ระวัง! โรคลำไส้อักเสบรุนแรงในลูกเล็ก

แม่และเด็ก -  โรคลำไส้อักเสบ

ระวัง! โรคลำไส้อักเสบรุนแรงในลูกเล็ก
(modernmom)
โดย: นพ.ศุภวัชร บุญกษิดิ์เดช

          ภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารยังคง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลในเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มทารกแรกเกิด ภาวะลำไส้อักเสบรุนแรงในทารกแรกเกิด จนถึงมีเนื้อเยื่อลำไส้เน่าตาย (Necrotizing Enterocolitis : NEC) เป็นปัญหาการติดเชื้อที่สำคัญ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง

เด็กแบบไหนอยู่ในภาวะเสี่ยง

          สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมีภาวะลำไส้อักเสบ จนถึงเนื้อเยื่อเน่าตาย มีหลายประการ ปัจจัยหลักคือ การที่ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ เช่น การมีคะแนนการคลอดตั้งแต่แรกคลอดต่ำ หรือมีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกคลอด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปกับนมหรือภาชนะที่ไม่สะอาด หรือมีการให้น้ำนมผสมที่มีความเข้มข้นที่สูง และเพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วเกินไปโดยเฉพาะนมผสมที่ไม่ใช่นมแม่ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

สังเกตอาการลำไส้เน่า

          อาการของทารกที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 2 สัปดาห์แรก หรืออาจมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสังเกตพบอาการล่าช้า โดยเริ่มแรกอาจมีเพียงท้องอืด กินนมได้น้อยลง หรือมีน้ำนมเหลือค้างในกระเพาะอาหาร อาเจียนหรือแหวะนมบ่อยๆ ลักษณะอุจจาระเป็นสิ่งสำคัญ หากมีการถ่ายเหลวเป็นมูกหรือมีมูกเลือดปน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าน่าจะมีสิ่งผิดปกติในลำไส้ของลูกน้อย

          นอกจากนี้ยังมีอาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ซึม ไม่ยอมดูดนม ร้องกวน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายไม่ใช่เฉพาะการมีไข้ แต่อาจจะมีภาวะตัวเย็นร่วมด้วย การสังเกตอาการของคุณแม่มือใหม่ที่มีทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อย

          ส่วนใหญ่ขณะลูกน้อยอยู่ในโรงพยาบาล ทีมกุมารแพทย์และพยาบาลทารกแรกเกิด จะคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และก่อนกลับบ้านกุมารแพทย์และพยาบาลจะแนะนำวิธีการดูแลโดยทั่วไป และสังเกตอาการแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละระบบ ซึ่งอาจต้องนำลูกน้อยมาพบแพทย์ก่อนเวลานัด

          คุณแม่อาจสังเกตดูว่า ลูกน้อยกินนมได้ดีเท่าเดิม ไม่มีอาการแหวะนมบ่อย ๆ ท้องไม่อืดอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีลมในกระเพาะปริมาณมาก และเมื่อลูกน้อยกินนมอิ่มก็จะพักหลับได้ประมาณ 3–4 ชั่วโมง แล้วจึงตื่นมาเพื่อกินนมมื้อต่อไป มีการตอบสนองกับคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการยิ้ม จ้อง และสบตา ลักษณะของอุจจาระ หากกินนมแม่ในปริมาณมากพอหรือเป็นส่วนใหญ่ อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง นิ่ม ไม่มีลักษณะเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน อาจถ่ายได้วันละ 4–6 ครั้ง ถือเป็นภาวะปกติ

          ส่วนการวัดอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อย หากคุณแม่มีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ ในภาวะปกติจะพบว่าไม่มีไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส หรือไม่มีภาวะตัวเย็นที่วัดอุณหภูมิได้ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติหรือไม่ ควรจะนำทารกมาพบกุมารแพทย์ก่อนเวลานัด

          แต่อย่างไรก็ตาม ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อยอาจมีภาวการณ์กินนมที่ไม่ดีเท่าปกติ เนื่องจากการเจริญของระบบการทำงานของลำไส้ในการดูดซึมน้ำนมยังไม่ สมบูรณ์เท่าเด็กครบกำหนด เรียกว่าภาวะ Feeding Intolerance อาจทำให้เข้าใจผิด ว่าเป็นภาวะลำไส้อักเสบได้ ซึ่งแพทย์และพยาบาล จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ทารกอยู่ในหอผู้ป่วย แล ให้การวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะนี้ออกไป ซึ่งมักจะดีขึ้นได้เองเมื่อลูกน้อยมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ระบบลำไส้ก็จะทำงานได้ดีขึ้นตามลำดับ แต่การเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีลักษณะคล้ายการติดเชื้อลำไส้อักเสบดังข้างต้น ทีมผู้ดูแล ก็จะเริ่มให้การดูแลรักษายาปฏิชีวนะและสารน้ำเข้าหลอดเลือดทันที

วิธีการป้องกันและดูแลรักษา

          การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้ลูกกินน้ำนมแม่ เพราะจะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ได้อย่างดี จากการศึกษาหลายแห่งได้ผลตรงกันว่า อุบัติการณ์ของภาวะ NEC นี้ จะลดลงในกลุ่มทารกที่ได้รับน้ำนมแม่ เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียว

          นอกจากนี้ในแม่ก่อนคลอดทารกก่อนกำหนด สูติแพทย์จะมีการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อให้ปอดของทารกเจริญมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า จะทำให้ลำไส้มีการเจริญที่ดีขึ้นไปด้วย ทำให้ลดอุบัติการณ์ภาวะนี้ได้ ในด้านการใช้ยาเพื่อป้องกัน มีการวิจัยใช้ยาปฏิชีวนะให้กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังไม่ได้ใช้เป็นมาตรฐานทุกราย

          ในการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เวลาชงนมให้ลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะช่วงที่น้ำนมแม่เริ่มไม่พอและต้องใช้นมผสม เชื้อโรคสามารถเข้าไปในน้ำนมได้หลายทาง โดยเฉพาะการล้างมือของคนชงนมเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ขวดนมและจุกนมภายหลังจากต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 15 นาที หรือนึ่งฆ่าเชื้อโรคตามเวลาที่กำหนด ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาครอบ เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์นำเชื้อโรคอื่นๆ ที่เราไม่ทันระวังมาสัมผัสได้

          และหากคุณแม่สงสัยว่าลูกมีภาวะนี้ควรพามาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง เจาะเลือดตรวจดูการติดเชื้อ และตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจพื้นฐานเบื้องต้น หากแพทย์คิดว่าเข้าได้กับการติดเชื้อลำไส้อักเสบรุนแรง ก็จะให้นอนโรงพยาบาล และงดนม ในช่วงระยะเวลา 3–5 วัน หากอาการไม่รุนแรง โดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดทดแทนพลังงานที่จะได้รับตามอายุของทารก และเริ่มให้ยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือนั้น โดยทั่วไปหากได้รับการสังเกตที่รวดเร็ว และมาพบแพทย์จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทารกจะมีการตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างดี

          โดยภาพรวมเมื่อติดตามดูทารกที่มีภาวะ NEC เมื่อได้รับการรักษาอย่างครบถ้วน ส่วนใหญ่จะพบว่าการเจริญเติบโตและการ พัฒนาการอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจ

          อย่างไรก็ตาม การป้องกัน NEC ที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ควรให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เน้นเรื่องความสะอาด และดูแลอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมนมอย่างถูกสุขลักษณะทุกครั้ง พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย อาจโทรปรึกษาไปที่ศูนย์รับให้คำปรึกษาของโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน เพื่อให้การวินิจฉัยได้แต่เนิ่น ๆ จะลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และให้ผลการดูแลรักษาที่ดีทำให้ทารกมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดได้



    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง! โรคลำไส้อักเสบรุนแรงในลูกเล็ก อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2554 เวลา 21:26:02 18,126 อ่าน
TOP
x close