โควิด 19 กับคุณแม่ตั้งครรภ์
แม่ตั้งครรภ์ติด โควิด 19 ส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่
- ขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการรุนแรง เพราะจะมีภาวะไวรัสในกระแสเลือด และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ทำให้ไวรัสสามารถเข้าถึงทารกในครรภ์ได้
- ภายหลังคลอด เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ โดยทารกน่าจะติดเชื้อจากแม่หรือผู้อื่นที่ป่วยเป็นโควิด 19 หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ
แม่ตั้งครรภ์ติด โควิด 19 อาการเป็นอย่างไร
สำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 มักไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็จะเหมือนกับผู้ติดเชื้อทั่วไป คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจติดขัด ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อ้างถึงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 เผยว่า การติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด 19 ในประเทศไทยจำนวน 60 ราย ไม่พบใครมีอาการรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ บางรายมีภาวะปอดอักเสบ แต่ไม่มีรายใดเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน หรือหญิงท้องบางคนจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษก็จะมีปัญหาได้ จึงแนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ด้วยอย่างใกล้ชิด
แม่ตั้งครรภ์ติด โควิด 19 ดูแลตัวเองอย่างไรดี
- ประเมินอาการของตัวเอง วัดไข้ ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ รวมถึงดูอาการแทรกซ้อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะในช่วงการตั้งครรภ์นั้นร่างกายจะอ่อนเพลียง่าย
- ลดกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานเยอะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสริมด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเอง
- ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง
- สำหรับคุณแม่ที่ติดเชื้อ หลังจากคลอดแล้วควรแยกลูกกับแม่ออกจากกัน เพื่อรักษาตัวคุณแม่ให้หายดีเสียก่อน
แม่ติดโควิด 19 หลังคลอด ให้นมลูกได้ไหม
เนื่องจากโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลรอบด้านมากนัก แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเชื้อสามารถติดผ่านทางรกหรือน้ำนม ดังนั้นแม่ที่ติด โควิด 19 จึงสามารถให้นมลูกได้ค่ะ เพียงมีคำแนะนำจากแพทย์ว่า
- ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกกินนมจากเต้า แต่ให้ปั๊มนมเก็บไว้
- ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสชิ้นส่วนปั๊มหรือขวด
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะปั๊มนม
- ให้คุณพ่อหรือผู้ที่ไม่มีเชื้อโควิด 19 เป็นคนป้อนนมแทน
- ทำความสะอาดปั๊มและขวดนมให้เรียบร้อยหลังการใช้
- หากแม่รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก ส่วนการให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ ยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ
แม้จะต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสตัวร้าย แต่เราก็ไม่อยากให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ จนทำให้ช่วงเวลาดี ๆ ระหว่างอุ้มท้องต้องหายไป ลองให้กำลังใจตัวเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และระมัดระวังเรื่องสุขภาพให้มากขึ้น เพียงเท่านี้เจ้าตัวน้อยก็จะลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัยแล้วล่ะค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : who.int, nature.com, hfocus.org, bangkokhospital.com, bumrungrad.com, thaipbs.or.th