รก...เรื่องน่ารู้คู่ครรภ์แม่

ตั้งครรภ์

รก...เรื่องน่ารู้คู่ครรภ์แม่
(Mother & Care )

           "แย่จัง มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องมาก ปวดหลังมากด้วย"

           "ตื่นเช้าขึ้นมาชุดนอนเปื้อนเลือด ผ้าปูที่นอนก็เลอะ เป็นอะไรกันนี่"

           "ช่องคลอดมีเลือดไหล สดๆ ก็มี เป็นก้อนก็มี แต่ก็ไม่เจ็บท้องนะ"

           "คลอดลูกมาตั้งชั่วโมงแล้ว รกไม่ยอมคลอดซักที ผิดปกติแน่ๆ"

           ทราบไหมคะว่า อาการและความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย และการควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างเข้มงวดนั้น ล้วนมีสาเหตุมาจาก รก และการทำงานที่ผิดปกติของรกทั้งสิ้นค่ะ

           รกเกาะต่ำ

           รกลอกตัวก่อนกำหนด  

           รกฝังตัวแน่น 

           รกไม่ยอมคลอด

           รกทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

           รกพันคอเด็ก 

           รกเล็กเกินไป

           รกเติบโตไม่ดี

           เหล่านี้ คือ ความผิดปกติของรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมากก็มีโอกาสพบเจอได้

รู้เรื่อง "รก" เพื่อนคู่สะดือเจ้าตัวเล็ก

           ปกติเมื่อตั้งครรภ์ ไข่ที่ผสมแล้วจะมีการเจริญเติบโต

           ส่วนหนึ่งพัฒนาไปเป็นทารก อีกส่วนพัฒนาไปเป็นรก เติบโตไปพร้อมกัน

           รกจะเกาะติดผนังมดลูก ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์

           ฮอร์โมนช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมต่อการฝังตัวของไข่

           รกเป็นทางผ่านในการส่งสารอาหารและออกซิเจนจากแม่สู่ลูก เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต

           พร้อมกับที่รกจะนำของเสียจากลูกสู่แม่ เป็นการกำจัดของเสียออกไปจากร่างกายลูก

           รกปรับตัวให้ทำงานได้ แม้ช่วงที่แม่ไม่แข็งแรง มีภาวะแทรกซ้อน ขาดอาหาร ป่วยเรื้อรังหรือเฉียบพลัน หรือสูบบุหรี่ แต่รกก็มีขีดจำกัด ถ้าเกิดความผิดปกติหลายอย่างนาน ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง

Problem Reports : ปัญหาเรื่อง "รก" ไม่ใช่ เรื่องเล็ก

           3 ความผิดปกติที่พบบ่อย จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาทันที ได้แก่ รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด รกฝังตัวแน่นไม่ยอมคลอด ส่วนจะดูแลความผิดปกติของรกอย่างไร ต้องรู้เท่าทันปัญหาเหล่านี้ก่อนค่ะ
    
icon 1. รกเกาะต่ำ

            ลักษณะ รกบางส่วนหรือทั้งหมดเกาะที่มดลูกตอนล่าง ซึ่งปกติจะเกาะที่ผนังตอนบนของมดลูก พบได้บ่อยในครรภ์หลังมากกว่าครรภ์แรก และเกิดซ้ำได้ในครรภ์ต่อมา โดยชนิดของรกเกาะต่ำ คือ เกาะต่ำแต่ไม่ถึงปากมดลูก เกาะต่ำและเลยไปบางส่วนของปากมดลูก เกาะต่ำและปิดปากมดลูกไว้ทั้งหมด

           สาเหตุ โพรงมดลูกด้านบนมีแผลเก่า ซึ่งอาจเกิดจากการขูดมดลูก ทำแท้ง การล้วงรก มดลูกมีแผลผ่าตัด การอักเสบติดเชื้อ มีแผลจากการหลุดลอกของรกในครรภ์ก่อน รกจึงไม่สามารถเติบโตในบริเวณแผลได้ พบได้บ่อยในแม่ที่อายุมาก ซึ่งผนังมดลูกจะเสื่อมลงจนเกิดปัญหารกเกาะต่ำ และแม่ที่มีลูกแล้วหลายคน

           อาการ มีเลือดสด ๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ไม่มีอาการปวดท้อง ที่ผ่านมาแม่มักมาพบแพทย์ เพราะมีเลือดออกในช่วงท้ายของครรภ์ เลือดที่ออกอาจไม่มาก แต่ออกบ่อย หรืออาจออกมากจนหมดสติ ถ้าเลือดออกมากอาจมีอันตราย แม่จะช็อกจากการเสียเลือด ลูกในท้องจะขาดออกซิเจนตามมาได้ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตแม่และลูก

What to do !!!

           ป้องกัน ถ้ารกเกาะต่ำที่แผลผ่าตัดคลอดในครรภ์ก่อน รกจะฝังลึกลงในแผล อาจเกิดอันตรายจากการล้วงรกไม่ออกในครรภ์ต่อมา จึงควรเว้นการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แผลผ่าคลอดที่มดลูกสมานดีก่อน

           วินิจฉัย การตรวจที่ง่ายที่สุด คือ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ แพทย์จะไม่ตรวจภายใน เพราะอาจไปกระตุ้นทำให้เลือดออกมาก แล้วถ้าตรวจพบจะต้องรีบรักษาทันที

           ดูแลรักษา รีบพบแพทย์ทันทีที่เลือดออก ถ้าลูกในท้องยังเล็ก เลือดออกไม่มากจะประคับประคองรักษาจนกว่าลูกโตพอ แม่จะต้องนอนพักให้มาก ระวังการกระทบกระเทือนต่อท้องหรือมดลูก ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ระวังหกล้ม หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก จนถึงช่วงครบกำหนดคลอด ถ้าเลือดออกมากจะต้องผ่าตัดทางหน้าท้อง นำทารกและรกออกให้เร็วที่สุด เพื่อให้เลือดหยุดไหล

icon 2. รกลอกตัวก่อนกำหนด

           ลักษณะ รกลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนทารกคลอด อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์หรือเจ็บท้องคลอด แม้จะพบไม่บ่อยเท่ารกเกาะต่ำ แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากไม่แพ้กัน การลอกตัวแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

            1. ลอกตัวตรงขอบรก ทำให้เลือดไหลผ่านปากมดลูกออกมาทางช่องคลอด

           2. ลอกตัวตรงกลางรก แต่เลือดกลับไปค้างอยู่หลังรก ไม่ไหลออกมาให้เห็นทางช่องคลอด

           สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัญหานี้มักพบร่วมกับปัญหาและความผิดปกติบางอย่าง ได้แก่

           มีความดันโลหิตสูง แรงดันในการสูบฉีดเลือดไปยังรกจึงสูงขึ้น ทำให้รกหลุดออกจากผนังมดลูกได้ จึงมักพบร่วมกับแม่ที่ครรภ์เป็นพิษ เนื่องจากมีความดันโลหิตสูง พบได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่า

           ถูกกระแทกหน้าท้องรุนแรง เช่น ลื่นหกล้มจนหน้าท้องกระแทกพื้น หรือเด็ก ๆ วิ่งมาชนหน้าท้อง ฯลฯ

           ลูกมีสายสะดือสั้นมาก เวลาดิ้นอาจกระชากจนรกหลุดออกมาได้

           เคยคลอดหลายครั้ง ผนังมดลูกมักมีแผลเป็น เลือดมาเลี้ยงไม่ดีพอ เมื่อรกเกาะใหม่จึงไม่แน่น หลุดง่าย

           สูบบุหรี่จัดดื่มจัด ปริมาณออกซิเจนจึงเลี้ยงผนังมดลูกลดลง ผนังมดลูกจึงไม่แข็งแรง รกเกาะก็หลุดง่าย

           รู้ทันผลกระทบ : รกที่ลอกตัวบางส่วนไม่ทำให้เกิดปัญหา รกที่เหลือยังนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงลูกได้พอ ถ้าลอกตัวมากขึ้นรกส่วนที่เหลือจะนำอาหารไปเลี้ยงลดลง ลูกได้รับอาหารน้อยลง แม่จะเสียเลือดมาก จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไตวาย เลือดไม่แข็งตัว ช็อกจากการเสียเลือดมาก ส่วนลูกก็อาจเสียชีวิตจากการขาดเลือดไปเลี้ยง จะต้องทำการผ่าคลอดโดยด่วน

           อาการ ถ้ารกลอกตัวตรงขอบจะมีเลือดทางช่องคลอด ถ้าลอกตัวตรงกลางจะไม่มีเลือดทางช่องคลอด แต่มีอาการเหมือนกัน คือ ปวดท้อง ปวดหลังเหมือนเจ็บท้องคลอด อาจปวดเล็กน้อยถึงปวดมากจนหมดสติ ท้องแข็งตึง กดเจ็บ มดลูกโตขึ้นเร็วเพราะมีเลือดขัง ถ้าช่วยไม่ทันลูกอาจเสียชีวิต ต่างกับภาวะรกเกาะต่ำ ที่มีเลือดออกโดยไม่ปวดท้อง ถ้ามีเลือดออกมากขังอยู่ข้างใน ภาวะแทรกซ้อน คือ เกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัว ทำให้เลือดยิ่งออกมาก


What to do !!!

           ป้องกัน ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น หกล้ม ถูกสิ่งของกระแทกหน้าท้อง โดยเฉพาะจากลูกคนโตที่วิ่งชน เพราะจะทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนด และแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยคลอดมาหลายครั้ง สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้ามาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย จะได้ดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

           ดูแลรักษา เมื่อมีปัญหานี้จะต้องรีบทำคลอดให้เร็วที่สุด แม้ปากมดลูกยังปิดอยู่ แต่ถ้ารอคลอดเองจะนาน ไม่ทันกับการรักษาชีวิตลูก เพราะช่วงนี้หัวใจลูกเต้นไม่ค่อยดี การผ่าตัดคลอดจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ก่อนหรือขณะผ่าตัดจะต้องให้เลือด สารน้ำหลายชนิดร่วม เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

icon 3. รกฝังตัวแน่น ไม่ยอมคลอด

           ลักษณะ นับจากหลังคลอดลูกแล้วถึงระยะที่รกคลอดจะใช้เวลา 10-15 นาที แต่ถ้ารอนานเกิน 30 นาที หรือนานนับชั่วโมงแล้ว รกยังไม่คลอด ถือว่าระยะที่ 3 ของการคลอดที่ล่าช้า ต้องหาสาเหตุและรีบแก้ไข

สาเหตุ มีหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญ ๆ มีอยู่ 3 ข้อ 

           1. มดลูกบีบตัวไม่แรงพอ แม้รกหลุดออกจากผนังมดลูก พร้อมจะคลอดแล้ว แต่มดลูกบีบรัดตัวไม่แรงพอ จึงขับรกออกมาไม่ได้ เพราะแม่มีอายุมาก แรงไม่ดี เคยคลอดลูกหลายครั้ง หรือเจ็บท้องคลอดนาน เพราะลูกค่อนข้างโต คลอดยากแม้มดลูกหดรัดตัวดี อาจพบในการคลอดครั้งแรก หรือแม่ที่มีอายุน้อย แต่ถ้าอายุมาก หรือเคยคลอดมาแล้วหลายครั้ง ยิ่งทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี วิธีแก้ คือ ให้ยาช่วยการหดรัดตัวของมดลูกถ้าตัวลูกไม่ใหญ่น่าจะคลอดเองได้ แต่ถ้าตัวใหญ่มาก คลอดทางช่องคลอดไม่ได้ ต้องผ่าท้องคลอด

           2. ปากมดลูกหดรัดตัวมาก แม้รกหลุดลอกออกมาจากผนังมดลูก แต่ไม่สามารถคลอดได้ มักเกิดจากการช่วยคลอดไม่ถูกวิธี เช่น ดึงสายสะดือเร็วเกินไป ปากมดลูกจึงถูกกระตุ้น จนเกิดการเกร็งตัวกักรกไม่ให้คลอด วิธีแก้ คือ ใช้มือเข้าไปล้วงรกที่อยู่ภายในมดลูกภายหลังการดมยาสลบ

           3. รกติดแน่นไม่ยอมหลุดจากผนังมดลูก พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา แล้วทำให้เกิดอันตรายหรือเสี่ยงต่อการที่ทำให้แม่เสีย เลือดได้ค่อนข้างมาก

           อาการ มีอาการกระสับกระส่าย ความดันโลหิตลดลง ชีพจรเร็วขึ้น เพราะเสียเลือดไปเรื่อยๆจากรกที่ค้างอยู่ในมดลูก ซึ่งไปขัดขวางให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้โพรงมดลูกยุบขนาดลงไม่ได้ เลือดที่ออกจากโพรงมดลูกจึงไม่ลดลง ถ้าไม่รีบแก้ปัญหา เลือดจะออกเรื่อย จนอาจช็อกและเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก

What to do !!!

           ป้องกัน การคาดคะเนว่าจะมีภาวะรกติดแน่น ไม่ยอมคลอดออกมาหรือไม่ เป็นเรื่องยาก แม้แม่มีปัจจัยเสี่ยงก็อาจไม่มีปัญหา การวินิจฉัยจึงทำได้เมื่อถึงเวลา คือ ควรจะได้เวลาคลอดรกแล้ว แต่รกยังไม่ยอมคลอด

           ดูแลรักษา วิธีที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดนำมดลูกออกพร้อมกับรกที่ยังค้างอยู่ การผ่าตัดเข้าไปนำเฉพาะรกออกมาจากมดลูกนั้นทำได้ยาก อาจทำให้มดลูกทะลุ เสียเลือดมากอย่างรวดเร็วได้ จึงจำเป็นต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตแม่ไว้ ดังนั้นหลังการรักษาจึงไม่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีก

Problem Reports : ความเข้าใจผิด เรื่อง “รก”พันคอเด็ก

           "รก" มีรูปร่างเหมือนจาน เกาะติดด้านในผนังโพรงมดลูก จึงไม่สามารถพันคอลูกได้ แต่สายสะดือที่ออกจากรก มีรูปร่างคล้ายเชือกเกลียว ยาว 30-80 ซม. อาจคล้องคอลูกขณะลูกพลิกตัวหรือดิ้นจนพันรอบคอได้ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต เพราะลูกจะไม่ดิ้นไปในทิศทางที่ทำให้รัดคอมากขึ้น บางครั้งจึงทำให้ลูกต้องคงอยู่ในท่าก้น ท่าขวาง เพราะการกลับหัวลงไปในช่องทางคลอด จะทำให้สายรกรั้งคอ หรือทำให้เกลียวกระชับขึ้น



     
  
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รก...เรื่องน่ารู้คู่ครรภ์แม่ อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:25:11 10,489 อ่าน
TOP
x close