ทารก..คือผู้เลือกท่าคลอด!

ตั้งครรภ์

ทารก..คือผู้เลือกท่าคลอด!
(รักลูก)
โดย: นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช

           เวลาคุณแม่มาตรวจครรภ์ คำถามยอดฮิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ใกล้ครบกำหนดคลอดแล้วก็คือ "ลูกเอาหัวลงหรือยังคะ" ซึ่งผมคิดว่าคุณแม่คงจะไม่ได้หมายถึงว่าจะเอาหัวหรือก้นออกก่อน แต่ต้องการรู้ว่าตอนนี้ "ส่วนนำ" (ส่วนที่อยู่ล่างสุด) ของทารกได้เคลื่อนต่ำลงมาผ่านช่องกระดูกเชิงกราน ลงมาถึงปากมดลูกด้านใน เพื่อเตรียมจะเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอดแล้วหรือยังมากกว่า

           ซึ่งภาวะนี้จะเกิดช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือประมาณสัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป แต่สำหรับแพทย์จะกังวลเรื่องท่าในการคลอดของทารกมากกว่าครับ เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดูแลการคลอด ว่าจะเลือกวิธีคลอดปกติทางช่องคลอด คลอดโดยใช้หัวดูด (Vacuum) หรือคีม (Foreps) ช่วยคลอดส่วนหัวของทารก หรือผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องดี รวมทั้งยังมีผลต่อการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น การคลอดติดขัด การตกเลือดหลังคลอด หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนของกระดูกเชิงกราน เห็นมั้ยครับว่าท่าคลอดมีความสำคัญมากขนาดไหน

ส่วนนำ-การคลอด

           ทารกอาจคลอดโดยศีรษะเป็นส่วนนำ (Cephalic) ก้นเป็นส่วนนำ (Breech) หรือเป็นท่าขวาง (Transverse) รวมทั้งท่าเอียง ๆ (Obligue) ก็ พบได้บ้าง แต่โดยทั่วไปที่พบบ่อยที่สุดคือกรณีที่ศีรษะเป็นส่วนนำ เป็นการคลอดปกติและมีความปลอดภัยสูงสุด ตามปกติแล้วศีรษะจะเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของทารกในครรภ์ เนื่องจากประกอบไปด้วยกระดูกของกะโหลกศีรษะเป็นหลัก จึงมีน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น ทำให้หมุนลงมาอยู่ล่างสุด และเป็นส่วนแรกที่จะโผล่พ้นปากมดลูกได้เมื่อคลอด

           แต่ก็จะมีบางกรณีที่ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเอาศีรษะลงมาต่ำสุดได้ เช่น แผ่นรกมีขนาดใหญ่ และเกาะอยู่ส่วนล่างของมดลูก หรือมีเนื้องอกมดลูกอยู่ที่ส่วนล่าง ก็จะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ศีรษะหมุนลงมาได้ รวมทั้งกรณีที่สายสะดือสั้นหรือพันเป็นปมรอบตัวของทารกจนล็อก ทำให้หมุนไม่ได้

           ช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ทารกสามารถหมุนเปลี่ยนท่าส่วนนำได้หลายครั้ง เพราะตัวยังมีขนาดเล็ก จึงเหลือพื้นที่ช่องว่างในถุงน้ำคร่ำมาก แต่พออายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจะโตขึ้นเกือบเต็มโพรงมดลูก ดังนั้นถ้าแพทย์ตรวจพบว่าอะไรเป็นส่วนนำ เมื่อครบกำหนดคลอดทารกก็มักจะคลอดออกมาด้วยท่าเดียวกันนั่นเอง

การช่วยคลอด

           ในอดีตเมื่อพบว่าทารกมีแนวโน้มจะคลอดด้วยท่าก้นหรือท่าขวาง ก็จะรักษาโดยให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก แล้วแพทย์จะใช้มือทั้งสองข้างหมุนเปลี่ยนท่าของทารกจากผนังหน้าท้อง เพื่อให้ศีรษะลงมาเป็นส่วนนำ ซึ่งบ่อยครั้งที่ไม่สำเร็จ และก่อให้เกิดอันตราย เช่น สายสะดือพันคอหรือพันกันเป็นปมได้

           ปัจจุบันนี้การผ่าตัดคลอดมีความปลอดภัยสูงขึ้น วิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เมื่อตรวจพบว่า ส่วนนำไม่ใช่ศีรษะก็จะถือเป็นข้อบ่งชี้ให้แพทย์ทำการผ่าตัด คลอดทันที เนื่องจากกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ปากมดลูก และช่องคลอดของคุณแม่ที่ยังไม่เคยคลอดลูกมาก่อน นั้นแข็งแรง ไม่หย่อนยานหรือขยายได้โดยง่าย ก็อาจเกิดการคลอดติดขัดได้ เพราะการคลอดท่าก้น ก้นซึ่งเป็นส่วนที่เล็กกว่าอาจจะคลอดผ่านออกมาก่อนได้ แต่ส่วนหัวอาจติดกระดูกเป็นเชิงกรานหรือกล้ามเนื้อภายใน ทำให้คลอดไม่ออก

           ซึ่งกรณีนี้แพทย์จะต้องช่วยกันดันทารกกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แล้วย้ายไปผ่าตัดคลอดโดยทันที ทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดของคุณแม่ เกิดการตกเลือด และยังอันตรายต่อทารกอย่างสูงอีกด้วย นี่ยังไม่นับภาวะการติดเชื้อที่จะตามมา เป็นภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้อีก

           สำหรับทารกแฝด ปัจจุบันแนะนำให้ผ่าคลอด แต่ก็จะมีบางกรณีที่อาจดำเนินการคลอดทางช่องคลอดโดยปลอดภัยได้ หากทารกคนที่อยู่ล่างกว่า (คนที่คลอดออกมาก่อนหรือแฝดพี่นั่นเอง) เป็นท่าหัวและอีกคนเป็นท่าก้น เพราะจะช่วยเหลือการคลอดได้ง่ายกว่า

           ในบางกรณีเมื่อตัดสินใจจะคลอดปกติทารก มีส่วนนำเป็นศีรษะแต่เกิดการติดขัดขึ้นมา สูติแพทย์อาจตัดสินใจใช้หัวดูดติดที่ศีรษะทารก แล้วใช้สายต่อกับเครื่องดูดสุญญากาศ ให้เกิดแรงดูดมาที่เครื่องมือที่เป็นสายยางต่อกับมือจับ เราก็ออกแรงดึงมือจับเพื่อช่วยให้ทารกคลอดออกมาได้ เพียงแต่อาจจะเกิดรอยปูดที่หนังศีรษะของทารก ตรงตำแหน่งที่หัวดูดติดอยู่ ซึ่งก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะส่วนใหญ่จะยุบหายไปเองภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีอันตราย

           คีมช่วยคลอดก็เป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นขาโลหะที่มีความโค้งไปตามแนวศีรษะของทารก เมื่อใส่ขาทั้งสองข้างของคีมไปตามผนังช่องคลอด 2 ด้าน แล้วล็อกคีมเข้าด้วยกัน ก็จะช่วยควบคุมทิศทางการดึงให้ศีรษะและตัวทารกคลอดออกมาได้ แต่ในบางครั้งอาจทำให้ผนังช่องคลอดฉีกขาดเป็นแผล มีเลือดออก และต้องเสียเวลาเย็บแผลเพิ่มเติม จากการเย็บแผลตัดฝีเย็บในการคลอดปกติได้

           ปัจจุบันนี้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ที่ได้ศึกษาถึงข้อดี และความปลอดภัยหลายๆ ประการของการคลอดปกติ ที่ดีกว่าการผ่าตัดคลอด เช่น เสียเลือดน้อยกว่า แผลหายเร็วและเจ็บน้อยกว่า มักเลือกคลอดทางช่องคลอดโดยปกติมากกว่า แน่นอนว่าถ้าในครั้งก่อนเคยคลอดเองได้แล้ว ครรภ์นี้ก็จะคลอดปกติได้ไม่ยากนัก

           แม้กระทั่งคนที่เคยผ่าตัดคลอดบุตรในการคลอดครั้งแรกมาแล้ว หากข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดไม่ได้เกิดจากเชิงกรานมารดาแคบ และแพทย์ประเมินขนาดของทารกคนนี้แล้วไม่ได้ใหญ่โตกว่าคนก่อนมาก ก็อาจทดลองให้คลอดทางช่องคลอดได้ เพียงแต่ต้องทำโดยสูติแพทย์ที่มีความชำนาญ ประสบการณ์สูง และต้องเฝ้าดูแลการคลอดตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มดลูกแตก เกิดตกเลือดในช่องท้องคุณแม่ได้

           เห็นมั้ยครับ คำถามง่าย ๆ เรื่องลูกเอาหัวลงหรือยังเพียงคำถามเดียว ก็มีเรื่องน่าสนใจ และรายละเอียดให้คุยกันเป็นความรู้ได้ตั้งมากมายเลยครับ


     
  


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารก..คือผู้เลือกท่าคลอด! อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 12:44:07 9,518 อ่าน
TOP
x close