โรคเบล้าท์ กระดูกโก่ง จากน้ำหนักเกิน

โรคเบล้าท์ - กระดูกโก่ง

โรคเบล้าท์กระดูกโก่งจากน้ำหนักเกิน
(Modernmom)

          เคยเห็นบ้างไหมครับเด็กที่อ้วนมาก ๆ บางคนเวลาเดินจะเดินคล้ายคิงคอง คือ เดินโยกซ้ายโยกขวา มองลงไปที่ขาจะเห็นขาโก่ง ปลายเท้าชิดกัน แต่ช่องระหว่างเข่ากว้างออก ลักษณะอย่างนี้ใช่เป็นเพราะเด็กอ้วนต้นขาใหญ่จนยืนขาชิดกันไม่ได้ หรือเป็นเพราะอ้วนขาเลยโก่งจริง ๆ

          วันนี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับโรคที่ชื่อเบาๆ แต่เกิดกับเด็กหนักๆ โรคหนึ่งคือโรคเบล้าท์ (Blount Disease) ครับ

เพราะอะไร ทำไมขาโก่ง

          ขาเด็กปกติช่วยอายุ 2-3 ปีแรกจะมีลักษณะโก่งตามวัยอยู่แล้ว และยิ่งเด็กอ้วนจะยิ่งมองเห็นความโก่งนี้ชัดมากขึ้นไปอีก การโก่งตามวัยเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวกระดูกที่เกิดเองตามธรรมชาติ แต่ละช่วงอายุจะมีแบบแผนคือ ช่วงสองปีแรกจะโก่งแบบที่ส่วนเข่าห่างออกจากกัน ต่อมาหลังจากอายุสองปี เข่าจะกลับเปลี่ยนมาเป็นชิดกัน เมื่อเด็กอายุเจ็ดปี เข่าจะตรงลักษณะแบบผู้ใหญ่ เนื่องจากการโก่งแบบนี้ เป็นผลของพัฒนาการตามธรรมชาติ ดังนั้น เข่าสองข้างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน นั่นคือเข่าสองข้างจะโก่งเท่าๆ กัน หากเห็นว่าขาข้างใดข้างหนึ่งโก่งเพียงข้างเดียว ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเกิดขึ้นที่ขาข้างนั้นแล้ว

          โรคเบล้าท์เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ขาโก่งได้ ส่วนใหญ่ขาจะโก่งเพียงข้างเดียว แต่การโก่ง มักเห็นชัดและสามารถวินิจฉัยได้แน่นอนโรคนี้มักพบชัดเจนช่วงอายุ 3-5 ปี ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่านี้ หากมีข้อสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ อาจเอกซเรย์วัดมุมของกระดูกหน้าแข้งว่า มีความเสี่ยงต่อโรคนี้หรือไม่ หากมีความเสี่ยงจะได้จับตามองเป็นพิเศษ และอาจต้องได้รับการเอกซเรย์เป็นระยะเพื่อจะให้การรักษาได้เร็ว หากต่อมาเป็นโรคนี้จริงๆ ก็จะเห็นจากภาพเอกซเรย์ว่า เกิดความผิดปกติของกระดูกหน้าแข้งส่วนต้นทางด้านใกล้กลาง ความผิดปกตินี้ เป็นผลจากการที่กระดูกอ่อนส่วนนี้เจริญผิดปกติไป

น้ำหนักสัมพันธ์กับการโก่ง

          เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะอ้วน เชื่อว่าน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดแรงกระทำต่อเซลล์กระดูกอ่อนของกระดูกหน้าแข้ง ที่จะงอกยาวออกมาเป็นกระดูกเกิดมีการเจริญผิดปกติ ในช่วงแรกหากสามารถลดแรงที่มากระทำต่อกระดูกอ่อนลง อาจทำให้กระดูกอ่อนกลับมาเจริญตามปกติได้ สาเหตุอื่นอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และเพศของเด็ก เนื่องจากพบในเด็กหญิงบ่อยกว่าเด็กชาย

          ถึงตอนนี้คงมีคนสงสัยว่า อ้วนแค่ไหนจึงจะทำให้เป็นโรคนี้ เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน สำหรับเด็กแล้ว การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งอ้วนเกินพิกัดหรือไม่ จะต้องพิจารณาโดยนำส่วนสูงและน้ำหนักของเด็กคนนั้นๆ มาคำนวณว่า ดัชนีมวลกายมากเกินกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ของเด็กในวัยเดียวกันหรือไม่ ฟังดูจะเป็นการซับซ้อนเกินไปที่จะมาคำนวณค่าดังกล่าว เอาเป็นว่าหากเห็นลูกหลานของเราอ้วนมากและดูขามีลักษณะโก่ง ก็จะต้องระวังการเกิดโรคนี้ด้วย ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอ

          เมื่อเป็นโรคนี้ การโก่งของขาข้างที่เป็นจะมีการหักมุมอย่างชัดเจน ที่ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง ต่างจากการโก่งของขาตามพัฒนาการ ซึ่งจะโก่งเป็นแนวโค้งเรียบกันไปทั้งกระดูกขาส่วนต้น และกระดูกหน้าแข้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะความผิดปกติในโรคนี้เกิดขึ้นที่กระดูกหน้าแข้ง เพียงจุดเดียวนั่นเอง การโก่งนี้จะค่อยเป็นค่อยไป หากไม่ได้รับการรักษาจะโก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

          เนื่องจากแรงกดที่กระดูกอ่อนเกิดขึ้นที่ครึ่งใกล้กลางของกระดูกอ่อน ส่วนด้านข้างของกระดูกอ่อนจะยังเจริญได้ตามปกติ เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ กระดูกที่ผิวข้อจะผิดรูปดูจากภาพเอกซเรย์ผิวข้อจะเปลี่ยนจากแนวตรง กลายเป็นมุมคล้ายหลังคาหน้าจั่วกระดูกส่วนนี้ประกอบขึ้นเป็นข้อเข่า จึงทำให้ผิวข้อสัมผัสกันไม่ได้เต็มที่ เอ็นเข่าด้านข้างจะค่อยๆ ยืดออก เวลาเดินจะมีลักษณะเข่าหลวม ทางด้านข้างเนื่องจากเอ็นที่ยืดออกนี้เอง

          เด็กที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องความโก่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีอาการเจ็บเข่า ในคนที่โก่งมากอาจมีเข่าโก่งได้ ถึง 45 องศา เนื่องจากปกติผิวข้อของเรา ต้องมีการกระจายแรงอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งผิวข้อ เมื่อเข่าโก่งมากขนาดนี้ น้ำหนักตัวจะถ่ายมาทางด้านในของเข่าค่อนข้างมาก ผิวข้อด้านในจะมีโอกาสสึกหรอได้เร็ว และจะทำให้ปวดข้อจากข้อเสื่อมได้

รักษาด้วยการผ่า

          โรคนี้รักษาโดยการผ่าตัด แต่การผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะของโรค และลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้น การผ่าตัดระยะแรกในช่วงที่ยังเป็นน้อย จะได้ผลสีหากผ่าตัดก่อนอายุ 5 ปี ในช่วงอายุนี้ เมื่อเข่าได้รับการแก้ไขให้ตรง จะลดแรงกดทางด้านใกล้กลางของกระดูก อาจทำให้กระดูกอ่อนกลับมาเจริญเป็นปกติได้อีก หากผ่าตัดเมื่ออายุมากกว่านี้ มีโอกาสจะเกิดการโก่งซ้ำหลังการรักษา เนื่องจากกระดูกอ่อนหยุดการเติบโตอย่างถาวร เหมือนการรักษาโรคที่เกิดในเด็กทั่วไป การรักษาในอายุที่มากขึ้นทำได้ยาก นอกจากต้องผ่าแก้ความผิดรูปของผิวข้อแล้ว ยังเป็นการยากที่จะทำให้เอ็นซึ่งยืดออกไปแล้วกลับมากระชับอีก

          เมื่ออ่านถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ความอ้วนเป็นเรื่องสำคัญกับการเกิดโรคนี้ และความอ้วนก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ อีกหลายโรค การป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเกินไป จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคนี้ หากเห็นเด็กอ้วนมีขาโก่งเพียงข้างเดียว และโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบพามาพบคุณหมอ เพื่อตรวจดูว่าเกิดโรคนี้หรือไม่ หากเกิดโรคนี้จริงควรรักษาแต่เนิ่น ๆ จะได้ผลดีกว่าการรักษาตอนโต การใส่รองเท้าดัดขาต่าง ๆ ได้ผลไม่แน่นอนและไม่แนะนำสำหรับโรคนี้ครับ




    



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.182 ธันวาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเบล้าท์ กระดูกโก่ง จากน้ำหนักเกิน อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:24:51 3,019 อ่าน
TOP
x close