็กพวกเขามีอาการเหมือนสมาธิสั้นส่วนเด็กในสถานพินิจของไทยก็มีอาการซึมเศร้าร่วมอยู่ประมาณ 20-30%(อาการซึมเศร้ามีทั้งแบบที่หันใส่ตัว คือทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายกับซึมเศร้าแล้วหันไปเล่นงานคนอื่น
แล้วที่สำคัญ สมาธิสั้นยังไปสัมพันธ์กับเรื่องยาเสพย์ติดอีกด้วย ในอเมริกาเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานเลยว่า ถ้าพบผู้ติดยาแล้วมีอาการสมาธิสั้นให้รักษาโรคสมาธิสั้นก่อน แล้วประเมินอีกทีว่าเลิกติดไหม ถ้าเลิกก็จบโดยไม่ต้องใช้การบำบัดเลย ทำไมเป็นเช่นนั้น? ดูที่อาการกันอีกทีค่ะ
เวลาเรียนหนังสือ เด็กอื่น ๆ เรียนได้หนึ่งชั่วโมง เด็กสมาธิสั้นเรียนได้ 20นาที พอเรียนไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนก็ย่อมไม่ดีผู้ใหญ่ไม่คิดว่าเขาป่วยหรอกค่ะ ส่วนใหญ่จะว่าเขาโง่ ไม่รับผิดชอบมากกว่าเวลาซนก็โดนดุโดนตี และเมื่อหุนหัน เล่นกับเพื่อนก็แย่งตลอดเพราะไม่เคยรอคิวของตัวเองได้ หรือเพื่อนแหย่นิดเดียวก็ชกทันที บ่อยเข้าเพื่อนก็ไม่อยากคบ ไม่อยากเล่นด้วย
ถ้าโดนอย่างนี้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ 7-8 ขวบ โตขึ้นหัวใจดวงน้อย ๆ จะเหลืออะไร...ฉันเป็นคนดีหรือไม่ ชักไม่แน่ใจเหมือนกันแต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจอยู่บ้างว่าในปัจจุบันทันทีที่ครูพบเด็กเรียนไม่ดี ครูจะคิดถึงหมอก่อนไม้เรียว ไม่ดุไม่ตีจะเชิญผู้ปกครองให้พาไปหาหมอ เพราะสมาธิสั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆของการเรียนไม่ดีด้วยเหมือนกันช่วยลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร
กุมารแพทย์ทุกคนสามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้ ถ้าพบว่าเป็นจึงจะส่งต่อไปรักษามีรายงานว่า 1 ใน 3 สามารถหายเป็นปกติ 1 ใน 3 พอโตแล้วก็ยังมีอาการอยู่ส่วนอีก 1 ใน 3 ยังคงมีอาการอยู่ แต่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้การรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแต่พ่อแม่ก็เป็นแรงสำคัญในการปรับพฤติกรรมของลูก ไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆตามมา หมายความว่าเวลาลูกซน พ่อแม่ต้องดุน้อยลง ตีน้อยลง หรือเลิกตีไปเลยถ้าจะให้ลูกทำงานบ้าน ก็อย่าสั่งทีเดียวหลายรายการติดกัน เช่น
"เดี๋ยวเอาผ้าไปเช็ดโต๊ะกินข้าว แล้วเอาขยะไปเท พอเทขยะเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมล็อกประตูด้วยนะ"
โถ...สมาธิหนูก็สั้นจะตายอยู่แล้ว แม่ยังสั่งทีเดียวตั้ง 3 อย่าง ถ้าลูกสมาธิสั้นบอกเขาทีละอย่างค่ะ เทคนิคเวลาจะบอก ให้เรียกชื่อเขาก่อน เช่น "แอนท์"แล้วจับให้เขาหันมา ลดตัวลงไปให้สายตาอยู่ระดับเดียวกันมองตาลูกให้รู้ว่าเขาตั้งใจฟังเราอยู่ แล้วค่อย ๆ พูด
"แอนท์ เอาผ้าไปเช็ดโต๊ะนะลูก" แค่นี้พอ อย่างเวลาลูกกลับจากโรงเรียนเนื้อตัวสกปรกเลอะเทอะ พ่อแม่จะพูดเหมือนกันทุกบ้าน (ราวกับเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ)
"แอนท์เอ๊ย...เวลาไปโรงเรียน แม่ส่งไปเรียนนะ ไม่ได้ส่งไปเล่นทำไมเนื้อตัวสกปรกเลอะเทอะไปหมดอย่างนี้ แม่ซักผ้าเหนื่อยรู้ไหมตัวเม้น...เหม็น ไปอาบน้ำ"
3ประโยคแรกลูกก็ไปแล้วค่ะ สิ่งที่ต้องการจะบอกคือไปอาบน้ำ ก็เอาไว้ข้างหน้าเริ่มต้นประโยคด้วย "ไปอาบน้ำ" แล้วจะสาธยายอะไรก็ว่าไป(แต่ยังไงลูกก็ไม่ได้ยินหรอกค่ะ เพราะเขาสมาธิไม่ดีแล้วแม่ก็เป็นสิ่งเร้าที่ไม่น่าสนใจเท่าไรซะด้วย)
เด็กสมาธิสั้นจะถูกดึงจากสิ่งเร้ารอบตัวได้ง่าย เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ที่ทางสำหรับทำการบ้าน อ่านหนังสือ ก็จัดให้เป็นสัดส่วนลดสิ่งรบกวนให้น้อย เวลาเด็กทำการบ้าน พ่อแม่อาจจะต้องปิดทีวีหรือมานั่งอ่านหนังสืออยู่ข้าง ๆ สร้างบรรยากาศ(รังสีอำมหิต) ให้ลูกเมื่อซนแล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อยก็ต้องปรับสิ่งแวดล้อมให้เด็กอยู่ได้อย่างปลอดภัยลดสิ่งกีดขวางในบ้านให้น้อยลง
แล้วก็หาที่ทางให้ลูกได้ระบายความซนด้วย อาจจะพาไปตามสวนสาธารณะให้เขาได้ออกกำลังเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่มันเหลือเฟือ พอเหนื่อยมาก ๆพลังงานลด แบตฯเริ่มอ่อน อาการจะดีขึ้น แถมยังได้ผลดีเรื่องสุขภาพด้วย
ความหุนหันก็พอช่วยได้ เช่น พาไปในสถานที่ที่มีกติกาบังคับให้เขาต้องคอย เช่นไปฝึกเข้าคิวซื้อของ เล่นเกมที่มีการรอคอย เช่น หมากกระดาน งูไต่บันไดสมมติลูกเราเคยคอยได้สัก 10 วินาทีพอถึงตาของพ่อแม่ก็แกล้งยืดเยื้อไปสักหน่อย รอให้เวลาผ่านไปสัก 11-12วินาที พอลูกชักจะทนไม่ไหว กระสับกระส่าย ค่อยทอยลูกเต๋าแว้บนั้นลูกก็คอยเพิ่มได้อีก 2 วินาที ทำอย่างนี้บ่อย ๆจะพบว่ายืดเวลาการรอคอยของเขาได้วิธีนี้นักบำบัดเคยทดลองใช้ได้ผลมาแล้วนะคะแกล้งลูกดูบ้างก็น่าสนุกดีเหมือนกัน
เวลาหุนหันสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือความโกรธ โกรธเฉย ๆ ไม่เป็นไรเวลาไม่สบอารมณ์หรือถูกขัดใจ ใคร ๆ ก็ต้องโกรธแต่ถ้าโกรธแล้วขว้างปาข้าวของ ทำร้ายคนอื่น แบบนั้นไม่ดีค่ะ เวลาลูกโกรธสอนให้เขารู้จักระบายออกอย่างเหมาะสม เช่น
"อย่าตีแม่ลูก ถ้าโมโหให้บอกเลยว่าโมโหนะ"
ถ้าทำทั้งหมดแล้ว อาการของลูกยังไม่ดีขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าสมองเขามีปัญหาจริงๆ อาจจะต้องพึ่งยา บางกรณีฤทธิ์ของยาช่วยเด็กได้มากถึงขนาดที่ว่าเด็กบางคนก่อนมาหาหมอฟังครูได้ครึ่งเดียว พอกินยาฟังได้จนจบเลย จากที่เคยสอบได้ท้ายห้องก็ขึ้นมาถึงลำดับต้น ๆกลายเป็นเด็กที่มีความสุข เพราะเพิ่งค้นพบว่าตัวเองเก่งที่ผ่านมาแค่ไม่สบายเท่านั้น
ยากลุ่มนี้ก็จะมีวิธีใช้ที่ ปลอดภัย ไม่ต้องวิตกค่ะแล้วหมอก็จะหยุดให้ยาในช่วงปิดเทอมเพราะไม่จำเป็นต้องควบคุมพฤติกรรมมากนัก ถ้าไม่รบกวนที่บ้านช่วงหยุดยาเป็นโอกาสดีที่จะดูว่าเด็กดีขึ้นไหม บางกลุ่มหยุดยาแล้วดีเลยแต่บางกลุ่มต้องกินยาจนเป็นวัยรุ่นก็มี ในกลุ่มที่หายขาดสมาธิสั้นอาจจะเป็นเรื่องวุฒิภาวะของสมอง เมื่อสมองโตเต็มที่ อาการจะดีขึ้น
สมาธิสั้นไม่ใช่โรคร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้ ขอเพียงเข้าใจเท่านั้นสำคัญที่พ่อแม่ต้องขวนขวายหาความรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆเพราะถ้าได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือตั้งแต่ยังเล็กใจของเด็กยังไม่เสียไปมาก แต่ก็อย่าถึงขั้นตื่นตระหนกจนเกินไปพ่อแม่หลายคนพาลูกไปหาหมอตั้งแต่อนุบาล ตอนนั้นยังแยกไม่ออกหรอกค่ะเพราะอาการสมาธิสั้นจะมาเด่นชัดในชั้นประถมเพราะเริ่มมีการเรียนที่เป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นจึงพอแยกแยะได้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินลูก
ถึงแม้ว่าสมาธิสั้นจะเป็นอาการที่คนทั่วไปพอเข้าใจได้แต่การวินิจฉัยขอให้อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะคะ ...คุณหมอขอร้อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก