ถ้า...หัวนมแตก (ดวงใจพ่อแม่)
โดย : มีนะ สพสมัย
(กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย)
ตั้งใจอยากให้นมเจ้าตัวเล็ก แต่ตอนนี้หัวนมแตก จะทำยังไงดีล่ะเนี่ย
หัวนมแตก คือ อาการของหัวนมที่เจ็บแตกมาจากการจัดท่าทางการดูดนมของลูกไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกอมไม่ลึกไปถึงลานนม เวลาดูดแล้วไม่ได้น้ำนมเลยหันมาเคี้ยวหัวนมแทน แถมบางครั้งก็ถูล้างหัวนมจนผิวแห้งแตกเป็นแผล ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่เต้านมอักเสบได้นะคะ
เสริมเกราะป้องกัน...ก่อนหัวนมแตก
- เริ่มต้นให้ถูกต้อง ถ้าลูกอมไม่ถูกจะยิ่งดูดยิ่งเจ็บ ต้องรีบแก้ไขและเริ่มต้นใหม่ โดยอย่าลืมอุ้มเขาเข้ามาชิดตัวแนบกับท้อง
- ไม่ล้างเช็ดทำความสะอาดเต้านมและหัวนมมากเกินไป งดการใช้สบู่หรือครีมทาที่หัวนม
- ระวังอย่าให้เต้านมคัด เพราะอาจเพิ่มโอกาสให้ลูกดูดได้ไม่สะดวกทำให้ท่าดูดผิดไปอีกค่ะ
ถ้าหัวนมเจ็บ หัวนมแตก แต่ยังอยากให้นม
ถ้าคุณยังให้ลูกกินนมได้ เวลาให้ก็เริ่มข้างที่เจ็บน้อยก่อน ซึ่งต้องให้ลูกอมหัวนมให้ได้ลึกๆ ทีนี้หลังจากให้นมเสร็จให้เอาน้ำนมคุณแม่ทาที่หัวนมสักหน่อย แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
หากคุณแม่เจ็บมากจนทนไม่ไหวให้พักเต้านมเปลี่ยนมาเป็นบีบหรือปั้มนมป้อนให้ลูกแทน วิธีนี้จะรักษาการผลิตน้ำนมให้มีอยู่ และสามารถกลับมาให้นมจากเต้าได้อีกเมื่อแผลหายหรือเมื่อหายเจ็บแล้ว
ที่สำคัญอย่าลืมว่าถ้าเต้านมที่ไม่ได้รับการดูดหรือไม่ถูกกระตุ้นก็จะไม่มีน้ำนม หากเจ็บมากจริงๆ การใช้แผ่นบางใส (Nipple shield) เป็นครั้งคราวก็พอได้ แต่อาจทำให้การสร้างน้ำนมลดลงเพราะการกระตุ้นต้องผ่านแผ่นพลาสติกนั้นค่ะ
7 ทิปลดอาการเจ็บหัวนม – หัวนมแตก
1. ให้ลูกดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้อง ควรจำไว้ว่าจมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากของลูกควรแบะออกเหมือนปลา
2. ถ้าเต้านมของคุณแม่คัด ให้บีบน้ำนมออกมานิดหน่อยเพื่อให้เต้านมนิ่มขึ้น
3. เริ่มให้ลูกดูดนมจากข้างที่เจ็บน้อยที่สุดก่อน ถ้าทั้งสองข้างเจ็บเหมือนกัน ให้เอาผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบและนวดเต้านมเบาๆ เพื่อให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา
4. ถ้าจำเป็นให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นทุก 1-2 ชั่วโมง ควรลดเวลาที่ดูดให้สั้นลงเหลือประมาณ 10-15 นาที หรือจนกว่าเต้านมจะนิ่ม
5. อุ้มลูกให้กระชับกับหน้าอกเพื่อไม่ให้เขาดึงหัวนม และอย่าลืมปลดแรงดูดของลูกออกก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปากลูก
6. ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม เพราะการล้างด้วยน้ำเปล่าบ่อยๆ สามารถทำให้ผิวแห้ง
7. หลังจากให้นมลูกทุกครั้ง บีบน้ำนมเหลืองหรือน้ำนมแม่ทาบนลานนมและหัวนมทั้งสองข้าง แต่ถ้าอยากให้ผิวชุ่มชื้น คุณแม่อาจจะใช้ลาโนลิน (ไขมันชนิดหนึ่ง) เล็กน้อยก็พอเพียงแล้ว อย่าใช้สบู่ ครีม หรือน้ำมันนะคะ
หากมีอาการรุนแรงอย่างหัวนมแตกหรือมีเลือดไหล ควรปรึกษาสูติแพทย์ ผดุงครรภ์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องให้ลูกดูดนมต่อ หรือบางครั้งต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อระงับการอักเสบติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เพียงแค่ช่วงสามสี่วันเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็จะกลับเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่ต้องกังวลค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่