
น้ำคร่ำผิดปกติ (รักลูก)
ความผิดปกติของปริมาณน้ำคร่ำ เป็นการแสดงอาการอย่างหนึ่งของความผิดปกติของทารกในครรภ์ และมีผลต่อสุขภาพของทารก


น้ำคร่ำเกิดจากกระบวนการสร้างและกำจัดน้ำของทารกและรกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำคร่ำ ซึ่งน้ำคร่ำที่ผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณที่ถูกกำจัดออกไป คือปริมาณน้ำคร่ำในแต่ละวัน ส่วนที่ผลิตน้ำคร่ำได้แก่น้ำจากปอดและปัสสาวะ ส่วนที่กำจัดได้แก่การกลืนและไหลผ่านชั้นของถุงน้ำคร่ำ การสร้างน้ำจากปอดของทารกจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนหลายตัว ส่วนการทำงานของไตทารกก็จะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนเช่นกัน ปริมาณน้ำในร่างกายคุณแม่อาจมีผลต่อปริมาณน้ำคร่ำ คุณแม่ที่มีน้ำคร่ำน้อย ถ้าดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรจะทำให้น้ำคร่ำเพิ่มขึ้นได้
ปริมาณน้ำคร่ำในการตั้งครรภ์ปกตินั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย อาจมีตั้งแต่ 500-1500 มล. ที่ 40 สัปดาห์ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 30 มล. ที่ 10 สัปดาห์ ไปถึง 150 มล. ที่ 16 สัปดาห์ และ 780 มล. ที่ 32-35 สัปดาห์ ซึ่งจะสูงที่สุด และจะค่อยๆ ลดลงประมาณ 60-70 มล. ต่อสัปดาห์ แต่เมื่อครรภ์เกินกำหนดน้ำคร่ำจะลดลงอย่างรวดเร็วอาจถึง 150 ม.ล. ต่อสัปดาห์


โดยทั่วไปถือว่าในอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถ้าน้ำคร่ำน้อยกว่า 0.5 ลิตร เรียกว่า มีน้ำคร่ำน้อย ถ้าน้ำคร่ำมากกว่า 1.5-2 ลิตร เรียกว่ามีน้ำคร่ำมากหรือแฝดน้ำ ซึ่งทั้งสองภาวะนี้มักพบร่วมกับความผิดปกติของทารกเป็นภาวะที่มีน้ำคร่ำมากกว่า 95 เปอร์เซ็นไทล์ของปริมาณน้ำคร่ำที่อายุครรภ์นั้น ๆ หรือมากกว่า 1.5-2 ลิตร ในไตรมาสสุดท้าย
สาเหตุหลักเกิดจาก การสร้างมากไปหรือกระบวนการในการกำจัดเสียไป ได้แก่ neural tube defect เป็นความพิการที่พบร่วมกับแฝดน้ำได้บ่อย เกิดจากน้ำไขสันหลังไหลเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ร่วมกับการขาดฮอร์โมนทำให้ทารกปัสสาวะมาก การอักเสบของถุงน้ำคร่ำ ทำให้รกสร้างน้ำคร่ำมากกว่าปกติ การติดเชื้อที่พบบ่อยได้แก่ ซิฟิลิส และ parvo virus สำหรับคุณแม่ที่มีเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็พบแฝดน้ำได้
อาการที่สำคัญคือ คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องโตเร็ว อืดอัด หายใจไม่สะดวก นอนราบไม่ได้ แต่ในคนไข้ที่น้ำคร่ำมากกว่าปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการก็ได้ ส่วนลักษณะที่บอกว่าน่าจะมีภาวะแฝดน้ำ ได้แก่ ขนาดมดลูกโตกว่าอายุครรภ์ คลำส่วนของทารกได้ไม่ชัดเจน ฟังเสียงหัวใจเด็กได้ยาก การตรวจด้วย คลื่นเสียงความถี่สูงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยภาวะแฝดน้ำ ผู้ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความชำนาญสามารถบอกได้ค่อนข้างแม่นยำ
การรายงานนิยมใช้การวัคปริมาณน้ำคร่ำโดยตรงซึ่งทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การหาตำแหน่งที่มีน้ำคร่ำมากที่สุด แล้ววัดในแนวดิ่ง หากปริมาณมากกว่า 10 ซม. ถือว่ามีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ อีกวิธีหนึ่งคือ การวัด amniotic fluid index (AFI) โดยแยกมดลูกออกเป็นสี่ส่วนหา amniotic fluid pocket ที่ใหญ่ที่สุด วัดในแนวดิ่ง แล้วนำน้ำคร่ำที่ได้ทั้งสี่ค่ามารวมกัน ถ้ามากกว่า 95 เปอร์เซ็นไทล์ หรือมากกว่า 180 มล. ถือว่าผิดปกติ เมื่อตรวจพบว่าภาวะแฝดน้ำควรทำอัลตราซาวนด์ เพื่อหาความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของแฝดน้ำ
ที่สำคัญคือ การดูระบบประสาทและไขสันหลัง ระบบทางเดินอาหาร หน้าท้อง การตรวจน้ำคร่ำหรือเลือดจากสายสะดือเด็กเพื่อดูโครโมโซมในกรณีที่ทารกมีความพิการหลายอย่าง ซึ่งแพทย์จะดูแลรักษาโดยการรักษาสาเหตุโดยตรงและการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้การตั้งครรภ์สามารถดำเนินไปได้จนเด็กมีปอดสมบูรณ์ โดยร้อยละ 50 อาจหายได้ ซึ่งการติดตามสุขภาพทารกและน้ำคร่ำโดยการทำอัลตราซาวนด์ทุก 2-3 สัปดาห์ การให้ยาที่มีผลทำให้ปัสสาวะและน้ำจากปอดทารกลดลง ทำให้ปริมาณน้ำคร่ำลดลงได้ หรือการดูน้ำคร่ำออกทางหน้าท้อง ถ้าปริมาณน้ำคร่ำมากจนคุณแม่รู้สึกอืดอัดนอนราบไม่ได้ หายใจไม่สะดวก หรือกลัวว่าจะทำให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดการเจาะหน้าท้องเอาน้ำคร่ำออกสามารถทำให้ลดอาการอย่างรวดเร็ว การเจาะคุณหมอจะเลือกเจาะที่บริเวณกึ่งกลางหน้าท้องต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย ถ้าเอาน้ำคร่ำออกเร็วเกินไปอาจเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้


สาเหตุจากมีการสร้างน้อยกว่าปกติ หรือโรคความดันสูงการมีการไหลเวียนโลหิตผ่านรกลดลง คุณแม่อาจจะมาด้วยความรู้สึกว่ามดลูกไม่โต น้ำหนักไม่ขึ้น การตรวจหน้าท้องพบว่าขนาดมดลูกเล็กกว่าอายุครรภ์ คลำตัวเด็กได้ติดกับผนังหน้าท้อง ไม่พบว่ามีน้ำระหว่างผนังมดลูกกับตัวเด็ก
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นการวินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำน้อยดีที่สุด ในกรณีที่อายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ ถ้า AFI น้อยกว่า 5 เซนติเมตร หรือ amniotic pocket น้อยกว่า 2 เซนติเมตร คุณหมอจะเร่งคลอดแต่ถ้าคาดว่าการคลอดอาจใช้เวลานาน อาจพิจารณาผ่าท้องคลอด
โดยสรุปความผิดปกติของน้ำคร่ำสามารถตรวจพบได้ คุณหมอที่คุณแม่ฝากครรภ์ อาจตรวจคลำจากหน้าท้องหรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ดังนั้นหากคุณแม่ฝากครรภ์ตามที่แพทย์นัดน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของปริมาณน้ำคร่ำได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติของทารกในครรภ์คุณแม่ได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนกันยายน 2552