โรคหอบหืดเด็ก เกิดจากอะไร
โรคหอบหืดในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ โอกาสที่เด็กจะเป็นโรคนี้ก็จะมีมากขึ้น
2. การติดเชื้อทางระบบหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบหรือเป็นหวัด
3. การออกกำลังกายมาก ๆ หรือหักโหม อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย และเป็นตัวกระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบได้
4. สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ โดยการหายใจเข้าไป หรือยาที่รับประทาน เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้, ควันบุหรี่, มลพิษในอากาศ, ขนและรังแคสัตว์ เป็นต้น อีกทั้งยังอาจเกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ไข่, นม และอาหารทะเล เป็นต้น
5. การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด, เย็นจัด หรือฝนตก เป็นต้น
ลักษณะอาการหอบ เป็นยังไง
- หายใจลำบาก หายใจเร็ว และมีเสียงวี้ดออกมาจากปอด ซึ่งเกิดจากหลอดลมตีบ
- มีอาการไอมาก ตอนกลางคืน หรือเช้ามืด และเมื่อเป็นหวัดจะหายไอช้ากว่าปกติ
- เวลาออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่น จะเหนื่อยหอบง่าย และมีอาการแน่นหน้าอก
ลูกเป็นหอบทําไง
- หากลูกน้อยมีอาการหอบในช่วงที่กำลังวิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย ให้หยุดพักทันที โดยให้นั่งพักบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ร้อนจนเกินไป
- ให้ลูกน้อยสูดลมหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางปาก โดยค่อย ๆ เป่าลมออกจากปอดทีละน้อยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
- หาน้ำอุ่น ๆ ให้พวกเขาดื่ม
- พ่นยา หรือรับประทานยาแก้หอบตามที่แพทย์สั่ง ถ้ามียาขยายหลอดลมแบบพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ให้พ่น 2 พัฟ ซ้ำได้ 3 ครั้ง ห่างกัน 20 นาที หากอาการดีขึ้นให้พ่นยาทุก 4-6 ชั่วโมง ต่ออีกประมาณ 24-48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นโรคหอบหืด
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการหอบหืดกำเริบ เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้, ควันบุหรี่, มลพิษในอากาศ, ขนและรังแคสัตว์ เป็นต้น
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวลูกน้อยได้
3. หลีกเลี่ยงให้ลูกอยู่ในที่ร้อนจัด หรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้
4. ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยา หรือซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด
5. ผู้ปกครองควรพกยาพ่น หรือยาที่ลูกต้องกินติดตัวไว้เสมอ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หยิบออกมาใช้ได้ทันที
6. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และออกกำลังกายแต่พอดี เช่น ว่ายน้ำ หรือโยคะ เป็นต้น
เมื่อทำความรู้จักกับโรคหอบหืดในเด็กกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตอาการของลูกน้อยดูนะคะว่าเข้าข่ายที่เรากล่าวมาข้างต้นหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการทันทีจะดีที่สุด รวมถึงจะได้ดูแลกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : rch.org.au, acaai.org, thonburihospital.com, phyathai-sriracha.com