
เลือกรถเข็นเด็กให้ปลอดภัย! (รักลูก)
รถเข็นเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มมีความนิยมในบ้านเรา ในต่างประเทศถือเป็นของใช้ประจำครอบครัวที่มีลูกเล็กเลยล่ะครับ เพราะฝรั่งเขาไม่ค่อยอุ้มเด็กหรือเหน็บเอวเดินกัน อาจเห็นใช้ถุงจิงโจ้ใส่เด็กไว้ ส่วนใหญ่เขาจับเด็กนั่งรถเข็นกันมากกว่า




ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาการบาดเจ็บของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี จากการใช้รถเข็นเด็กที่ต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน พบว่ามีจำนวนถึง 64,373 รายในเวลา 5 ปี อายุเฉลี่ยคือ 11 เดือน เด็กชายและเด็กหญิงเจ็บพอ ๆ กัน ร้อยละ 60 ของเด็กที่บาดเจ็บเป็นเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี ร้อยละ 25 เป็นเด็กอายุ 1 ถึง 2 ปี
การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากความซนของเจ้าตัวน้อย ที่ปืนป่ายหรือพยายามลุกขึ้นยืน แล้วพลัดตกจากรถเข็น (ร้อยละ 76) รองลงมาเป็นการพลิกคว่ำ (ร้อยละ 11) อีก ร้อยละ 6 เกิดจากแข้งขานิ้วมือนิ้วเท้าเข้าไปขัดตามช่องตามรูแล้วติด หรือถูกบีบบดกดทับ และยังมีอีกร้อยละ 1 ที่เกิดจากรถเข็นยุบตัวลงจาการล็อกโครงรถไม่ดีพอ
น้อยมากที่บาดเจ็บจากการถูกรถชน หรือที่เห็นในทีวีระบบล็อกล้ออาจไม่ดี ปล่อยรถไว้แล้วไหลตามพื้นที่เอียงลาดเล็กน้อย ตกลงไปในรางรถไฟฟ้า และถูกรถไฟฟ้าชน เดชะบุญที่เด็กปลอดภัยอย่างเหลือเชื่อ
เด็กที่เกิดอุบัติเหตุจากรถเข็น ส่วนใหญ่บาดเจ็บที่ศีรษะ (ร้อยละ 44) และใบหน้า (ร้อยละ 43) ร้อยละ 11 บาดเจ็บที่แขนขานิ้วและมือ 2 ใน 100 คนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ลักษณะรถเข็นที่ปลอดภัย
ของเล่นทั้งหลายที่ติดอยู่บนรถเข็นเด็ก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของเล่น ไม่ว่าจะเป็นความแหลมคม ขนาด ความดังของเสียง ลักษณะเส้นสาย ยางหรือสารตะกั่ว ยิ่งติดตั้งหลายตัวหลายแบบยิ่งต้องดูให้ละเอียดว่ ามีอันตรายซ่อนเร้นหรือไม่
มีตัวล็อกโครงรถเข็นมีให้พับลงมา โดยไม่ตั้งใจ รถเข็นที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐาน ASTM-F 833-2009 จะถูกทดสอบโดยถ่วงน้ำหนักที่นั่ง และดูว่าโครงรถจะพับลงมาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่า ขณะเด็กนั่งแล้วรถเข็นไม่พับจนเด็กติดอยู่ข้างใน เวลาซื้อต้องทดลอง กางออก และลองกดหรือขย่มเบา ๆ เพื่อดูว่าตัวล็อกป้องกันการพับลงมาของโครงรถเข็นทำงานได้ดีหรือไม่
ต้องไม่มีจุดหรือขอบที่แหลมคม
ไม่สามารถทิ่มแทง บาดได้ ขณะเลือกซื้อมองให้ถ้วนถี่ เอามือลูบ ๆ คลำ ๆ ดูให้ทั่ว ว่ามีตรงไหนแหลม ตรงไหนคม ทิ่มแทงบาดได้หรือไม่
ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นชิ้นเล็ก หรือชิ้นส่วนที่แตกหักได้ง่าย ซึ่งเด็กสามารถเอาเข้าปาก และสำลักทำให้ติดคอได้ นั่นคือขนาดที่เล็กกว่า 3.2 ซม. โดยมีความยาวน้อยกว่า 6 ซม. จะสามารถติดคอเด็กได้ โดยเฉพาะของเล่นที่ติดตั้งด้านหน้ามาพร้อมกับรถเข็น ลองเอามือจับ บีบเบา ๆ หรือเขย่าเบา ๆ ว่าของเล่นเหล่านี้จะแตก จะหักด้วยแรงเพียงเล็กน้อยของเราหรือไม่ แตกหักแล้ว กลายเป็นชิ้นเล็กได้หรือไม่ ถ้าได้ก็หลีกเลี่ยงการใช้เสียจะดีกว่าครับ
ต้องมีเข็มขัดนิรภัย
ซึ่งเป็นระบบยึดเหนี่ยวเด็กไว้เพื่อป้องกันเด็กตกจากการปีน โดยต้องยึดได้ทั้งหัวไหล่และเอว ขณะที่เด็กนั่งต้องไม่มีโอกาสที่ตัวจะไหลลื่นออกจากเข็มขัดได้ หรือสามารถยกแขนยกขาหลุดลอดออกมาได้
สีที่ใช้เคลือบรถเข็นเด็กทุกส่วน จะต้องใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่วเกินกว่าค่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 90 มก. ต่อสี 1 กก. เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเด็กนั่ง ๆ นอน ๆ ในรถบางทีอาจเอามือไปจับสีหลุดลอกติดมือ หรือร้ายกว่านั้น บางทีเด็กเอาปากไปแทะตามโครงรถเข็น สารตะกั่วที่หลุดลอกติดมือเด็กหรือเข้าปากเด็ก จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าผู้ใหญ่เกือบ 5 เท่า ส่งผลให้ไปสะสมในกระดูก สมอง ทำให้เกิดการทำลายเซลประสาท ไอคิวลดต่ำลง สมาธิสั้น พฤติกรรม เบี่ยงเบนได้ ตะกั่วที่เข้าไปในกระดูก อาจทำลายการสร้างเม็ดเลือดทำให้ซีดได้ หากพ่อแม่ไม่รู้ว่าของเล่น แต่ละชิ้นมีสารตะกั่วเท่าไร ก็ให้เลือกโดยที่เอามือลูบ ๆ แล้วไม่มีสีหลุดลอก และไม่มีช่องรูขนาด 0.210 นิ้ว - 0.375 นิ้ว ซึ่งนิ้วสามารถสอดเข้าไปแล้วทำให้ติดค้างได้ หากมีต้องปิดให้เรียบร้อย
ไม่มีจุดตัดของแกนโครงด้านต่าง ๆ ที่นิ้วสอดเข้าไปในบริเวณจุดติดได้ เช่น เฟรมของรถเข็นเด็ก ด้านข้างซึ่งมีแกนหมุนที่สามารถเฉือนนิ้วเด็กได้
ระบบเบรคเป็นเรื่องสำคัญ รถเข็นที่ผ่านการทดสอบเบรค เมื่อนำมาวางบนพื้นเอียง 12 องศา และเอาน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์มาไว้ในตัวรถ ภายใน 10 วินาที รถจะต้องไม่ไหล
การปฐมพยาบาล
ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการพลัดตก ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ฟกช้ำ ดำเขียว ที่ศีรษะและใบหน้า การบาดเจ็บมักไม่รุนแรง




เลือกของดีมีมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศก่อนครับ เพราะบ้านเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานรถเข็นเด็ก เลือกดีแล้วใช้ให้ถูกวิธี และอย่าลืมนะครับว่าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีต้องอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ อยู่ในระยะที่มองเห็นและคว้าถึง ปล่อยไว้ตามลำพังหรือห่างไกลออกไปไม่ได้ครับ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ ของเราครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 332 กันยายน 2553