ท่าคลอดของเจ้าตัวน้อย

ตั้งครรภ์

ท่าคลอดของเจ้าตัวน้อย
(รักลูก)
โดย: อัจฉรา

          ก่อนคลอดคำถามที่คุณหมอสูติฯ มักจะถูกว่าที่คุณแม่ถามเสมอก็คือ "ลูกกลับหัวหรือยังคะ" "ลูกอยู่ในท่าไหน" เพราะใคร ๆ ก็อยากที่จะคลอดเอง คลอดง่ายใช่ไหมคะ ซึ่งท่าของลูกนี่แหละสำคัญ เพราะเป็นตัวแปรที่จะกำหนดว่าเราจะคลอดแบบไหน คลอดยาก คลอดง่ายค่ะ

          โดยทั่วไปในตอนที่เราตั้งครรภ์อยู่ เจ้าตัวเล็กในครรภ์เขาจะอยู่ในท่าศีรษะตั้งแต่แรกแล้วละค่ะ อาจมีการหมุนตัว เฉียงไปเฉียงมาบ้าง และจะมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในท่าก้นแล้วหมุนตัวกลับมาเป็นท่าศีรษะ เพราะในช่วงอายุครรภ์น้อย ๆ ลูกยังตัวเล็ก น้ำคร่ำก็มาก ลูกมีที่ทางอยู่เยอะ ขยับไปไหนก็ได้สบาย

          เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ๆ เจ้าตัวน้อยก็โตขึ้น ๆ อยู่ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนคลอด(ในท้องแรก) ที่ทางก็น้อยลง ลูกจะขยับหาที่ที่สบายสำหรับเขาโดยไม่มีหมุนเปลี่ยนท่าอีกแล้วค่ะ หากเป็นท้องหลัง ในระหว่างก่อนคลอดลูกก็อาจมีการหมุนเปลี่ยนท่าได้เหมือนกัน เพราะท้องหลวม เราจึงสามารถรู้ได้ก่อนคลอดเลยค่ะว่าจะคลอดลูกท่าไหน

          ช่วงก่อนคลอดคุณหมอจะตรวจหน้าท้องของเรา คลำดูว่าส่วนนำลงมาเป็นส่วนไหน หลังของลูกอยู่ด้านใด พอปากมดลูกเปิด คุณหมอก็จะตรวจภายใน(โดยใช้นิ้วแหย่เข้าไป) ดูว่าเป็นกะโหลกศีรษะ เป็นหน้า หรือเป็นก้น เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกอยู่ในท่าอะไรค่ะ

รู้จักท่าของลูกก่อนคลอด

โดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ค่ะคือ

1. ท่ายาว คือ ท่าศีรษะ(ท่าปกติ) กับท่าก้น

ท่าศีรษะ

          เพราะว่ามดลูกของคนเราเหมือนกับลูกชมพู่ใหญ่ๆ ยาวๆ นั่นเอง ท่าปกติของลูกในท้องจึงมักจะอยู่ในท่ายาว ไม่ท่าศีรษะก็ท่าก้นค่ะ แต่โดยมากจะอยู่ในท่าศีรษะ นั่นเพราะว่ามดลูกของเราเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ด้านบนใหญ่ ทรงแบบป้าน ๆ โดยธรรมชาติลูกจะหมุนเอาศีรษะลงมา ให้ก้นที่ใหญ่กว่าหัวไปอยู่ด้านยอดมดลูก(ส่วนบน) ซึ่งเป็นท่าที่สบาย หากลูกอยู่ในท่าศีรษะนี้สามารถคลอดทางช่องคลอดได้

          แต่รู้ไหมคะ ในท่าศีรษะนี้น่ะยังมีแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายแบบ ในตอนที่เรายังไม่เจ็บครรภ์คลอดหัวของลูกจะอยู่ด้านบน แล้วจะค่อยๆ ลงมาในอุ้งเชิงกรานตอนที่เจ็บท้อง ตอนที่ลูกลงมาในอุ้งเชิงกรานเขาจะก้มหน้านิดหน่อย ดังนั้นส่วนที่ลงมาจึงมักเป็นโหนกศีรษะ แล้วศีรษะลูกจะค่อย ๆ หมุนก้มหน้าเอาส่วนศีรษะลงมา

          ถ้าอุ้งเชิงกรานมีปัญหา เช่นแคบ หรือเป็นรูปสามเหลี่ยมทำให้ศีรษะของลูกเมื่อลงมาแล้วหมุนไม่ได้ ลูกก็จะคลอดออกมาทั้งๆ ที่เงยหน้า ซึ่งหากลูกเงยหน้าออกมาอาจทำให้คลอดยากกว่า การใช้เครื่องมือช่วยก็จะถูกจำกัด เพราะว่าไม่สามารถใช้เครื่องดูดสูญญากา ศได้ จะโดนหน้า โดนตาลูก คีมก็อาจช่วยได้บ้างแต่ก็ต้องระมัดระวัง ดังนั้นคุณแม่จึงต้องเบ่งเต็มที่ ต้องอาศัยแรงเบ่งของคุณแม่อย่างมากค่ะ

          อย่างไรก็ตาม แม้ลูกจะอยู่ในศีรษะซึ่งมักคลอดเองตามธรรมชาติได้ หรืออาจต้องใช้เครื่องมือช่วยบ้าง แต่ก็มีบางกรณีค่ะที่ไม่สามารถคลอดเองได้ อาจต้องใช้วิธีผ่าคลอด ซึ่งจะดูที่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดอุ้งเชิงกรานของแม่กับขนาดตัวของลูก เป็นต้น

ท่าก้น

          บางกรณีที่มดลูกมีเนื้องอก มีรกเกาะต่ำ หรือมีอะไรอย่างอื่นขวางอยู่ ทำให้ด้านล่างของมดลูกเป็นรูปป้าน หรือว่าลูกหัวโตมาก ๆ ทำให้ไม่สามารถเอาศีรษะลงมาอุ้งเชิงกรานและเอาก้นไว้ด้านบนได้ (เพราะก้นใหญ่ กว่า) ศีรษะก็เลยอยู่ด้านบนและก้นอยู่ด้านล่าง เราเรียกท่าก้นค่ะ

          สำหรับท่านี้หากเป็นท้องแรกคุณหมอจะแนะนำให้ผ่าท้องคลอด เพราะธรรมชาติท้องของลูกจะค่อนข้างนุ่ม ต่างจากหัว ลำตัวตรง แคบตรงส่วนคอ และหัวจะกว้างและเป็นส่วนที่แข็ง ดังนั้นยามที่ปากมดลูกยังเปิดได้ไม่หมดแล้วคุณแม่เบ่งออกมา ท้องที่เป็นส่วนที่แฟบได้ก็จะแฟบและออกมาได้ก่อน แต่พอมาถึงคอลูก ปากมดลูกจะรัด(เพราะเป็นส่วนที่แคบ) ทำให้คลอดหัวลูกออกมาไม่ได้ เป็นอันตรายมาก หากเป็นท้องหลังคุณแม่ก็อาจสามารถคลอดเองได้ค่ะ

          นอกจากนี้ในท่าก้นก็ยังมีอีกหลายแบบ แล้วแต่ตำแหน่งที่ลูกจะเอาส่วนไหนนำลงมา เช่น ท่าเท้า ลูกเอาเท้าเป็นส่วนนำออกมาก่อน ท่าเข่า ท่าขัดสมาธิ ท่าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นท้องแรกหรือท้องหลังก็ตามคุณหมอจะแนะนำให้ผ่าท้อง คลอดเพื่อความปลอดภัยของลูกค่ะ

2. ท่าขวางหรือท่าเฉียง

          เป็นลักษณะที่ลูกอยู่ในท่าขวางมดลูก ไม่อยู่ตามแนวยาวอย่างปกติ การที่ลูกอยู่ในท่าขวางหรือเฉียงนี้ มีสาเหตุมาจากมดลูกของเรามีอะไรสักอย่าง มาขวางไม่ให้ลูกหมุนตัว เช่น รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกในมดลูกมาขวาง หรือว่าในตัวลูกอาจมีปัญหาบางอย่าง มีเนื้องอกในลูก ส่วนใหญ่กรณีแบบนี้มักจะพบกับคุณแม่ท้องหลัง ๆ มากกว่าท้องแรกค่ะ เพราะมดลูกถูกยืดมาก่อน

          ถ้าลูกอยู่ในท่าขวางหรือท่าเฉียง เราจะไม่สามารถคลอดเองได้ ต้องผ่าท้องคลอดสถานเดียว เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวน้อยค่ะ

หมุนกลับท่าให้ลูก..อันตรายหรือไม่

          จริง ๆ แล้ว หากลูกเราอยู่ในท่าอื่นเราสามารถหมุนกลับท่าลูกให้เป็นท่าศีรษะได้ค่ะ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญค่อย ๆ นวดครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 32-34 สัปดาห์ เพราะช่วงนี้น้ำคร่ำยังเยอะอยู่ และตัวลูกยังไม่โตมาก ทำให้หมุนกลับตัวลูกได้ง่าย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูงค่ะ เพียงแต่ ในช่วงอายุครรภ์เท่านี้ลูกยังสามารถหมุนกลับมาเป็นท่าเดิมของเขาได้(หรือท่า อื่น) เหมือนกันค่ะ

          อีกช่วงหนึ่งที่สามารถจะหมุนกลับตัวลูกได้คือช่วงใกล้ๆ คลอด ตอนอายุครรภ์ประมาณ 36-37 สัปดาห์ เพราะช่วงนี้น้ำคร่ำจะน้อยและลูกตัวโต ทำให้โอกาสที่ลูกจะหมุนเปลี่ยนท่าไปท่าอื่นน้อยมาก หากหมุนกลับท่าลูกได้สำเร็จ ว่าที่คุณแม่อย่างเราก็อาจจะต้องใส่กางเกง หรือผ้าที่รัดพยุงท้องให้มดลูกอยู่ในท่าที่บีบหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหมุนเปลี่ยนท่า แล้วเราก็ทนอึดอัดกันนิดหน่อยค่ะ

          แต่ในการหมุนกลับแบบนี้จะมีข้อเสียที่อันตรายมากเหมือนกันค่ะก็คือ สายสะดือจะถูกดึงให้ตึง แล้วหากลูกเรามีสายสะดือพันคออยู่รอบหนึ่งอยู่แล้ว(ตามปกติจะไม่มีปัญหา) และเมื่อไหร่ที่สายสะดือตึงแล้วละก็ เหมือนเราไปบีบคอลูกนั่นเองค่ะ จะทำให้ลูกเกิดอาการขาดอากาศ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะคะ

          หรืออีกกรณีหนึ่ง ตัวรกอาจจะมีการลอกก่อนกำหนด เนื่องจากการหมุนเปลี่ยนท่าลูกแล้วมีการหดรัดตัว หรือมีการดึงสายสะดือให้ตึง ทำให้สายสะดือดึงรกให้หลุดออกมาด้วย จะทำให้เป็นอันตรายกับลูกได้ เพราะรกลอกก่อนกำหนด ตัวที่เปลี่ยนถ่ายออกซิเจนจากแม่ไปสู่ลูกก็จะขาดไป เหมือนกับเราไปกดลูกกให้จมน้ำ ทำให้อันตรายถึงชีวิตได้

          แต่โดยทั่วไปแล้ว คุณหมอมักจะไม่แนะนำให้มีการนวดหมุนเปลี่ยนท่าเด็กค่ะ เพราะว่าอันตรายต่อลูกค่อนข้างสูงกว่าการผ่าตัดคลอด และหากจะทำ ก็ต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญและมีการตรวจติดตามฟังเสียงหัวใจลูกพอสมควร

          ส่วนการทำอย่างอื่น เพื่อช่วยในการเปลี่ยนท่าของลูก(ให้เป็นท่าศีรษะ) นั้นยังไม่มีค่ะ แต่บางครั้งการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายก็ช่วยให้ลูกมีการขยับเปลี่ยนท่าได้บ้าง แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะหมุนเปลี่ยนท่าลูกเป็นท่าไหนนะคะ

ท่าไหน ใครกำหนด

รู้ไหมเอ่ยว่ามีปัจจัยใดบ้างมากำหนดท่าของลูกรัก

          เฉลยค่ะ ถูกกำหนดโดยสรีระและกายวิภาคของคุณแม่และคุณลูกนั่นเองค่ะ

          ดูขนาดของตัวลูกว่าตัวโตไหม สัดส่วนของลูกหัวใหญ่หรือไม่ หรือลูกมีเนื้องอกหรือไม่

          คุณแม่ควรดูลักษณะของกระดูกเชิงกรานว่ากว้างหรือแคบเพียงใด หากอุ้งเชิงกรานแคบ เป็นรูปสามเหลี่ยม อาจทำให้ศีรษะลูกลงมาไม่ได้ หรือเขาไม่สามารถหมุนศีรษะให้ส่วนกระโหลกศีรษะลงมาเงยหน้าแทนค่ะ

          ช่วงตั้งครรภ์มดลูกมีภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกที่มดลูก เป็นต้น

สัดส่วนท่าคลอด

          หากเป็นเด็กที่ครบกำหนดคลอด จะคลอดในท่าศีรษะประมาณร้อยละ 95-96 และจะอยู่ในท่าก้นประมาณร้อยละ 3-4 ส่วนท่าขวางจะพบน้อยมากค่ะไม่ถึงร้อยละ 1

          ถ้าเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด จะคลอดท่าศีรษะประมาณร้อยละ 80 คลอดท่าก้นประมาณร้อยละ 10 กว่า ๆ ส่วนท่าขวางประมาณร้อยละ 1-2 ค่ะ



    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่าคลอดของเจ้าตัวน้อย อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 14:10:36 30,163 อ่าน
TOP
x close