กรดไหลย้อน ... แม่ท้องต้องใส่ใจ

ตั้งครรภ์

กรดไหลย้อน ... แม่ท้องต้องใส่ใจ (modernmom)
โดย: นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

           คุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะเคยได้ยิน โรคกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ แล้วเกิดความสงสัยว่าโรคนี้เป็นอย่างไร โรคนี้พบได้บ่อยถึงร้อยละ 30-50 ในคุณแม่ตั้งครรภ์ และอาจถึงร้อยละ 80 ในบางรายงาน และถึงแม้ว่า บ้านเราจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกับคุณแม่ท้องเป็นโรคกรดไหลย้อน มากเท่าใดนัก แต่คุณแม่ก็ควรรู้จักเพื่อดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ไว้

           ผมขอรวบรวมคำถามที่คุณแม่มักสงสัย เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ เพื่อจะได้รู้จักกับโรคนี้ไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร?

           โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพราะกรดที่อยู่ในน้ำย่อยในกระเพาะอาหา รไหลย้อนขึ้นมา บริเวณหลอดอาหารส่วนปลาย ที่ติดต่อกันกับส่วนต้นของกระเพาะอาหาร มีผลทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบขึ้นได้ครับ

เป็นแล้วจะเกิดอาการเหมือนโรคกระเพาะไหม?

           อาการที่พบบ่อยคือ แสบร้อนบริเวณด้านหลังของกระดูกหน้าอก (Sternum) อาจจะเกิดร่วมกับอาการอึดอัดไม่สบายบริเวณลิ้นปี่ ลำคอ ด้านนอกในช่องคอ และด้านหลังในช่องคอ

           นอกจากนั้นยังอาจจะเกิดอาการ เรอ กลืนลำบาก รู้สึกร้อนในกระเพาะ แล้วมีน้ำในปริมาณค่อนข้างมากในปาก สำหรับอาการเหล่านี้มักเป็นในช่วงหลังอาหาร หรืออาจจะเกิดช่วงกลางคืน ยิ่งถ้างอตัวอาการก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ขณะตั้งครรภ์จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นหรือเปล่า?

           เมื่อตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และระบบภายในร่างกายจึงทำให้เกิดโรค กรดไหลย้อนได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร จึงทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้จาก

           1.แรงบีบของหูรูด ของหลอดอาหารส่วนล่างที่ต่อกับส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำงานลดน้อยลง

           2.มดลูกที่มีทารกเติบโตขึ้นตามอายุครรภ์นั้น ขยายขนาดขึ้นจนกดและดันกระเพาะอาหาร

           แล้วหากเป็นโรคนี้อยู่แล้ว คุณแม่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการมากขึ้น แต่หากดูแลรักษาตัวเองดี อาการก็จะไม่เกิดขึ้น

โรคนี้ส่งผลกระทบกับแม่และลูกในท้องไหม?

           อาการของโรคกรดไหลย้อนจะทำให้เกิดความไม่สบายตัวต่าง ๆ แล้วตามอาการที่บอกข้างต้น แต่หากคุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาต่อคุณแม่และลูกในท้อง แต่ในระยะยาวหากคุณแม่ยังเป็นโรคนี้อยู่ ก็อาจเกิดการอักเสบของหลอดอาหารเรื้อรังที่รุนแรงมากขึ้น เช่น Barrett’s Esophagus ซึ่งเป็นภาวะที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารในอนาคตได้

มีวิธีการรักษาให้หายขาดหรือไม่?

           การรักษาโรคกรดไหลย้อนนี้ ต้องเริ่มต้นที่การปฏิบัติตัวครับ วิธีง่าย ๆ เลยก็คือ หลีกเลี่ยงอาหารและปัจจัยที่ทำให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้น รวมถึงนอนหนุนศีรษะสูง

           นอกจากนั้นคุณหมอจะใช้ยาที่ไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาลดกรด (Antacids) แต่หากการรักษายังไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะใช้ยาขั้นสูงต่อไป คือ ยากลุ่ม H2 Receptor Antagonists เช่น ยา Cimetidine, Ranitidine และ ยากลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) เช่นยา Lansoperazole, Pantoprazole, Esomeprazole ซึ่งยาเหล่านี้ขอย้ำครับว่า สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และคุณลูก แต่ควรใช้ตามคำสั่งของแพทย์ครับ

หากไม่ต้องการใช้ยาจะดูแลตัวเองอย่างไร?

           ส่วนใหญ่แล้ว อาหารหลายชนิดทำให้คุณแม่ที่เมื่อเป็นโรคนี้แล้วมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น ช็อกโกแลต อาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อาหารมัน เปปเปอร์มินท์ แอลกอฮอลล์ น้ำส้ม หรือน้ำแอ๊ปเปิ้ล รวมไปถึงการรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารมื้อดึกที่รับประทานเสร็จแล้วนอน สูบบุหรี่ โรคอ้วน รวมไปถึงยาแก้โรคหอบหืดบางชนิด และยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจบางชนิด ที่ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง

           หากคุณแม่ท้องที่มีโรคกรดไหลย้อน มักมีอาการแสบร้อนบริเวณด้านหลังของกระดูกหน้าอก การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องคือการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการใช้ยาลดกรดที่เหมาะสมเป็นการรักษาเบื้องต้น หากไม่ได้ผลจึงใช้ยากลุ่ม H2 receptor antagonists และ PPIs ต่อไปครับ



    
     

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรดไหลย้อน ... แม่ท้องต้องใส่ใจ อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:46:59 52,670 อ่าน
TOP
x close